มาสด้าตอบรับแนวคิดรัฐบาล ลงทุนในภูมิภาค สร้างมาตรฐานการผลิตที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของโลก
กระแสตอบรับของผู้บริโภคต่อรถยนต์มาสด้ายังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายเดือนพฤษภาคมพุ่งสูงสุดถึง 5,881 คัน เติบโต 48% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และยอดขายสะสม 5 เดือน พุ่งทะยานแตะ 26,886 คัน เพิ่มขึ้น 36% สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยนั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี จีดีพีเพิ่มขึ้นถึง 4.8% สูงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งเกิดจากปัจจัยบวกหลายด้าน ทั้งด้านการลงทุน อุตสาหกรรม กำลังการผลิต การส่งออก รวมถึงด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ นักลงทุนจากทั่วโลกต่างให้ความสนใจในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตอบรับการยกระดับพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย
มาสด้าอยู่ในสมรภูมิวงการรถยนต์มาอย่างยาวนาน เจอความท้าทายและอุปสรรคมากมายในหลากหลายรูปแบบ แต่มาสด้ายังคงยืนหยัดในเรื่องของการสร้างสรรค์รถยนต์ที่มีคุณค่าในการขับขี่ และการเป็นเจ้าของด้วยความภาคภูมิใจ มาสด้าได้คิดออกนอกกรอบจากการผลิตรถยนต์แบบเดิมๆ จนได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย คือเทคโนโลยีสกายแอคทีฟ ที่ทั้งขับสนุก ประหยัดน้ำมัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้ทั่วโลก และผู้ใช้ในประเทศไทย ทั้งนี้ทางมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดในประเทศไทย จึงได้ลงทุนเพื่อสร้างโรงงานที่มีความทันสมัยในประเทศ ทั้งยังเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเพื่อเปิดโรงงานแห่งใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้เรามีฐานการผลิตรถยนต์ที่สมบูรณ์แบบและทันสมัยที่สุด ทั้งโรงงานประกอบรถยนต์ (AAT) และโรงงานผลิตเครื่องยนต์สกายแอคทีฟ และเกียร์อัตโนมัติ (MPMT) รวมถึงการถ่ายทอดโนฮาวของการผลิตและการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาบุคลากรและผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศอย่างครบวงจร ถือเป็นการพัฒนาบุคลากรไทย และเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย
จากกระแสความนิยมชมชอบรถยนต์มาสด้า ทำให้ยอดขายในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นถึง 48% โดยเฉพาะมาสด้า2 ยังคงรั้งเบอร์หนึ่งรถยนต์นั่งขนาดเล็กและเป็นรถที่ขายดีตลอดกาลของมาสด้า กวาดยอดขายไปอย่างท่วมท้น 3,898 คัน โตขึ้น 57% ตามาด้วยรถอเนกประสงค์เอสยูวี CX-5 จำนวน 763 คัน เพิ่มขึ้น 151% รถยนต์นั่งมาสด้า3 จำนวน 433 คัน ลดลงเล็กน้อย 7% รถยนต์ CX-3 จำนวน 206 คันลดลง 41% รถปิกอัพมาสด้า บีที-50 โปร จำนวน 577 คัน เพิ่มขึ้น 65% และมาสด้า MX-5 จำนวน 4 คัน ส่งผลให้ยอดขายรถมาสด้าทั้งหมดในเดือนพฤษภาคมปิดตัวเลขอยู่ที่ 5,881 คัน
ส่งผลให้ยอดขายรวม 5 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม – พฤษภาคม) มียอดขายสะสมสูงถึง 26,886 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 36% (เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560) โดยเฉพาะมาสด้า2 ยังครองแชมป์ยอดขายสูงสุดถึง 16,979 คัน เติบโต 45% ถัดมาเป็นรถอเนกประสงค์เอสยูวีมาสด้า CX-5 จำนวน 3,834 เติบโตสูงสุดถึง 179% ตามมาด้วยรถปิกอัพมาสด้า บีที-50 โปร จำนวน 2,642 เพิ่มขึ้น 2% รถยนต์นั่งมาสด้า3 จำนวน 2,099 คัน ลดลงเล็กน้อย 7% และมาสด้า CX-3 จำนวน 1,321 ลดลง 24% และรถสปอร์ตเปิดประทุนมาสด้า MX-5 จำนวน 11 คัน
