มาสด้า “เชื่อมโยงเศรษฐกิจ” เวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า 2,900 กิโลเมตร
ในวงการนี้ไม่มีค่ายไหนที่เอารถตัวเองแบบครบไลน์ไปบุกตะลุยเส้นทางกันขนาดนี้อีกแล้ว ซึ่งปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้ร่วมเดินทางจากเมืองฮานอยถึงเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม พูดได้ว่าขับรถจากเหนือจรดใต้ และครั้งนี้ “มาสด้า” จัดหนักอีกครั้ง ด้วยเส้นทางที่เชื่อมโยงอารยธรรมและเชื่อมโยงเศรษฐกิจ นำสื่อมวลชนได้เข้าไปเห็นของจริงว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร และนี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การขับรถ แต่มันคือการวัดใจกับสมรรถนะควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่ไม่ได้มีอยู่ในตำรา เพราะทุกก้าว คือ การพัฒนา เพราะมาสด้ากล้า..ที่จะต่าง
รับไม้ต่อจากกลุ่มแรกที่ขับจากเวียดนาม-ลาว-ไทย
สำหรับ คาราวาน MAZDA DNA SKYACTIV CARAVAN ครั้งนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์พิเศษบนเส้นทาง EAST – WEST ECONOMIC CORRIDOR จากเวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า เชื่อมโยงอารยธรรม เชื่อมโยงเศรษฐกิจจากมหาสมุทรแปซิฟิกสู่มหาสมุทรอินเดีย รวมระยะทางกว่า 2,900 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางครั้งนี้มาสด้า ไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตในประเทศไทยเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่สำคัญต่อการลงทุนอีกด้วย
เริ่มคาราวานกลุ่มที่สองจากพิษณุโลกสู่เมืองย่างกุ้ง
หากมองที่ตัวเลขประชากรประมาณ 600 ล้านคน จากตัวเลขการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมรถยนต์ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งทางมาสด้าประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าที่สำคัญไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั้งอาเซียนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน และหากทุกประเทศในอาเซียนจับมือร่วมกัน ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น เมื่อนั้นจะเป็นการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่อง
ขณะจอดพักรถในเขตรัฐกะเหรี่ยง ฝนฟ้าครึ้มสลับแดดแรงๆ ตลอดทั้งวัน
สำหรับการเดินทางของฝูงสกายแอคทีฟนับ 10 คัน ยกทัพครบรุ่น ไม่ว่าจะเป็น มาสด้า3, มาสด้า2 แฮทช์แบคและซีดาน, มาสด้า CX-3, มาสด้า CX-5 และ มาสด้า บีที-50 โปร โดยมีผู้บริหารมาสด้า สื่อมวลชนและทีมงานร่วม 120 ชีวิต ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมาสด้าปักหมุดไว้ที่เส้นทางสายเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง สืบเนื่องจากความร่วมมือจาก 6 ประเทศ ประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน และไทย ได้ร่วมผนึกกำลังทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรม ด้านการเกษตร และด้านการบริการ เพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร โดยกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้มีการกำหนด 9 เส้นทางหลัก เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) ซึ่งขบวนคาราวานจะออกเดินทางลัดเลาะไปบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ แนวตะวันออกมุ่งหน้าสู่ตะวันตก หรือที่รู้จักกันในชื่อ EAST-WEST ECONOMIC CORRIDOR หรือที่เรียกว่าเส้นทาง R2 หรือ R9 เมื่ออยู่ในประเทศ สปป.ลาว ที่เชื่อมสองมหาสมุทรจากมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก หรือทะเลจีนใต้ กับมหาสมุทรอินเดียตะวันตก ซึ่งนี่ยังเป็นโอกาสที่ได้สัมผัสขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมไปถึงการเติบโตของสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย
โดยคาราวานเริ่มเดินทางระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายน 2560 รวมระยะเวลา 7 วัน กลุ่มแรกเริ่มต้นจากการบินลัดฟ้าสู่เมืองเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม (วันที่ 20-23 มิ.ย. 2560) เข้าเยี่ยมชมหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์มาสด้าในแถบอาเซียน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองเว้ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม และมุ่งหน้าเข้าสู่ด่านชายแดนลาวบาวของเวียดนาม-ลาว และข้ามแม่น้ำโขงผ่านประเทศลาวด้วยสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เข้าสู่ประเทศไทยในจังหวัดมุกดาหาร ผ่านขอนแก่น มุ่งหน้าสู่พิษณุโลกซึ่งเป็นจังหวัดที่รัฐบาลไทยปลุกปั้นให้เป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการเดินทางจะทั่วทุกสารทิศ นั่นคือ “4 แยกอินโดจีน” ด้วยตำแหน่งที่อยู่กึ่งกลางจุดตัดระหว่าง NSEC และ EWEC จึงเกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจจากทั้ง 4 ทิศ ภาครัฐจึงสนับสนุนให้เกิดการลงทุน มีการจัดตั้งศูนย์บริการกระจายสินค้า และการท่องเที่ยวทางธรรมชาติสร้างรายได้ให้ครัวเรือนได้อีกด้วย
ส่วนการเดินทางช่วงที่ 2 (วันที่ 23-25 มิ.ย. 2560) เป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่รับช่วงต่อจากกลุ่มแรก เริ่มต้นด้วยการบินไปลงที่สนามบิน จ.พิษณุโลก แล้วขับรถมุ่งหน้าสู่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อข้ามแดนสู่เมืองมะละแหม่ง หรือ เมาะลำเลิง หรือ เมาะลามไย (ทั้ง 3 ชื่อนี้คือที่เดียวกัน แต่ออกเสียงต่างกัน) ประเทศพม่า (เมียนมาร์) เป็นเมืองที่อยู่ติดกับแม่น้ำสาละวิน ซึ่งถือเป็นเมืองที่ได้รับความเจริญจากอังกฤษ ในยุคที่อังกฤษเข้ายึดครองและเมืองนี้ยังเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 3 รองจากเมืองย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า ซึ่งศูนย์กลางทางการค้าหลักที่สำคัญของประเทศ ก่อนที่จะส่งมอบพวงมาลัยต่อให้ร่วมเดินทางกลุ่มสุดท้าย (วันที่ 24-26 มิ.ย. 2560)
คณะสื่อมวลชนในกลุ่มที่สอง เริ่มเดินทางจากจังหวัดพิษณุโลก
เส้นทางก่อนถึง อ.แม่สอด จ.ตาก มีการขยายถนนตลอดเส้นทาง
สำหรับการเดินทางในช่วงสุดท้าย คือ สมาชิกกลุ่มที่ 3 ก่อนรับภารกิจครั้งนี้ได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพม่า ที่แม้แต่คนไทยยังต้องดั้นด้นไปไหว้ขอพร เริ่มต้นที่วัดเจ๊าทัตยี พระนอนองค์ใหญ่ที่ตาหวานที่สุด, พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง และเจดีย์โบดาทาวน์ หรือ วัดเทพทันใจ หลังจากอิ่มบุญก็เริ่มภารกิจนำทัพ MAZDA DNA SKYACTIV กลับสู่ประเทศไทย ผ่านด่านแม่สอด มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครถือเป็นอันเสร็จสิ้นสุดภารกิจ พร้อมกับการกลับมารวมตัวของผู้ร่วมเดินทางเพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของเส้นทางประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ MAZDA DNA SKYACTIV CARAVAN ณ ร้านอะเบาท์ฮิพ (About Hip) บนถนนประชาชื่น
จุดผ่านแดนถาวรบ้านริมเมย จากทางฝั่งประเทศไทย
ขับรถผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเมย ที่เป็นแนวกั้นเขตแดนไทย-พม่า
ทางด้านซ้ายจะเห็นรถกระบะและรถบรรทุกขนส่งสินค้ารอผ่านแดนเข้าไทยมากมาย
เส้นทางหลังจากผ่านแดนเข้าสู่เขตเมียวดี สองข้างทางเต็มไปด้วยสีเขียวของป่าไม้
สภาพพื้นผิวถนนที่เป็นทางยางมะตอย แต่อยู่ในสภาพที่เก่ามาก เป็นหลุมบ่อตลอดเส้นทาง
