ทำไมบางประเทศมีกฏหมายควบคุมความเข้มของฟิล์มกรองแสงรถยนต์
จากสภาพอากาศที่ร้อน และแสงแดดที่แรงเกือบตลอดทั้งปีในบ้านเรา ทำให้หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่ผู้ซื้อรถใหม่มักทำคือการติด ฟิล์มกรองแสงรถยนต์ เพราะไม่อย่างนั้นนอกจากระบบปรับอากาศของรถอาจสู้ความร้อนของอากาศไม่ไหวแล้ว แขนยังอาจไหม้ได้หากขับรถตอนกลางวัน ซึ่งเป็นโชคดีของผู้ใช้รถยนต์ในบ้านเราที่ปัจจุบันกฎหมายไม่ได้กำหนดความเข้มของฟิล์มกรองแสงไว้ จะยกเว้นก็แต่ฟิล์มปรอท ที่ฉาบโลหะซึ่งทำให้เกิดการสะท้อนแสงที่มาก
ซึ่งผิดกฏหมาย พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ที่ระบุว่ารถใดที่จดทะเบียนแล้วปรากฏภายหลังว่ารถนั้นมีส่วนควบหรือหรือส่วนอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฏกระทรวง หรือเพิ่มสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือผู้อื่น ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถนั้นจนกว่าจะจัดให้มีครบถ้วนถูกต้องหรือเอาออกแล้ว ซึ่งฟิล์มปรอทจะเข้าข่ายนี้เพราะสามารถสะท้อนแสงจนแยงตาผู้ใช้รถคันอื่นได้ จึงทำให้ผู้ใช้รถสามารถเลือกระดับความเข้มของฟิล์มกรองแสงได้ตราบเท่าที่ยังคงไม่รู้สึกว่าสร้างปัญหาในการมองเห็นของตนเองขณะขับรถ และไม่ใช้ฟิล์มปรอท
ที่ว่าเป็นโชคดีของผู้ขับรถในบ้านเราที่ไม่มีกฏหมายกำหนดความเข้มของฟิล์มกรองแสง เพราะในหลายๆ ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ กันอย่างมาเลเซียไม่ได้ให้อิสระในเรื่องฟิล์มกรองแสงอย่างในบ้านเรา แต่มีกฏหมายความควบคุมความเข้มของฟิล์มทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังของรถ
กฏหมายควบคุมความเข้มฟิล์มกรองแสงในบางประเทศ
ในสหรัฐอเมริกามีกฏหมายที่แตกต่างกันในเรื่องความเข้มของฟิล์มกรองแสงหรือค่าแสงที่ส่องผ่านได้ (Visible Light Transmission) ของฟิล์มกรองแสงในแต่ละรัฐ อย่างรัฐอลาบามากำหนดความเข้มของฟิล์มกรองแสงของทั้งกระจกข้างของเบาะหน้า หลัง รวมทั้งกระจกหลังไว้ว่าต้องมีแสงผ่านไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กระจกหน้ารถสามารถติดฟิล์มทึบที่ไม่มีแสงผ่านได้โดยมีความกว้างไม่เกิน 6 นิ้วจากขอบบนของกระจก ในขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดให้ฟิล์มกระจกข้างรถของเบาะหน้าต้องมีแสงผ่านไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่กำหนดความเข้มของฟิล์มที่กระจกข้างของเบาะหลังและกระจกหลัง เช่นเดียวกับกระจกหน้าที่ไม่กำหนดความเข้มแต่ฟิล์มต้องมีพื้นที่กว้างจากขอบบนไม่เกิน 4 นิ้ว ส่วนรัฐมินเนโซต้ากำหนดความเข้มของฟิล์มทั้งกระจกที่เบาะหน้า เบาะหลัง รวมทั้งกระจกหลังไว้ว่าต้องให้แสงผ่านไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่อนุญาติให้ติดฟิล์มบนกระจกหน้า
สำหรับสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นอีกประเทศที่มีกฎหมายกำหนดความเข้มของฟิล์มกรองแสงรถยนต์ แยกใช้กฏหมายที่แตกต่างกันระหว่างรถเก่าและรถใหม่ โดยรถที่จดทะเบียนก่อนเดือนเมษายนปี 1985 กระจกหน้ารถและกระจกข้างของเบาะหน้าต้องให้แสงผ่านได้ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรถที่จดทะเบียนหลังเมษายน 1985 ฟิล์มที่กระจกหน้าและกระจกข้างของเบาะหน้าต้องให้แสงผ่านได้ไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีการกำหนดความเข้มของฟิล์มที่ติดบนกระจกข้างของเบาะหลัง รวมทั้งกระจกหลัง
ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีกฏหมายกำหนดว่าห้ามติดฟิล์มที่กระจกหน้ารวมทั้งกระจกข้างของเบาะหน้า ในขณะที่กระจกข้างเบาะหลังและกระจกหลังไม่มีระบุความเข้มของฟิล์มไว้
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียเพิ่งมีการปรับกฏหมายเกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงไปเมื่อปีที่แล้ว โดยกำหนดความเข้มของฟิล์มว่าที่กระจกหน้าต้องให้แสงผ่านได้ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แสงผ่านได้ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่กระจกข้างเบาะหน้า และไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ทั้งที่กระจกข้างเบาะหลังและกระจกหลัง
ทำไมต้องกำหนดความเข้มของฟิล์ม
เนื่องจากในบ้านเราไม่กำหนดความเข้มของฟิล์มกรองแสงรถยนต์ จึงทำให้ไม่เกิดคำถามในสังคมหรือตามโซเชียลมีเดียต่างๆ จากผู้ที่อยากติดฟิล์มเข้มว่าทำไมต้องกำหนดความเข้มของฟิล์มกรองแสง แต่ลองมาดูเหตุผลที่หลายประเทศควบคุมความเข้มของฟิล์มกรองแสงกัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็เพื่อความปลอดภัยทั้งแก่ตัวผู้ขับรถเองและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นจึงทำให้มีการใช้กฏหมายจริงและจับจริงสำหรับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย
-เหตุผลแรกที่มักถูกใช้ก็คือกฎหมายถูกออกมาเพื่อให้ความแน่ใจว่าผู้ขับรถจะยังคงมีความสามารถในการมองเห็นที่ดีเมื่อขับรถตอนกลางคืนหรือในสถานการณ์ที่สภาพแสงสว่างไม่ดีอย่างในอุโมงค์
-การกำหนดความเข้มของฟิล์มรถยนต์ยังมีเพื่อให้ผู้ขับรถสามารถมองเห็นคนเดินถนนรวมทั้งรถคันอื่นได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลเพื่อความปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นรวมทั้งผู้ขับรถเองด้วย
-เพื่อป้องกันการลักพาตัว หรือการปล้นจี้ที่อาจเกิดขึ้นในรถยนต์ที่ติดฟิล์มเข้มจนไม่สามารถมองเห็นภายในรถยนต์ได้
-ป้องกันการหลบเลี่ยงจากกล้องวงจรปิดของผู้ขับรถเมื่อมีการทำผิดกฏหมาย อย่างการฝ่าสัญญาณไฟแดง หรือขับรถเร็วเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด ฟิล์มกรองแสงรถยนต์
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th