มาสด้า CX-60 e-SKYACTIV เลือกได้ PHEV&MHEV
มาสด้า CX-60 e-SKYACTIV นับเป็นโปรเจกต์แรกภายใต้ยุทธศาสตร์ Sustainable Zoom-Zoom 2030ใช้กำหนดอนาคตของค่าย MAZDA เพื่อนำพาสู่ความยั่งยืน ลดการปล่อยคาร์บอนรวมทั้งมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี e-SKYACTIV ซึ่งเป็นการนำมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ขับเคลื่อนรถอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการเป็นต้นกำลังหลัก (BEV) ใน MX-30 และการเป็นต้นกำลังเสริม (PHEV & MHEV) ใน CX-60 รวมทั้งรถเซ็กเมนต์อื่น ๆ ในอนาคต
- CX-60 จัดอยู่ในกลุ่ม Mid-size SUV ใช้รหัสโมเดล ‘KH’ การออกแบบดูสวยและลงตัว ให้อารมณ์เดียวกับ CX-5 [KF] บนขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่า
MAZDA ช้าไปหรือไม่ สำหรับรถในรูปแบบ xEV คำตอบ คือ ไม่ช้าครับ เพราะถัดจากเทคโนโลยี SKYACTIV-Engine ต่อเนื่องมาจนถึง SKYACTIV-X ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไฮไลต์เพื่อลดมลพิษจากการสันดาปของเครื่องยนต์ประจำค่าย
MAZDA ก็กระโดดไกลข้ามไปเล่นกับรถ BEV (MX-30) ก่อนเลย จากนั้นจึงวกกลับมาผลิตรถ HEV (MAZDA2 Hybrid) ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง TOYOTA
ลำดับถัดมาเปิดตัว CX-60 e-SKYACTIV PHEV ซึ่งนับเป็น ‘Mazda’s first PHEV’ อย่างเป็นทางการ และในที่สุดก็ถึงคิวของ CX-60 e-SKYACTIV ในรูปแบบ MHEV
- CX-60 [KH] มีระยะฐานล้อ (Wheelbase) ที่ 2,870 มิลลิเมตร ขณะที่ CX-5 [KF] มีระยะฐานล้อที่ 2,700 มิลลิเมตร
มาสด้า CX-60 Introduction :
ก่อนเข้าสู่รายละเอียดของ มาสด้า CX-60 ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรถกลุ่ม xEV เพิ่มเติม เพราะหลายท่านยังสับสนกับการแบ่ง categories ของรถกลุ่มนี้ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดประเภทของรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าออกมาใช้อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
ยานยนต์ไฟฟ้า (xEV: Electric Vehicle) หมายรวมถึง รถทุกประเภทที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ทั้งแบบรองรับการเสียบปลั๊กชาร์จไฟ และยานยนต์ไฮบริดที่ไม่สามารถชาร์จไฟจากภายนอกได้ โดยจำแนกชนิดของยานยนต์ไฟฟ้าเป็น 4 ประเภท ดังนี้ [หมายเหตุ: ช่วงแรกเรียก EV ช่วงหลังเปลี่ยนมาใช้ xEV เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น และรองรับการเติมตัวอักษรเพิ่มจากด้านหน้า]
1) ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) คือ ยานยนต์ลูกผสมที่ควบรวมต้นกำลัง 2 ประเภท เอาไว้ในรถเพียงคันเดียว ได้แก่ เครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า การทำงานจะแตกต่างกันไปตามการออกแบบของแต่ละผู้ผลิต ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อลดบทบาทของเครื่องยนต์ลงให้มากที่สุด
2) ยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) มีหลักการเช่นเดียวกับยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) แต่เพิ่มฟังก์ชันรองรับการอัดประจุไฟจากแหล่งจ่ายไฟภายนอกรถ (Plug-in) และมีประสิทธิภาพขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าในโหมดไร้มลพิษ (EV Mode) ได้เป็นระยะทางไกลกว่ายานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด
3) ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังเพื่อขับเคลื่อนรถ การเคลื่อนที่จะมาจากพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่เท่านั้น ดังนั้น ระยะทางการวิ่งของยานยนต์ไฟฟ้า BEV จึงขึ้นอยู่กับความจุและประเภทของแบตเตอรี่ รวมทั้งน้ำหนักบรรทุก แนวคิดของยานยนต์ไฟฟ้า BEV เป็นการนำแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ความจุสูง มาใช้ในการเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อป้อนให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล เพื่อขับเคลื่อนรถ
4) ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) เซลล์เชื้อเพลิง เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยการเปลี่ยนพลังงานเคมีไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งหากพิจารณาในแง่ประสิทธิภาพ จะเสถียรและให้ประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานสูงกว่าการใช้เจเนอเรเตอร์ปั่นไฟ เพื่อเปลี่ยนพลังงานกลไปเป็นพลังงานไฟฟ้า เพราะการปั่นไฟ ระบบต้องสูญเสียพลังงานบางส่วนไปกับแรงเสียดทาน (Friction Loss) ต่อเนื่องไปจนถึงพลังงานความร้อน (Heat Loss) ขณะที่ขบวนการสร้างพลังงานไฟฟ้าของ Fuel Cell ใช้ปฏิกิริยาทาง ไฟฟ้า-เคมี ไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหว เกิดความร้อนต่ำกว่า พลังงานที่ได้จากระบบนี้จะเป็นพลังงานสะอาด (Clean Energy) เพราะเกิดจากการรวมตัวของก๊าซไฮโดรเจน (H2) และก๊าซออกซิเจน (O2) ผ่านปฏิกิริยาเคมีเท่านั้น
- ช่วงความกว้างของล้อ (Track) หน้าและหลัง ที่ 1,640 และ 1,645 มิลลิเมตร ตามลำดับ ระยะห่างใต้ท้องรถ (Ground Clearance) ระดับ 170 มิลลิเมตร กับล้อ 18 นิ้ว และ 175 มิลลิเมตร กับล้อขนาด 20 นิ้ว
Mild Hybrid ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็กกว่า Full Hybrid รวมทั้งแบตเตอรี่ก็มีขนาดเล็กกว่าด้วยเช่นกัน มอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่เป็น ‘ตัวช่วย’ ทั้งขณะออกตัว และเร่งแซง แต่ปัจจุบันมอเตอร์ไฟฟ้าของ Mild Hybrid แม้จะมีขนาดเล็ก แต่มีกำลังพอเพียงที่จะฉุดรถให้เคลื่อนที่ (ออกตัว) โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์
และอีกหนึ่งหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าใน Mild Hybrid คือ ช่วยลดภาระของเครื่องยนต์ในกรณีเร่งแซง เป็นที่มาของชื่อ ‘M Hybrid Boost’ จาก MAZDA นั่นเอง
- CX-60 3 e-SKYACTIV MHEV วางเลย์เอาต์ในรูปแบบรถขับเคลื่อนล้อหลัง เช่นเดียวกับ SUV จากฝั่งเยอรมัน และมีระบบขับเคลื่อนให้ลูกค้าเลือกทั้ง RWD และ AWD
สำหรับ MHEV หรือ Mild Hybrid Electric Vehicle อยู่ในส่วนของ HEV ซึ่งแบ่งตามรูปแบบการทำงานได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
1) Full Hybrid มอเตอร์ไฟฟ้ามีกำลังสูงพอที่จะขับเคลื่อนรถ นับจากออกตัวไปจนถึงความเร็วระดับหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์ รถสามารถขับเคลื่อนแบบไร้มลพิษได้เป็นระยะทางสั้นๆ (PZEV: Partial Zero Emission Vehicle) ก่อนที่พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จะหมด และเครื่องยนต์ถูกสตาร์ตขึ้นเพื่อขับเคลื่อนรถ รวมทั้งขับเจเนอเรเตอร์ปั่นไฟ ป้อนกลับเข้าสู่แบตเตอรี่อีกครั้ง
2) Mild Hybrid มอเตอร์ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่า Full Hybrid และแบตเตอรี่ก็มีขนาดเล็กกว่าด้วยเช่นกัน (ต้นทุนการผลิตลดลง) มอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่เป็น ‘ตัวช่วย’ ทั้งขณะออกตัว และเร่งแซง