โดยในส่วนของการเดินทางของผู้เขียนที่ได้สัมผัสมาถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ นั่นเพราะว่าเส้นทางที่ควบขับฝูงคาราวานสกายแอคทีฟเข้าไปนั้น ไม่ใช่เส้นทางที่นักท่องเที่ยวทั่วไปจะผ่านเข้าไปได้ ทางทีมงานของมาสด้าต้องติดต่อประสานงานระหว่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ เพราะเส้นทางที่พูดถึงนี้ หลังจากผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก มาแล้วจะต้องเข้าสู่เมืองเมียวดี มีแม่น้ำเมยเป็นเขตกั้นเชื่อมด้วยสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ซึ่งเป็นเขตตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญ เส้นทางตรงนี้ยังปกติดีอยู่ แต่หลังจากนี้ คือดินแดนที่น้อยคนนักที่จะได้ผ่านเข้าไป นั่นคือ คาราวานจะต้องผ่านเข้าไปที่เมืองพะอาน รัฐกะเหรี่ยง หรือ รัฐกะยีน นั่นเอง
สภาพถนนที่ต้องเจอแบบนี้อีกถึงครึ่งค่อนวัน หัวสั่นหัวคลอนกันเลยทีเดียว แต่ด้วยช่วงล่างของมาสด้าทุกคัน ผ่านได้สบายๆ
ชาวบ้านส่วนใหญ่มีการค้าขายริมทางเป็นระยะ
รัฐกะเหรี่ยง หรือ รัฐกะยีน เป็นรัฐหนึ่งของพม่า มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองพะอาน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง, พม่า, ไทใหญ่, มอญ, ยะไข่ และ ปะโอ มีเขตการปกครองของรัฐกะเหรี่ยงแบ่งเป็น 3 จังหวัด คือ จ.พะอาน หรือ ผาอาน, จ.เมียวดี หรือ มยะวะดี และ จ.กอกาเร็ก ซึ่งเส้นทางหลังจากผ่านเมืองเมียวดีและลึกเข้าไปที่พะอาน จะมีด่านตรวจซึ่งมีการเก็บค่าผ่านทางเป็นระยะๆ เส้นทางแถบนั้นต้องบอกเลยว่าถึงจะเป็นทางดำหรือลาดยางมะตอย แต่มีสภาพที่ต้องซ่อมแซมอย่างหนัก สลับกับเส้นทางที่เป็นลูกรังอยู่เป็นช่วงๆ ทำเอาหัวสั่นหัวคลอนกันเป็นแถว ถนนเป็นเลนสวน ไม่มีไหล่ทาง พื้นผิวเป็นหลุมบ่อ มีรถบรรทุกวิ่งผ่านตลอดเวลาที่ขับอยู่บนเส้นทางนั้น มันช่างเป็นฝันร้ายของคนที่ชอบขับรถจริงๆ แต่งานนี้ไม่ต้องกังวลเพราะช่วงล่างของฝูงสกายแอคทีฟ “เอาอยู่” แม้ว่าเส้นทางแถบนี้ (เมียวดี-พะอาน) จะเคยเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญของท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันสภาพของถนนกลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเส้นทางสายนี้ เนื่องด้วยปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองของพม่านั่นเอง ซึ่งสองข้างทางจะเห็นบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอย่างง่ายๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นที่ราบลุ่ม สลับกับการทำนาปลูกข้าว และมีทิวเขาล้อมรอบ ดูแล้วมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์มากทีเดียว
ถนนเลนสวนที่ค่อนข้างแคบเวลาเจอรถบรรทุกต้องหลบลงไหล่ทาง (ไหล่ทางเป็นลูกรังอีกต่างหาก)
ในบางช่วงจะเห็นว่ามีการทำนาปลูกข้าว
โดยส่วนใหญ่แล้วชาวกะเหรี่ยงยังคงทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักเหมือนบรรพบุรุษ แต่บางส่วนก็เดินทางมาเป็นแรงงานในประเทศไทย ถึงแม้จะเป็นเส้นทางที่ไม่ค่อยจะสะดวกนัก แต่นี่กลับเป็นการบุกเบิกเส้นทางใหม่ๆ ที่นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาสัมผัส ซึ่งในอีกมุมหนึ่งพะอานนับว่ามีศักยภาพมากในฐานะของศูนย์กลางอุตสาหกรรมพม่าตอนใต้ เพราะล้อมไปด้วยพื้นที่เศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นแม่สอดและเมืองย่างกุ้ง เหมาะที่จะเป็นจุดศูนย์กลางในการเป็นคลังสินค้าเพื่อเป็นที่พักพิงวัตถุดิบและเปลี่ยนถ่ายสินค้าไปยังแหล่งต่างๆ
เมื่อต้องผ่านเข้าเขตต่างๆ ในรัฐกะเหรี่ยง ต้องจ่ายค่าผ่านทางด้วย ซึ่งรถท่องเที่ยวทั่วไปไม่สามารถผ่านได้ ต้องขออนุญาตมาเฉพาะเท่านั้น จึงจะผ่านได้ แต่ต้องจ่ายค่าผ่านทางอยู่ดี
