ฟอร์ด “ตามรอยเท้าพ่อ” เรียนรู้โครงการหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ฟอร์ด ประเทศไทย จัดทริปพิเศษขับฟอร์ด เรนเจอร์ และ เอเวอเรสต์ เดินทาง “ตามรอยเท้าพ่อ” เยี่ยมชมโครงการหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และร่วมกิจกรรมทำความดีเพื่อคนในชุมชน พร้อมเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพและธรรมชาติอันงดงามของจังหวัดน่าน รวมทั้งพิสูจน์สมรรถนะของเครื่องยนต์และช่วงล่างที่พร้อมลุยไปในทุกอุปสรรค
สำหรับกิจกรรมตามรอยเท้าพ่อของฟอร์ดในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจในจังหวัดน่าน โดยตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พสกนิกรชาวไทยได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระราชาผู้ทรงธรรม หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ห่างไกลด้วยน้ำพระทัยที่ทรงห่วงใยประชาชน ทั้งยังทรงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรของพระองค์ให้ดียิ่งขึ้น เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนจังหวัดน่าน พระองค์ได้ทรงเลือกน่านเป็นจังหวัดนำร่องสำหรับสืบสานโครงการในพระราชดำริ นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่
เริ่มต้นคาราวานจากโรงแรมน่านตรึงใจมุ่งหน้าออกนอกตัวเมืองสู่อนุสรณีย์วีรกรรม และ พิพิธภัณฑ์ทหาร ณ อำเภอทุ่งช้าง เพื่อสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ที่ได้พระราชทานให้กับทหารและชาวน่านเพื่อเป็นมิ่งขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในอดีต
สำหรับ อนุสาวรีย์วีรกรรมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ทุ่งช้าง เป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อสดุดีวีรกรรมของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ได้สละชีวิตร่วมกันต่อสู้เพื่อป้องกันรักษาราชอาณาจักรไทยในเขตอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไว้ได้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 จึงถือเอาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลแก่วีรชน สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ทุ่งช้าง หลักกิโลเมตรที่ 84 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 90 กิโลเมตร มองเห็นได้อย่างชัดเจนเพราะตั้งอยู่บนเนินเขา ตัวอนุสรณีย์เป็นรูปปั้นที่มีพลเรือน ตำรวจ ทหาร กำลังช่วยกันปักธงชาติไทย ที่ด้านข้างมีพิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง จัดแสดงอุปกรณ์สู้รบของทหารและประวัติการสู้รบของทหาร ตำรวจ พลเรือน ในพื้นที่ อ.ทุ่งช้าง
หลังจากนั้น ออกเดินทางไปอุทยานแห่งชาติดอยภูคาซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ทั้งยังเป็น แหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว ลำน้ำว้า ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวจังหวัดน่าน ระหว่างการเดินทางไปดอยภูคา แม้ว่าเส้นทางจะคดเคี้ยวมากมาย แต่ฟอร์ด เรนเจอร์ และ เอเวอเรสต์ ให้การขับที่สะดวกสบายและมีพละกำลังที่เหลือล้น ทำให้การขับขึ้นเขาเป็นไปได้อย่างสบาย รวมทั้งระบบความปลอดภัยต่างๆ ที่มีให้ทำให้รู้สึกปลอดภัยในการขับบนเส้นทางที่คดเคี้ยวและสูงชันได้อย่างง่ายดาย เมื่อขึ้นไปถึงยอดดอยก็จัดแจงขนสัมภาระลงมานอนในเต้นท์ที่ทีมงานฟอร์ดจัดเตรียมเอาไว้ให้ เพื่อซึมซับบรรยากาศความเงียบสงบ และอุณหภูมิที่หนาวเย็นอย่างเต็มที่
เช้าวันใหม่ที่ยอดดอยภูคาได้เพลิดเพลินกับวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ชมเมฆหมอกบนยอดดอย สัมผัสกับอากาศบริสุทธิ์ ก่อนจะออกเดินทางไปโครงการปิดทองหลังพระ บ้านเปียงก่อ ตำบลขุ่นน่าน หนึ่งในโครงการสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ความรู้และฝึกอบรมด้านการพัฒนาพื้นที่ทำกินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการปรับเปลี่ยนจากการถางป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดมาเป็นการทำการเกษตรแบบยั่งยืน
โดยมีแนวทางในการปฏิบัติ 3 ขั้นตอน คือ
- แนวปฏิบัติในการประยุกต์เรื่องการบริหารต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
ต้นน้ำ เป็นแหล่งองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริจะประกอบด้วยความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาโครงการส่วนพระองค์ โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการหลวง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์