แต่ปัจจุบันมอเตอร์ไฟฟ้าของ Mild Hybrid แม้จะมีขนาดเล็ก แต่มีกำลังพอเพียงที่จะฉุดรถให้เคลื่อนที่ (ออกตัว) โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์ และอีกหนึ่งหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าใน Mild Hybrid คือ ช่วยลดภาระของเครื่องยนต์ในกรณีเร่งแซง เป็นที่มาของชื่อ ‘M Hybrid Boost’ จาก MAZDA นั่นเอง
- ห้องโดยสารเน้นความเรียบง่าย และพรีเมียม เป็นงานออกแบบที่ดีไซเนอร์เรียกว่า human-centred-interior-design
มาสด้า CX-60 EVOLUTION KODO DESIGN:
การออกแบบ มาสด้า CX-60 ดูสวยและลงตัว ให้อารมณ์เดียวกับ CX-5 Mk.II [KF] บนขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่า ดีไซน์ยังคงใช้ปรัชญาอันลุ่มลึกจากฝั่งตะวันออกไม่เปลี่ยนแปลง นั่นเป็นที่มาของเส้นสายบนตัวถัง ที่สื่อสารถึง ‘อารมณ์’ และ ‘ความรู้สึก’ ได้อย่างโดดเด่น เช่นเดียวกับน้องเล็กในสาย Crossover อย่าง CX-3 ซึ่งก่อกำเนิดจากปรัชญา ‘KODO-Soul of Motion’ ไม่แตกต่างจาก CX-5, CX-30, MAZDA6, MAZDA3 และ MAZDA2 ทั้งหมดเป็นที่มาของความคล่องแคล่ว ปราดเปรียว มีเสน่ห์ และพร้อมจะทะยานไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา
CX-60 จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Mid-size SUV ใช้รหัสโมเดล ‘KH’ เป็นรถเซ็กเมนต์ใหม่ของ MAZDA มีตัวถังขนาดใหญ่กว่า CX-5 (Compact SUV) ความพลิ้วไหวบนตัวถังได้รับแรงบันดาลใจมาจากการออกแบบที่ลงตัวของรถยนต์ MAZDA เจเนอเรชันใหม่ทุกรุ่น
กระจังหน้าหรือจมูกของรถมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ถูกเรียกว่า ‘Signature Wing’ ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์อันโดดเด่นของรถจากค่ายนี้ทุกโมเดล ความน่าสนใจภายในห้องโดยสารไม่ได้มีแค่เรื่องการออกแบบ แต่ยังยกระดับเรื่องคุณภาพวัสดุ เพื่อให้ CX-60 เทียบชั้น SUV กลุ่มบนจากฝั่งยุโรปได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ระยะฐานล้อเพิ่มขึ้นถึง 170 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับ CX-5 [KF] ส่งผลต่อความสบายในส่วนของ Legroom ของเบาะนั่งตอนหลัง
- ความประณีตในการเก็บรายละเอียด ไม่เป็นรองรถยุโรปกลุ่มบน
- ทีมออกแบบ MAZDA จัดเต็มในเรื่องคุณภาพวัสดุ
CX-60 ถูกเปิดตัวเพื่อเป็นรถปี 2023 และสามารถเรียกความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่เฝ้ารอรถ SUV ขนาดตัวถังไม่ใหญ่โตจนเกินไป รองรับการใช้งานแนวอเนกประสงค์ได้อย่างลงตัว มาพร้อมมิติ กว้าง x ยาว x สูง ที่ 1,890 x 4,745 x 1,680 มิลลิเมตร หากเทียบกับสัดส่วนของ CX-5 [KF] จะมีความกว้าง และความยาว มากกว่าที่ 50 และ 195 มิลลิเมตร ตามลำดับ ขณะที่ความสูงจัดมาในระดับเดียวกัน ขนาดตัวถังที่ใหญ่ขึ้นแต่ไม่เทอะทะ มาพร้อมระยะฐานล้อ หรือ Wheelbase ที่ 2,870 มิลลิเมตร (CX-5 [KF] = 2,700 มิลลิเมตร) และช่วงความกว้างของล้อ (Track) หน้าและหลังที่ 1,640 และ 1,645 มิลลิเมตร ตามลำดับ
มิติตัวถังของ CX-60 ยังคงให้ความคล่องตัวในการบังคับควบคุม ระยะห่างใต้ท้องรถ (Ground Clearance) ระดับ 170 มิลลิเมตร กับล้อ 18 นิ้ว และ 175 มิลลิเมตร กับล้อขนาด 20 นิ้ว มาพร้อมระยะโอเวอร์แฮงค์หน้า-หลัง ที่สั้น
ให้ฟีลลิ่งคล่องแคล่วใกล้เคียงกับ CX-5 เรื่องความสามารถในการขนสัมภาระ เริ่มต้นที่ความจุ 477 ลิตร และขยับขยายด้วยการพับพนักพิงเบาะหลัง ที่แบ่งพับในอัตราส่วน 40:20:40 ไปได้ถึง 1,726 ลิตร เกินพอสำหรับครอบครัวขนาดกลาง
