มองจุดเด่น สะกิดจุดด้อย All New Haval Jolion Hybrid SUV พี่เค้าไม่ได้มาเล่นๆ!!
หนึ่งในรถกลุ่มไฮบริด เอสยูวี ที่กระแสแรงที่สุดตอนนี้ หนีไม่พ้น “All New Haval Jolion Hybrid SUV” จาก เกรท วอลล์ มอเตอร์ อย่างแน่นอน เพราะด้วยสไตล์การสื่อสารและการทำตลาดที่แปลกใหม่ สร้างกระแสได้ดีในโลกโซเชียล แล้วประเด็นสำคัญคือ ตัวของโปรดักส์หรือตัวรถที่ผลิตออกมา ทำออกมาได้น่าสนใจ น่าเป็นเจ้าของ ในราคาที่สู้กับคู่แข่งได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการเปิดตัว Haval H6 Hybrid SUV ตามมาด้วย ORA Good Cat รถไฟฟ้าที่ขับได้สูงสุด 500 กิโลเมตร ต่อด้วย All New Haval Jolion Hybrid SUV น้องใหม่ล่าสุดนี้ แล้วอนาคตแว่วๆ มาว่าจะมีรถในกลุ่ม Plug-In Hybrid มาเสริมทัพอีก 1 รุ่นอีกด้วย นี่แค่ปีแรกที่ทำตลาดกันยังเปิดตัวมาถึง 4 รุ่น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยน่าสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ส่วน All New Haval Jolion Hybrid SUV หรือ เจ้าสิงโต Enjoy รุ่นนี้ มีจุดเด่นหลายอย่างที่น่าสนใจ และในเวลาเดียวกันก็มีจุดด้อยที่ทำให้ตะขิดตะขวงใจอยู่นิดหน่อย ส่วนจะมีอะไรบ้างมาติดตามกันเป็นเรื่องๆ กันไป
เริ่มต้นกันที่จุดเด่นกันก่อน..ว่าด้วยเรื่องของงานออกแบบภายนอก จุดนี้ถือว่าสดใหม่ แปลกไปจากดีไซน์ที่เคยเห็นในรถที่ขายอยู่ในไทย แม้ว่าเรื่องของความชอบด้านการออกแบบจะเป็นความชอบเฉพาะบุคคล แต่ถ้ามองการออกแบบในตอนนี้ทั้งหมดในกลุ่มไฮบริด เอสยูวี ไฟหน้า ไฟท้ายแบบ LED พร้อม Daytime Running Light ที่สลับเป็นไฟเลี้ยวในตัว จุดนี้ทำให้ไฟเลี้ยวมีขนาดที่ใหญ่มาก ทำมาได้ว้าวเลยล่ะ ถือว่ามีหน้าตาที่โดดเด่นรอบคัน มีขนาดตัวถังที่เล็กกว่ารุ่นพี่อย่าง H6 อยู่นิดหน่อย แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด ตามนี้
รุ่น | กว้างxยาวxสูง (มม.) | ฐานล้อ (มม.) |
Haval Jolion | 4,472 x 1,841 x 1,619 | 2,700 |
Hoda HR-V | 4,385 x 1,790 x 1,590 | 2,610 |
Toyota Corolla Cross | 4,460 x 1,825 x 1,620 | 2,640 |
Mazda CX-30 | 4,395 x 1,795 x 1,540 | 2,655 |
Nissan Kicks | 4,384 x 1,813 x 1,656 | 2,673 |
Peugeot 2008 | 4,300 x 1,770 x 1,530 | 2,650 |
อ่านข่าวเพิ่มเติมงานเปิดตัวได้ที่ https://bit.ly/3nM939T
นั่นทำให้การออกแบบภายในห้องโดยสารที่เน้นเบาะนั่งที่ใหญ่ นั่งสบาย ฟองน้ำนุ่มพอดี ทั้งตอนหน้าและตอนหลัง ขับทางไกลไม่เมื่อยก้น เสริมด้วยหลังคาซันรูปแบบพาโนรามิค ทำให้ห้องโดยสารดูโปร่งโล่งมากขึ้นด้วยนั่นเอง ยิ่งถ้าเป็นรุ่น Ultra ที่เน้นการใช้สีภายในแบบทูโทนยิ่งทำให้รถดูกว้างขึ้นอีกด้วย ถือว่าในส่วนของการออกแบบภายนอกให้ 9/10 ส่วนภายในห้องโดยสารให้ 10/10 กันเลย อ้อ..ที่เท้าแขนกลางที่เบาะหลังยังออกแบบมาให้พักแขนได้พอดีอีกด้วย จุดนี้ค่ายอื่นที่มีที่เท้าแขนกลางเบาะหลังควรทำเป็นอย่างยิ่ง