กลางน้ำ จะเป็นส่วนที่ปิดทองหลังพระ มีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างต้นน้ำกับปลายน้ำ โดยมุ่งเน้นด้านการจัดการความรู้ การส่งเสริมการพัฒนา และการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือ
ปลายน้ำ จะเป็นการบูรณาการระดับพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด เพื่อนำองค์ความรู้จากโครงการพระราชดำริเชื่อมโยง และปรับใช้ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสมกับภูมิสังคม และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข
- แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ 7 ขั้นตอน
ประยุกต์จากหลักการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา คือ
- การสร้างความเข้าใจกับประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ ภาคีความ ร่วมมือ
- การกำหนดพื้นที่ โดยพิจารณาจากภูมิสังคม และสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายปฏิบัติการพัฒนา
- การถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิ สังคมของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมกลุ่มเป้าหมายก่อนกระบวนการ พัฒนา
- การลงมือปฏิบัติ คือ การที่ชุมชนและภาคีทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหา และพัฒนาโดยเรียนรู้จากโครง การพระราชดำริ และนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับภูมิสังคม ศักยภาพชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนที่เน้นการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จากการลงมือปฏิบัติ เพื่อสรุปบทเรียน ข้อค้นพบและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- การให้คำปรึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นการจัดทีมสนับสนุน ให้คำปรึกษาแก่พื้นที่ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ส่ง เสริมการพัฒนา
- การวัดผล เป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อประเมินผลการดำเนินงานว่า มีผลสำเร็จ หรือมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ อย่าง ไรเพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
3. แนวทางการบูรณาการเชิงพื้นที่
เป็นการเน้นการบริหารจัดการเพื่อนำศักยภาพของพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา และให้ความสำคัญต่อการบูรณาการทุนการพัฒนาด้านต่างๆ ในจังหวัด ทั้งความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนา งบประมาณ และโครงการพระราชดำริ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และตรงกับความต้องการของประชาชน
อีกวันถัดมาเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ นั่นคือ การเดินทางไปที่ว่าการอำเภอเวียงสา หลังเก่า (ชื่อเดิมคืออำเภอสา) ซึ่งปรับสภาพให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ “ม้านั่งไม้ที่ประทับ” เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2501 ทั้งสองพระองค์ประทับม้านั่งไม้ เพื่อโปรดเกล้าให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มาเฝ้ารับเสด็จ ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานที่ว่าการอำเภอสา ก่อนจะเสด็จฯออกให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ ที่บริเวณหน้ามุขที่ว่าการอำเภอ โดยหน้ามุขนี้เป็นจุดที่ทั้งสองพระองค์เคยประทับยืน…ถือเป็นบุญที่ได้ “เดินตามรอยเท้าพ่อ” จริงๆ
จากนั้นจึงเดินทางไปทำความดีและสมทบทุนเพื่อสร้างห้องสมุด พร้อมมอบหนังสือเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ รวมไปถึงส่งมอบนิทานและวีดิทัศน์เกี่ยวกับคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ให้กับโรงเรียนริมฝั่งว้าวิทยา เป็นการปิดท้ายทริปที่น่าประทับใจและน่าจดจำในครั้งนี้
นางสาวศุภรางศุ์ อนุชปรีดา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทย
และตลอดการเดินทางไปในที่ต่างๆ ทำให้รู้สึกถึงความยากลำบากในการเดินทางเมื่อครั้งอดีต แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ทรงเดินทางไปในทุกถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและทุกชาติพันธุ์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการเดินทาง “ตามรอยเท้าพ่อ” ในครั้งนี้ จะอยู่ในความทรงจำและเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตต่อไปตราบนานเท่านาน..
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th