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เหตุผลที่ MAZDA ทุ่มเทพัฒนาเครื่องยนต์ SKYACTIV เพราะประเมินแล้วว่า เครื่องยนต์สันดาปภายในจะยังคงเป็น ‘ฐานล่างสุด’ ของพีระมิดไปอีกนาน ขณะที่ ‘ยอดบนสุด’ ของพีระมิดจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นลำดับ แน่นอนที่สุด ตรงกลางระหว่างยอดบนสุดกับฐานล่างอันมั่นคง หนีไม่พ้นรถไฮบริด ที่เป็นการผนวกรวมการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปกับมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไว้ด้วยกัน และที่อยู่สูงกว่ารถไฮบริดทั่วไปอยู่เล็กน้อย ก็คือรถไฮบริดแบบ Plug-in ที่สามารถเสียบชาร์จไฟจากทั้งไฟบ้านและแหล่งจ่ายไฟสาธารณะได้ด้วย
- ใต้ฝาประโปรงหน้า CX-60 e-SKYACTIV PHEV
Engine & Transmission มาสด้า CX-60 :
เริ่มต้นที่ มาสด้า CX-60 e-SKYACTIV PHEV มีกำลังรวมจากระบบไฮบริด 327 PS/241 kW ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 Nm ที่ 5,000 รอบ/นาที ทั้งแรงม้าและแรงบิด เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์ SKYACTIV-G 2.5 แบบเบนซินแถวเรียง 4 สูบ ความจุ 2,488 ซี.ซี. ให้กำลัง 191 PS/141 kW ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 261 Nm ที่ 4,000 รอบ/นาที
ขณะที่ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าสร้างกำลังได้ 175 PS/129 kW ที่ 5,500 รอบ/นาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 270 Nm โดยแรงบิดสูงสุดจะมาแบบเต็มๆ ตั้งแต่มอเตอร์ไฟฟ้าเริ่มหมุน
เครื่องยนต์ SKYACTIV-G 2.5 ใน CX-60 e-SKYACTIV PHEV ใช้อัตราส่วนกำลังอัดที่สูงถึง 13:1 เพื่อให้ได้มาซึ่งการจุดระเบิดที่รุนแรง วิศวกรจึงต้องหาทางควบคุมตัวแปรทั้งหมดที่อาจก่อให้เกิดอาการน็อก เพื่อตัดวงจรการไหลของไอเสียย้อนกลับไปเข้าห้องเผาไหม้สูบอื่นที่มีลำดับการจุดระเบิดถัดไป ซึ่งลำดับการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ 4 สูบ จะอยู่ที่ ‘1-3-4-2’
นอกจากนี้ หัวลูกสูบภายในเครื่องยนต์ SKYACTIV-G ยังถูกออกแบบให้เป็นหลุม ในปลายจังหวะอัด ขณะลูกสูบเลื่อนเข้าปะทะกับฝอยละอองน้ำมันเชื้อเพลิงแรงดันสูง 30-200 บาร์ ที่ถูกฉีดรอบทิศทาง จากปลายหัวฉีดแบบ Direct Injection (Multi-hole Injectors) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรวมตัวของไอดี (น้ำมันเชื้อเพลิง + อากาศ)
- CX-60 e-SKYACTIV PHEV มีกำลังรวมจากระบบไฮบริด 327 PS ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 Nm ที่ 5,000 รอบ/นาที เฉพาะตัวมอเตอร์ไฟฟ้าสร้างกำลังได้ 175 PS ที่ 5,500 รอบ/นาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 270 Nm
สิ่งที่วิศวกร MAZDA ค้นพบกับการเผาไหม้ที่อุณหภูมิลดลง (จากการตัดวงจรการเข้ามาผสมของไอเสียที่ร้อนจัด) คือ เครื่องยนต์จะสร้างแรงบิดได้เพิ่มขึ้นในรอบปานกลางจนถึงรอบสูง
ส่วนรอบต่ำหรือขณะออกรถ CX-60 e-SKYACTIV PHEV มีมอเตอร์ไฟฟ้ากับแรงบิดระดับ 270 Nm มาทำหน้าที่เรียบร้อย ส่งผลให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ของ SUV ที่มีน้ำหนักตัวราว 2 ตัน เร็วเพียง 5.8 วินาที พร้อมความเร็วสูงสุดซึ่งถูกจำกัดไว้ที่ 200 กม./ชม. ตำแหน่งของมอเตอร์ไฟฟ้า (Integrated motor/generator) ถูกวางคั่นกลางระหว่างเครื่องยนต์กับกระปุกเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด เป็นเกียร์ลูกใหม่ที่ MAZDA ยินดีนำเสนอ เพราะตัดชุด ‘ทอร์คคอนเวอร์เตอร์’ ออก และแทนที่ด้วยชุด ‘คลัตช์แบบหลายแผ่นซ้อน’ (Multi-plate Clutch) ซึ่งทำงานได้ไวกว่า ก่อนส่งกำลังต่อไปยังระบบขับเคลื่อน i-ACTIV AWD