อีกทั้งเมืองพะอานยังเป็นประตูสู่ภาคใต้ของพม่าไปสู่เขตตะนาวศรี ที่มีทั้งเมืองทวาย, มะริด, เกาะสอง แถมยังมีเขตแดนติดกับ จ.กาญจนบุรี ไปถึง จ.ระนอง (คอคอดกระ) ซึ่งเมืองทวายเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลที่ขนานไปกับเทืองเขาตะนาวศรี เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ, แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทางทะเล และแหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่สำคัญของพม่า หากลองลากเส้นจากแผนที่จะเห็นว่าเส้นทางที่มาสด้าพาบุกตะลุยเข้าไปนี่คือจุดเชื่อมโยงกับศูนย์กลางเศรษฐกิจของพม่าอย่างชัดเจน ซึ่งเหมาะมากกับการเป็นทำเลในการกระจายสินค้าและใช้เป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีเส้นทางกาญจนบุรี-ทวาย ที่กำลังพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจแห่งใหม่ ที่มีการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย สามารถรองรับเรือน้ำหนักถึง 3 แสนตัน และเชื่อมโยงตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ทางมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน ซึ่งแน่นอนว่าไทยเราจะได้ประโยชน์จากการพัฒนานี้มหาศาล
ร้านค้าริมทางที่มีรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะไปตรงไหนก็เหมือนกันหมด
แผงผลไม้ริมทางที่มีให้เลือกหลากหลายทั้งเงาะ ขนุน มังคุด สับปะรด ทุเรียน (ทุเรียนที่นี่นิยมกินแบบสุกมาก)
ความสุขของการขับรถเดินทางแบบนี้คือ บรรยากาศระหว่างเดินทาง อย่างในภาพนี้บ่งบอกชัดเจนว่า เรากำลังขับอยู่ในพม่า
สะพานข้ามแม่น้ำหลายๆ แห่ง มีการออกแบบที่มั่นคงมาก แถมยังมีความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป
จุดนี้คือสะพานข้ามแม่น้ำสะโตง (Sittaung) ความกว้างของแม่น้ำตรงจุดนี้กว้างกว่าแม่น้ำเจ้าพระยากว่าเท่าตัว
ตอนนี้พาออกนอกเส้นทางไปซะไกล กลับเข้ามาในเส้นทางกันบ้าง หลังจากผ่านเมืองพะอานจุดหมายปลายทางที่พักในคืนแรกอยู่ในเมืองมะละแหม่ง หรือ เมาะลำเลิง หรือ เมาะลามไย (Mawlamyine) ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกไม่นาน โดยเมืองมะละแหม่งเป็นเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของเพลง “มะเมี๊ยะ” ตำนานความรักที่แสนเศร้าของเจ้าน้อยศุขเกษม ซึ่งเป็นหลานของเจ้าดารารัศมี พระชายาในรัชกาลที่ 5 ขณะที่เจ้าน้อยอายุได้ 15 ปี ถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์แพทริก ซึ่งเป็นโรงเรียนแคธอลิกของอังกฤษในเมืองมะละแหม่ง และตอนนั้นพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และวันหนึ่งได้ไปพบกับมะเมี๊ยะในตลาด เกิดเป็นความรักที่แสนเศร้าตามมา กลายเป็นบทเพลงโพล์คซองคำเมืองของ “จรัล มโนเพ็ชร” ขับร้องโดย “สุนทรี เวชานนท์” ที่ร้องว่า “มะเมี๊ยะเป๊นสาวแม่ค้า คนพม่า เมืองมะละแหม่ง งามล้ำเหมือนเดือนส่องแสง คนมาแย่งหลงฮักสาว มะเมี๊ยะบ่ยอมฮักไผ มอบใจ๋ให้หนุ่มเจื้อเจ้า เป็นลูกอุปราชท้าวเจียงใหม่” ที่ทำให้หลายคนรู้จักเมืองมะละแหม่งแห่งนี้
มาถึงตอนนี้เห็นอะไรหรือไม่…เจ้าน้อยสุขเกษมถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนฝรั่งในมะละแหม่ง นั่นเป็นการบอกว่าในยุคนั้นเมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ถึงขนาดที่ลูกหลานเจ้าฟ้าทั้งหลายต้องส่งไปศึกษาเล่าเรียน ซึ่งในอดีตเมืองมะละแหม่งถูกอังกฤษยึดครองเป็นเมืองขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1824 อีกทั้งเมืองนี้ยังเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 3 รองจากเมืองย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์อีกด้วย
วิถีชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำสาละวิน ในเมืองมะละแหม่ง ส่วนใหญ่จะทำประมงขนาดเล็ก
สะพานที่เห็นข้างหน้าที่ล่ะที่ข้ามแม่น้ำสาละวินช่วงเขตมะละแหม่ง เป็นสะพานที่ยาวมากทีเดียว
ฝูงมาสด้าขณะขับอยู่บนสะพาน ฝนตกเปียกทั้งวัน