มากันต่อที่ขุมพลัง ของ All New Haval Jolion Hybrid SUV ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าพละกำลังรวมสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดรวมสูงสุด 375 นิวตันเมตร ระบบเกียร์แบบ DHT ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับระบบการขับเคลื่อนที่หลากหลายของรถยนต์ไฮบริด มีอัตราสิ้นเปลืองตามสเปคเฉลี่ย 23.8 กิโลเมตรต่อลิตร ทดสอบตามมาตรฐาน UN R101 ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจากการทดสอบขับจากเมืองทองธานีไปยังบางแสน จ.ชลบุรี ถือว่าใช้พลังงานและอัตราเร่งแบบเต็มที่ ทำได้ดีไม่แพ้ไฮบริดค่ายอื่น อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ทำได้ราว 10 วินาที (นั่ง 2 คน) อัตราเร่งในช่วงออกตัวถือว่าไม่ต่างจากในกลุ่มเดียวกันสักเท่าไหร่ ไม่ได้หวือหวา แต่เมื่อทำความเร็วในช่วง 80-100 กม./ชม. จะเป็นความเร็วที่รอบเครื่องทำงานได้จัดจ้านที่สุด เร่งแซงได้ทันใจ ติดอยู่นิดเดียวที่มีการล็อคความเร็วสูงสุดเอาไว้ที่ 150 กม./ชม. (ขับได้จริงตามมาตรวัดความเร็วอยู่ที่ 158 กม./ชม.) ด้วยเหตุผลที่ว่ากลุ่มลูกค้าหลักพอใจกับความเร็วในระดับนี้ จากการใช้งานจริงโดยรวมเห็นด้วยและน่าจะโดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แต่ยังอยากให้ปลดล็อคให้ขยับไปที่ 170 กม./ชม. เผื่อเอาไว้หน่อยสำหรับเร่งแซงต่อเนื่อง เพราะเครื่องยนต์ยังให้อัตราเร่งไหลยังไปได้อีกมาก จุดนี้ทำให้รู้สึกว่าขัดใจนิดหน่อย เรื่องขุมพลังไฮบริดนี้ถือว่าตอบโจทย์ตามกลุ่มเป้าหมาย แต่ขัดใจคนทดสอบอยู่นิดหน่อย ให้ 8/10
ระบบช่วงล่าง ให้ความกระชับ นุ่มหนึบ ไม่ได้นุ่มนวลมาก มีความแข็งเล็กน้อยไม่ถึงกระด้าง โดยช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม พร้อมเหล็กกันโคลง เช่นเดียวกับรุ่นพี่ H6 แต่ด้วยขนาดตัวถังที่เล็กกว่าและมีการวางแบตเตอรี่ไฮบริดเอาไว้ด้านท้ายรถ จึงทำให้ต้องเซ็ตช่วงล่างให้มีความแข็งมากขึ้น ช่วยให้การทรงตัวที่เหมาะสม ท้ายไม่ย้วย แต่แอบหน้าดื้อเล็กน้อย ในตอนที่ทดสอบในสถานที่ปิด จุดนี้ให้ 8/10
พวงมาลัยยกมาจาก H6 เหมือนกันเป๊ะ น้ำหนักพวงมาลัยเท่ากัน สามารถปรับโหมดได้ 3 โหมด คือ สบาย, มาตรฐาน และ สปอร์ต ถ้าขับในเขตเมืองต้องการความคล่องตัว การปรับไปใช้ในโหมดสบายและมาตรฐานถือว่า น้ำหนักพวงมาลัยเบาและคล่องตัวมาก ส่วนถ้าใช้งานในโหมดสปอร์ตก็ถือว่าไม่ได้หนักมาก แต่จะให้ความกระชับมากกว่า ส่วนตัวชอบตั้งเป็นโหมดสปอร์ตในการใช้งานมากกว่าเพราะรู้สึกว่ามีน้ำหนักที่กำลังดี ตรงนี้แล้วแต่คนชอบ ในภาพรวมของน้ำหนักพวงมาลัยขอให้ 8/10
การเชื่อมต่อของหน้าจอทั้ง 3 มีหน้าจอกลางอัจฉริยะแบบ Touch Screen Audio Display ความละเอียดสูง ขนาด 12.3 นิ้ว รองรับ Apple carplay, MP3, Joox และNavigator บอกตำแหน่ง Point of Interest ทั้งร้านอาหาร ปั๊ม และ ห้างสรรพสินค้า, Multi Information Display ความละเอียดสูง ขนาด 7 นิ้ว และหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่บนกระจกบังลมหน้า Head-up Display ต้องบอกตามตรงว่ารถที่นำมาทดสอบยังสดมากๆ เลขไมล์ราวๆ 1,000 กม. และซอฟต์แวร์ยังต้องมีการอัพเดท นั่นทำให้การทัชสกรีนที่หน้าจอกลางมีอาการหน่วงอยู่นิดหน่อย แต่ภาพที่เห็นมีความคม สด และมีความสว่างที่มองเห็นได้ชัดเจน ในเวลาที่เปิดกล้องรอบคัน 360 องศา สามารถเลือกมุมกล้องได้รอบคันหลายมุม เห็นยังงงว่าเลือกมุมได้เยอะขนาดนั้น แถมยังแสดงผลภาพได้คมจัดจริงๆ ส่วนหน้าจอ Multi Information Display และจอแสดงผล Head-Up Display ทำได้ดีตามมาตรฐาน ขอยกให้หน้าจอกลางอัจฉริยะแบบ Touch Screen Audio Display เป็นหน้าจดที่คมและสดที่สุดในกลุ่ม ให้ไป 10/10
ระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่และระบบความปลอดภัย ให้มาแบบเต็มเหนี่ยวไม่ว่าจะเป็น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC), การเข้าโค้งอัจฉริยะ, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (TJA), ช่วยจอดรถอัจฉริยะ 3 รูปแบบ (IIP), กล้องแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา, ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติบนทางตรงและทางแยก (AEBI), ระบบช่วยเตือนและเบรกเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTB), ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง (WDS), ระบบช่วยลงทางลาดชัน (HDC) และ ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน (HSA), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA), ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW), ระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LCK), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนในภาวะฉุกเฉิน (ELK), ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา (BSD), ระบบช่วยเตือนการเปิดประตู (DOW), ระบบตรวจความดันลมยาง (TPMS), ระบบช่วยเตือนความเมื่อยล้าขณะขับขี่ (DFM) ถ้าศึกษาคู่มือการทำงานให้เข้าใจแล้ว ถือว่าทำงานได้อย่างรวดเร็วและช่วยเหลือในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าเส้นแบ่งเลนบางช่วงจะไม่ค่อยชัดเจน แต่เซ็นเซอร์ยังสามารถจับได้ การเตือนต่างๆ ทำได้รวดเร็ว การเข้าโค้งอัจฉริยะทำได้แม่นยำไม่แพ้รถจากค่ายยุโรป ระบบมาแบบจัดเต็มขนาดนี้ 10/10 ไปเลย
มากันที่ ฟังก์ชั่นอัจฉริยะ (Intelligent Functions) สามารถอัพเกรดเฟิร์มแวร์ผ่านระบบออนไลน์อัจฉริยะ (FOTA) ที่สามารถอัพเกรดเฟิร์มแวร์สำหรับการควบคุมระบบขับเคลื่อน ระบบส่งกำลัง ระบบการขับขี่อัจฉริยะต่างๆ รวมถึงระบบ Infotainment และระบบควบคุมอื่นๆ ภายในรถยนต์ได้ง่ายด้วยตัวเอง, การสั่งงานด้วยเสียงอัจฉริยะ (voice command) มีความสามารถในการจดจำเสียงได้เป็นอย่างดี ลดการใช้งานจากการกดปุ่ม เพิ่มความสะดวกสบาย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่สามารถสั่งการและโต้ตอบด้วยเสียงเพื่อใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ รวมไปถึงการเข้าถึงระบบเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ภายในรถได้ และ การสั่งการและควบคุมรถผ่าน GWM APP ระบบที่จะช่วยให้สามารถควบคุมฟังก์ชั่นของรถยนต์ได้ แม้ผู้ขับขี่จะอยู่ในระยะที่ไกลจากตัวรถ เช่น การควบคุมระบบปรับอากาศ การล็อคประตู การค้นหารถยนต์ การปิดหน้าต่าง การควบคุมระบบการระบายความร้อนของเบาะ การแสดงตำแหน่งรถยนต์ การกำหนดรัศมีการใช้งานรถ และการแสดงผลการตั้งค่าต่างๆ ของรถ..ฟังก์ชั่นนี้ถือว่าดีงาม เป็นจุดเด่นที่ควรจะมีในรถยุคใหม่ แต่การสั่งงานด้วยเสียงยังต้องให้ผู้ขับพูดคุยกับรถบ่อยๆ เพื่อให้จดจำเสียง ในแง่ของระบบและการใช้งานโดยรวม 8/10