นายชาญชัย ตระการอุดมสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า มาสด้ามุ่งมั่นและใส่ใจในเรื่องของการผลิตเพื่อให้ได้รถยนต์ที่มีคุณภาพสูง อันเกิดมาจากการค้นคว้าและวิจัยทำให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นตามลำดับ มาสด้าเริ่มต้นจากสิ่งที่เราคิดไม่เหมือนคนอื่น เรากล้าที่จะแตกต่าง (Defy Convention) เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเป้าหมายที่ดีขั้น ใส่ใจในทุกรายละเอียด นอกจากนี้รถต้องสวย ดึงดูดทุกสายตาเนื่องจากรถมาสด้าที่ขายจริงในตลาด มีดีไซน์ที่ใกล้เคียงรถต้นแบบมากที่สุด ทำให้รถมาสด้าได้รับการยอมรับว่าเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นเรื่องของดีไซน์ มาสด้าคิดต่างด้วยแนวคิด Customer Centric ทำความเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างละเอียด การผลิตที่ปรับจากการผลิตเพื่อเน้นในเรื่องปริมาณและการบริหารต้นทุนสู่การผลิตเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง การพัฒนาการทำงานที่เชื่อมโยงทั้งระบบ ทั้งการผลิต การจัดส่ง การจัดสรร การสั่งซื้อ การบริหารสต๊อคที่รวดเร็ว รวมถึงเครือข่ายผู้จำหน่ายเพื่อให้ถึงมือลูกค้าอย่างสมบูรณ์แบบทั้งเรื่องของเวลาและคุณภาพ
ทางด้าน นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเรื่องของดิจิตอลนั้นมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เนื่องจากสามารถเข้าได้ถึงทุกความต้องการ ซึ่งดิจิตอลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ทางด้านการตลาด และการสื่อสารนั้นแพร่ขยายไปได้ไกลและเชื่อมโยงคนทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อให้มีความสอดคล้องในการใช้งานในแต่ละประเทศ ดังนั้นเราจึงวางกลยุทธ์ Mazda Building Block Strategy โดยเน้นการวางทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตแบบเป็นขั้นตอน มี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ เรื่องกรอบเวลาของการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสม, การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจของผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับและสอดคล้องกัน เพื่อความพร้อมกับการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา และการเปลี่ยนถ่ายจากเทคโนโลยีปัจจุบันสู่เทคโนโลยีอนาคตที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์มาสด้าประจำเดือนพฤษภาคม 2561 เปรียบเทียบกับปี 2560
ข้อมูลการขายรถ | พ.ค. 2561 | พ.ค. 2560 | % เปลี่ยนแปลง |
มาสด้า2 | 3,898 | 2,490 | + 57 |
มาสด้า3 | 433 | 466 | – 7 |
มาสด้า CX-3 | 206 | 351 | – 41 |
มาสด้า CX-5 | 763 | 304 | + 151 |
มาสด้า BT-50 โปร | 577 | 349 | + 65 |
มาสด้า MX-5 | 4 | 4 | n/a |
ยอดรวม | 5,881 | 3,964 | + 48 |
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์มาสด้าประจำเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม 2561 เปรียบเทียบกับปี 2560
ข้อมูลการขายรถ | ม.ค.– พ.ค. 2561 | ม.ค. – พ.ค. 2560 | % เปลี่ยนแปลง |
มาสด้า2 | 16,979 | 11,732 | + 45 |
มาสด้า3 | 2,099 | 2,269 | – 7 |
มาสด้า CX-3 | 1,321 | 1,748 | – 24 |
มาสด้า CX-5 | 3,834 | 1,376 | + 179 |
มาสด้า BT-50 โปร | 2,642 | 2,595 | + 2 |
มาสด้า MX-5 | 11 | 9 | + 22 |
ยอดรวม | 26,886 | 19,729 | + 36 |
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th