น่าเสียดายที่กว่าจะไปถึงที่พัก Ngwe Moe Hotel ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวินเป็นปากทางออกสู่ทะเลพม่าและทะเลอันดามัน เป็นช่วงเย็น และในตอนรุ่งเช้าต้องรีบออกเดินทาง จึงไม่ได้สัมผัสความสวยงามของเมืองนี้อย่างเต็มตา แต่อย่างไรก็ตามมาถึงเมืองนี้ต้องขอเล่าเรื่องราวสักหน่อย เพราะด้วยเมืองนี้เป็นเมืองที่สำคัญในอดีต แม้ว่าวันนี้จะเปลี่ยนไปไม่รุ่งเรืองเหมือนก่อน แต่ยังคงอยู่บนพื้นที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
เมืองมะละแหม่ง เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือน โบสถ์คริสต์ โรงเรียน สถานที่ราชการแบบโคโลเนียลที่สวยงาม เช่นเดียวกับเมืองท่าในยุคอาณานิคม หลายแห่งทรุดโทรมลง แต่ยังมีกลิ่นอายของความสวยงามอยู่เช่นเดิม หลังจากที่อังกฤษยึดครองเมืองมะละแหม่งเป็นเมืองขึ้น ได้พัฒนาเมืองที่ทำการประมงเล็กๆ ให้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งแรกในช่วงหลังสงครามพม่า-อังกฤษ จึงได้รับอิทธิพลอารยธรรมแบบตะวันตกและมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เพราะถูกใช้เป็นเมืองท่าในการขนส่งทางเรือเชื่อมต่อกับเมืองมะริด, ทวาย, ตะนาวศรี และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขนส่งสินค้าและไพร่พลกำลังทหารย้อนขึ้นแม่น้ำอิรวดีไปยังเมืองย่างกุ้งได้เร็วขึ้น แถมยังใช้เมืองมะละแหม่งนี้เป็นเมืองหลวงเพื่อบุกไปตีเมืองมัณฑะเลย์อีกต่างหาก อังกฤษในยุคล่าอาณานิคมนี่ช่างน่าตีจริงๆ
หงส์..สัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี
กลับเข้าเส้นทางกันอีกรอบ…ระหว่างทางที่มุ่งหน้าสู่ย่างกุ้ง เริ่มจะมองเห็นความเจริญของเมืองมากยิ่ง ความคึกคักเริ่มสัมผัสได้ เมื่อขบวนขยับเข้ามาถึงเมือง บาโก หรือ พะโค (Bago หรือ Pegu) ชื่อนี้เป็นชื่อใหม่ แต่ชื่อเดิมนั้นคือ “หงสาวดี” นั่นเอง
ป้ายโฆษณาที่อาจจะดูเชยๆ หน่อย แต่ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบ ดูเพลินโดยเฉพาะพรีเซนเตอร์
ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะแต่งตัวแบบดั้งเดิม แต่ปัจจุบันเริ่มมีร้านค้าที่นำเสื้อผ้ายุคใหม่มาจำหน่ายกันบ้างแล้ว
ระหว่างเมืองจะเห็นค่ายโทรศัพท์มือถือจากจีน ไต้หวัน และเกาหลี อยู่ตลอด เพราะหลังจากที่พม่าเปิดประเทศและเริ่มมีสัญญาณโทรศัพท์ 4G ค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือก็เริ่มเข้าไปรุกตลาดอย่างจริงจัง
ป้ายโฆษณาต่างๆ ทำให้เห็นว่าเริ่มมีความบันเทิงเข้ามาบ้างแล้ว
อาคารสไตล์โคโลเนียลที่แทรกตัวอยู่
สองข้างทางของเมืองบาโก หรือ พะโค หรือ หงสาวดี (ในอดีต) อาคารบ้านเรือนเป็นตึกสูงไม่เกิน 4 ชั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารที่ค่อนข้างเก่า บางอาคารมีการปรับปรุงใหม่ให้ดูทันสมัย
นครหงสาวดี เคยเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรหงสาวดีของมอญและอาณาจักรตองอู ในอดีตนั้นเป็นเมืองของชาวมอญ ซึ่งพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เคยเสด็จเข้ามาทำพิธีเจาะพระกรรณ (หู) ที่พระธาตุมุเตาเมื่อครั้งเป็นเขตของมอญ มีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง มีสัญลักษณ์ของเมืองเป็นตัวหงส์คู่ ซึ่งมาจากตำนานของชาวมอญที่เล่าสือทอดกันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงหงสาวดี ทรงเห็นหงส์สองตัวว่ายน้ำเล่นกัน จึงทำนายว่าภายหลังเมืองแห่งนี้จะเจริญรุ่งเรือง ชาวมอญจึงใช้หงส์คู๋นี้มาเป็นสัญลักษณ์ของเมือง และอีกหนึ่งสัญลักษณ์คือ พระธาตุชเวมอดอ หรือ พระธาตุมุเตา เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ และครั้งใดที่พระเจ้าบุเรงนองจะออกทำศึก ต้องมาสักการะของพรจากพระธาตุแห่งนี้ทุกครั้ง เช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เคยมาสักการะที่พระธาตุชเวมอดอนี้เช่นกัน
ที่เห็นข้างหน้านี้คือ เจดีย์ชเวกอดอ ที่เห็นตั้งแต่ไกลๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก เสียดายที่ไม่ได้แวะเข้าไปชมใกล้ๆ
Bee Throne Hall หรือ พระราชวังผึ้ง