มากันที่จุดด้อยที่ทำให้รู้สึกขัดใจกันบ้าง แต่ไม่ใช่จุดด้อยที่ทำให้รถดูแย่นะ เป็นการทำงานที่ถ้ามีการปรับปรุงจะทำให้ All New HAVAL Jolion Hybrid SUV สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น…อย่างแรกที่วุ่นวายที่สุดคือ การสั่งงานด้วยเสียงอัจฉริยะ ถือว่าทำงานได้แม่นยำ แต่ควรจะให้มีโหมดเลือกเปิดหรือปิดการทำงานได้ เพราะในการพูดคุยกันในรถโดยที่ไม่ได้ตั้งใจสั่งการด้วยเสียง แต่กลับมี key word ที่ตรงกับในระบบ อย่างคำว่า “บ้าน” พอพูดคำว่า “บ้าน” ระบบจะส่งเสียงทักขึ้นมาทันที แล้วถามว่าจะให้นำทางกลับบ้านหรือไม่ หรือจะให้ตั้งค่าจุดหมายปลายทางที่ไหน รวมทั้งคำพูดอื่นๆ ที่พูดกันก็กลายเป็นเชิญชวนให้ระบบเข้ามามีส่วนร่วมแบบที่ไม่ต้องการ จุดนี้ทำให้รำคาญมากไปหน่อย ด้วยตัวระบบ ความแม่นยำ ถือว่าทำได้ดี แต่อยากให้สามารถเปิดหรือปิดการทำงานได้จะดีมาก..บางครั้งทำให้รำคาญใจจริงๆ
การปรับโหมดการขับขี่ ที่มีให้เลือก 4 โหมด คือ มาตรฐาน, Sport, ECO และ สภาพถนนลื่น การเปลี่ยนโหมดจำเป็นต้องเข้าไปเปลี่ยนที่หน้าจอกลางอัจฉริยะ แม้ว่าจะสามารถ Custom ให้เป็นเมนูที่ใช้งานบ่อยได้ แต่จำเป็นต้องเข้าไปปรับผ่านหน้าจอ ซึ่งในการขับใช้งานจริง การละมือซ้ายเพื่อมาแตะเปลี่ยนโหมดดูจะไม่ค่อยสะดวกนัก ถ้าเพิ่มปุ่มปรับโหมดเอาไว้บริเวณข้างคันเกียร์จะดีขึ้นไม่น้อยเลย และจะใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
เข็มขัดนิรภัยไม่สามารถปรับระดับได้ จุดนี้น่าเสียดายจริงๆ หลายอย่างทำมาดีแล้ว แต่จุดนี้ทำให้เสียคะแนนไปเล็กน้อย
การพับเบาะ เบาะหลังสามารถพับได้แบบ 60:40 แต่การพับลงแล้วจะไม่ได้พื้นที่ราบเรียบเสมอกัน ถ้าออกแบบให้พับแล้วเรียบเสมอกันจะได้ใจสายแคมป์ได้อีก ถึงจะมีเบาะลมปูนอนอยู่แล้ว แต่การพับเบาะได้ราบเรียบจะเป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจได้อีกส่วนหนึ่ง
โดยสรุปกับเจ้าสิงโต Enjoy All New HAVAL Jolion Hybrid SUV เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากในกลุ่มไฮบริด เอสยูวี เพราะด้วยการทำการบ้านในด้านการออกแบบ ขุมพลัง เทคโนโลยี ระบบช่วงเหลือต่างๆ และบางจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้าใจความต้องการของคนใช้รถ มีสมรรถนะที่เทียบเท่ารถรุ่นอื่นในกลุ่ม ไม่ได้แพ้กันเลย ให้การขับขี่ที่สนุกและมั่นใจ มีระบบความปลอดภัยครบเท่าที่ควรจะมี เหลือเพียงแค่ราคาเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของไฮบริด เอสยูวี ค่ายอื่นๆ ในภาพรวมทั้งหมดให้ 8/10 กับการควรค่าต่อการเป็นเจ้าของรถในกลุ่มไฮบริด เอสยูวี ตอนนี้
สำหรับ All New HAVAL JOLION Hybrid SUV เตรียมเปิดตัวและประกาศราคาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ โดยจะมีด้วยกันทั้งหมด 3 รุ่น คือ รุ่น TECH สีรถภายใน : สีดำ (เบาะผ้า), รุ่น PRO สีรถภายใน : สีดำ (เบาะหนังสังเคราะห์) และ รุ่น ULTRA สีรถภายใน : สีดำ / เทา (เบาะหนังสังเคราะห์ ) มีสีรถภายนอกให้เลือก 5 สี คือ สีแดง (Burgundy Red) สีน้ำเงิน (Swarovski Blue) สีเทา (Ayers Gray) สีดำ (Sun Black) และสีขาว (Hamilton White)…แถมมีข่าวแว่วๆ มาว่ารุ่นท๊อปคือรุ่น Ultra จะมีราคาไม่ถึงล้าน (อีกแล้ว) จะชัวร์หรือมั่วนิ่ม คืนวันที่ 25 นี้ได้รู้กันแน่นอน
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th