ปัจจุบันเมืองบาโกหรือพะโค อาจจะดูสับสนวุ่นวายด้วยรถมอเตอร์ไซค์และจักรยานที่ใช้ถนนกันขวักไขว่ รวมถึงรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงมีกลิ่นอายของอาคารเก่าแก่อยู่ตลอดทาง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องแวะเที่ยวชม คือ Bee Throne Hall หรือ พระราชวังผึ้ง ด้วยการที่พระเจ้าบุเรงนอง หรือ บะยินเนาว์ (Bayinnaung) โปรดปรานผึ้งมาก ขนาดที่ใช้การต่อสู้ของผึ้งมาประยุกต์ใช้เป็นยุทธวิธีในการรบ และเมื่อสร้างพระราชวังนี้เสร็จกลับมีฝูงผึ้งมาทำรังอาศัยตลอดมาเป็นร้อยปี ซึ่งที่เห็นในตอนนี้เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพราะของเดิมถูกเผาไม่เหลือ มีเพียงตอไม้สักที่ถูกไฟเผาหลงเหลืออยู่เล็กน้อยเท่านั้น ไม่ห่างกันมากนักมีพระตำหนักของพระสุพรรณกัลยา องค์ประกันที่ตกเป็นเชลยและเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนองอยู่ด้วย
พระราชวังบุเรงนอง หรือ พระราชวังกัมโพชธานี (Kanbawzathadi Golden Palace)
ไม่ห่างกันนักจะพบกับ พระราชวังบุเรงนอง หรือ พระราชวังกัมโพชธานี (Kanbawzathadi Golden Palace) เป็นพระราชวังแห่งเมืองหงสาวดีของพระเจ้าบุเรงนอง เป็นพระราชวังที่ถือว่ายิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ห่างจากพระธาตุเจดีชเวมอดอหรือพระธาตุมุเตาไม่ไกล ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2109 เป็นช่วงเวลาปีที่ 15 ที่พระเจ้าบุเรงนองครองราชย์ และเป็นช่วงเวลาที่เรืองอำนาจที่สุด แต่แล้วหลังจากที่พระองค์สวรรคต กบฎยะไข่ได้เข้ามาเผาพระราชวังแห่งนี้ทิ้ง พร้อมๆ กับการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรตองอู
เมื่อปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลพม่า ได้มีการขุดค้นพบซากของพระราชวังแห่งนี้ ที่เหลือเพียงตอไม้สักที่โผล่พ้นพื้นดิน จึงได้มีการเร่งสร้างขึ้นมาใหม่เลียนแบบของเดิมจากแบบแปลนเดิม จะเห็นว่ามีเสาไม้สักของเดิมวางเทียบกับเสาต้นใหม่เอาไว้ด้วย รวมทั้งบริเวณโดยรอบยังขุดพบโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย ซึ่งเชื่อว่ายังมีโบราณวัตถุอีกมากที่ยังฝังอยู่ใต้พื้นดิน
โดยภายในของพระราชวังเป็นโถงโล่ง จัดแสดงประวัติศาสตร์ของนครหงสาวดี มี 2 ส่วน ที่เรียกว่า “กามโบสะตาหริ” หรือ “กัมโพชธานี” เป็นส่วนที่เอาไว้ว่าราชการ และอีกส่วนคือ พระราชบัลลังก์ “บัลลังก์ภูมรินทร์” หรือ “บัลลังก์ผึ้ง” เป็นส่วนของที่บรรทม ดูยิ่งใหญ่สมพระเกียรติจริงๆ
เมื่อเที่ยวชมเมืองกันจุใจแล้ว ได้เวลาขยับเข้าสู่เมืองย่างกุ้งที่อยู่ห่างออกไปราว 120 กิโลเมตร เท่านั้น ระหว่างทางที่จะเข้าเมือง มุมมองสองข้างทางเริ่มเปลี่ยนไป จากท้องทุ่งกลายเป็นอาคารบ้านเรือนที่หนาแน่นขึ้น อาคารสมัยใหม่เติบโตแทรกตัวไปกับอาคารแบบดั้งเดิม รถมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งกันขวักไขว่เริ่มซาลง รถบัสและรถส่วนตัวเริ่มมากขึ้น นั่นไม่แปลก เพราะภายในเมืองย่างกุ้งมีกฎหมายที่ห้ามรถมอเตอร์ไซค์ใช้งานในตัวเมือง
เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2007 จนถึงวันนี้ผ่านมา10ปีแล้ว ซึ่งมี 3 เหตุผลหลัก คือ
1.เพื่อลดปัญหาการจราจรที่แออัด รถติดมาก เพราะมีปริมาณรถมอเตอร์ไซค์จำนวนมาก
2.การมีรถมอเตอร์ไซค์จำนวนมาก จึงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น การบังคับใช้นี้จึงเพื่อลดอุบัติเหตุ
3.ป้องกันการก่อการร้าย รถมอเตอร์ไซค์ตรวจสอบได้ยาก แต่ก่อเหตุได้ง่าย ซึ่งในอดีตเมียนมาร์มีปัญหาด้านการเมืองที่รุนแรง
การสัญจรโดยจักรยานมีให้เห็นเป็นประจำ
รถมอเตอร์ไซค์สามล้อสไตล์เมียนมาร์
รถมอเตอร์ไซค์ที่พบเห็นได้ทั่วไป ยกเว้นในย่างกุ้ง ที่ห้ามใช้เด็ดขาด!
แต่ถึงไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ ตอนนี้ในย่างกุ้งรถติดหนักพอๆ กับกรุงเทพเหมือนกันนะเนี่ย
เมื่อเริ่มเข้าใกล้เมืองย่างกุ้ง การจราจรก็เริ่มแออัดอย่างเห็นได้ชัด
ต่างจากในเขตนอกเมืองที่ขับกันแบบสบายๆ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เมืองย่างกุ้ง หรือ ยางโกน (Rankun หรือ Rangoon) เป็นเมืองหลวงเดิมถึงปี พ.ศ. 2549 แล้วย้ายเมืองหลวงใหม่ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyidaw) ทางตอนกลางของพม่า ย่างกุ้งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของพม่าและเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ มีเจดีย์ชเวดากองเป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพม่า บ้านเมืองในช่วงย้อนกลับไปราว 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปัจจุบันดูเติบโตขึ้นมาก แต่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอเมื่อถูกนำมาเทียบกับเมืองใหญ่ในประเทศอื่นๆ (ขนาดโรงแรมใหญ่ๆ ยังมีไฟตก แสดงว่ายังมีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ถึงได้เห็นบางโรงแรมหรือห้างร้านใหญ่ๆ มีเครื่องปั่นไฟเอาไว้ใช้หลายแห่ง) นี่จึงทำให้มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก ประชาชนยังมีรายได้น้อยและขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งดูขัดกับความเจริญด้านวัตถุของเมือง ที่มีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น แต่กระนั้น ย่างกุ้งถือเป็นเมืองที่มีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างมหาศาล ทั้งจากนักลงทุน ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาก รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่เริ่มดีขึ้น ทุกอย่างส่งผลให้ย่างกุ้งในวันนี้กำลังเติบโตอย่างมั่นคง
ไฮไลท์ของย่างกุ้ง จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต้องมาชมความงดงามของเจดีย์ชเวดากอง
ปั้มน้ำมันแถวๆ พะอาน เป็นของเอกชน ราคาน้ำมันดีเซลที่นี่ลิตรละประมาณ 17 บาท
ปั้มเอกชนบางแห่งก็ดูทันสมัย น้ำมันที่เติมให้กับสกายแอคทีฟเบนซินที่นี่มีแต่เบนซิน ออกเทน 92 เท่านั้น
โดยหากจะอธิบายให้เห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว พม่า ไทย เรื่องของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเป็นมาตรการสำคัญในการพัฒนาภูมิภาค โดยเฉพาะเขตลุ่มแม่น้ำโขงที่มีบทบาททั้งการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน แต่รวมถึงการพัฒนากฎระเบียบในการขนส่งสินค้าและการผ่านข้ามแดนอีกด้วย ซึ่งกรอบความร่วมมือ GMS (Greater Mekong Sub – Region) เป็นความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ตั้งแต่ปี 2535 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) เป็นผู้สนับสนุนหลัก เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ยกระดับการครองชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก
โดยมีกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน คือ สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยการรวมกลุ่มกันในอนุภูมิภาค(Community) รัฐบาล จากประเทศสมาชิก GMS จึงได้กำหนดแนวพื้นที่เศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขงจำนวน 9 เส้นทางหลัก ให้เป็นแนวพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของอนุภูมิภาค
รถบัสส่วนใหญ่ที่ใช้งานระหว่างเมืองมีสภาพที่ค่อนข้างเก่า ส่วนรถบัสที่ใช้ในย่างกุ้งดูใหม่กว่านิดหน่อย ซึ่งเป็นรถมือสองที่นำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลีและเวียดนาม
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น กุญแจสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การพัฒนาความร่วมมือภายในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยภายใต้โครงการนี้เป็นการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิ ภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งประกอบด้วยประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และจีน (เฉพาะมณฑลยูนานและมณฑลกว่างสี) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้มีการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจจำนวนทั้งสิ้น 10 เส้นทางเพื่อเชื่อมโยง 6 ประเทศ ในกลุ่ม GMS เข้าด้วยกันโดยอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจ 3 แนว คือ
- 1. ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC)
- 2. ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)
- 3. ระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC)
แสงสีที่เริ่มมีมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้าและผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่มีมากขึ้นกว่าอดีต
สำหรับการพัฒนานี้ ครอบคลุมถึงการค้าผ่านแดน การลงทุน การขนส่ง และการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนการก่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อย่างมั่นคงในกลุ่มประเทศอาเซียนแบบไร้พรมแดน โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่จะเชื่อมต่อไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ และระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ จะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก ที่จังหวัดพิษณุโลกและตาก การใช้ประโยชน์ระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ เป็นผลมาจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ในทันที ซึ่งเป็นโอกาสในเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอีกด้วย
การเดินทางครั้งนี้จบลงที่ย่างกุ้ง พร้อมๆ กับประสบการณ์และการเรียนรู้ใหม่ๆ อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ จากที่ได้เดินทางมาตามเส้นทาง ผ่านชุมชน ได้เห็นวัฒนธรรม ทำให้รู้ว่าประเทศไทยและเพื่อนบ้านล้วนมีพลังในการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคง เหลือเพียงแค่ความร่วมมือให้เป็นหนึ่งเดียว และคนในประเทศรวมถึงภาครัฐต้องเข้มแข็งด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ดูจากโอกาสแล้วมันช่างน่ายั่วยวนใจในการสร้างธุรกิจจริงๆ
คาราวาน MAZDA DNA SKYACTIV CARAVAN ไม่ได้เป็นเพียงคาราวานบนเส้นทาง EAST – WEST ECONOMIC CORRIDOR จาก เวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า เท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้เห็นภาพของการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมองเห็นโอกาสและเตรียมพร้อมรองรับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และแน่นอนว่าคาราวานอย่างนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มียนตรกรรมระดับคุณภาพอย่างมาสด้าที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีสกายแอคทีฟ (Skyactiv) ระยะทางกว่า 2,900 กิโลเมตร มันได้การันตีความแกร่งเอาไว้อย่างชัดเจน และไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งการเดินทางจากกรุงเทพสู่นครวัด กัมพูชา, เยือนดินแดนมหานักรบผู้ยิ่งใหญ่ เจงกิสข่าน , อาเซียนคาราวานเปิดประตู่สู่ประชาคมอาเซียน, ตะลุยไปสุดขั้วโลกถึงรัสเซีย เป็นสิ่งพิสูจน์สมรรถนะของเหล่าสกายแอคทีฟได้ชัดเจนที่สุดแล้ว คงมีแต่มาสด้าเท่านั้นที่สร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ผ่านการเดินทางได้มากมายขนาดนี้..คงมีแค่ขอบฟ้าเท่านั้น ที่จะหยุดยั้งการเดินทางของมาสด้า ผู้เขียนนับถือจริงๆ.
ฝูงมาสด้า สกายแอคทีฟ จอดชมทิวทัศน์บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสะโตง คาราวานเชื่อมโยงเศรษฐกิจ EAST – WEST ECONOMIC CORRIDOR
เรื่อง/ภาพ : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th