- แบตเตอรี่ถูกวางไว้ระหว่างเพลาหน้าและเพลาหลัง แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของ CX-60 e-SKYACTIV PHEV มีความจุ 8 kWh (355 V) และมีน้ำหนัก 175.1 กิโลกรัม
CX-60 ได้รับการพัฒนาขึ้นพร้อมแพลตฟอร์มใหม่ ใช้ชื่อ ‘Mazda’s Skyactiv Multi-Solution Scalable Architecture’ นอกจากรถ PHEV SUV (และ MHEV SUV) ชุดพื้นฐานโครงสร้างนี้ได้ออกแบบเผื่อ BEV SUV ในอนาคตด้วย โดยตำแหน่งของชุดแบตเตอรี่ถูกวางไว้ระหว่างเพลาหน้าและเพลาหลัง แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของ CX-60 PHEV มีความจุ 17.8 kWh (355 V) และมีน้ำหนัก 175.1 กิโลกรัม เมื่อแบตเต็มสามารถวิ่งด้วย EV Mode ได้ไกล 63 กิโลเมตร (WLTP) นับว่าเพียงพอสำหรับการเดินทางในเมือง และใน Normal Mode ซึ่งเป็นโหมดการทำงานของระบบไฮบริดมาตรฐาน เคลมอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาที่ 66.67 กิโลเมตร/ลิตร (WLTP) พร้อมตัวเลข CO2 ต่ำเพียง 33 กรัม/กิโลเมตร เท่านั้น
ถัดมาเป็น CX-60 MHEV ซึ่งใช้เทคโนโลยี Mazda’s MHEV48 Hybrid หรือระบบ Mild Hybrid ที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟ 48 โวลต์ รูปแบบเดียวกับระบบ MHEV ที่ค่ายรถยนต์เยอรมันติดตั้งให้เป็นมาตรฐาน สำหรับรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปทุกรุ่น ทว่า MAZDA แตกต่างด้วยการวางมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ภายในกระปุกเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด เช่นเดียวกับ CX-60 PHEV ขณะที่ระบบ MHEV จากผู้ผลิตฝั่งเยอรมันจะใช้รูปแบบ BAS (48-volt Belt Alternator Starter) ที่มีขนาดของมอเตอร์ไฟฟ้าและตำแหน่งการติดตั้งใกล้เคียงกับคอมเพรสเซอร์แอร์ในรถยนต์ปกติ ซึ่งตำแหน่งติดตั้งที่จำกัดของ BAS จะมีผลต่อขนาดของมอเตอร์ไฟฟ้า (กำลัง) ด้วยเช่นกัน
เทคโนโลยี M Hybrid Boost ของ CX-60 MHEV เป็นการจับคู่ระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้า กับเครื่องยนต์ดีเซลแถวเรียง 6 สูบ 24 วาล์ว DOHC ความจุ 3,283 ซี.ซี. (3.3 e-SKYACTIV D) ที่ถูกแตกออกเป็น 2 รุ่นย่อย ตามระบบขับเคลื่อนที่ใช้ คือ RWD (200 PS) และ AWD (254 PS) โดยเทคโนโลยีพื้นฐานทั้งหมดได้รับการต่อยอดมาจากเครื่องยนต์ SKYACTIV D ของ MAZDA อาทิ ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง Common Rail พร้อมหัวฉีดไพโซ (Multi-hole Piezo Injectors) ฉีดฝอยละอองน้ำมันด้วยแรงดันที่แปรผันตามโหลด
หัวฉีดเริ่มทำงานตั้งแต่ปลายจังหวะอัด ขณะลูกสูบเลื่อนขึ้นสู่ศูนย์ตายบน ในหนึ่งวัฏจักรการเผาไหม้สามารถฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณที่แตกต่างกันได้ถี่ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 9 ครั้ง แต่แบ่งออกเป็นการฉีดหลักๆ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ Pre-injection (ฉีดล่วงหน้า), Main-injection (ฉีดตามจังหวะปกติ) และ Post-injection (ฉีดหลังจังหวะการฉีดปกติ) เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์มากที่สุด
- มอเตอร์ไฟฟ้า M Hybrid Boost ใน CX-60 MHEV มีกำลัง 17 PS ที่ 900 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 153 Nm ตั้งแต่มอเตอร์เริ่มหมุน
CX-60 MHEV ใช้เทคโนโลยี Mazda’s MHEV48 Hybrid หรือระบบ Mild Hybrid ที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟ 48 โวลต์ รูปแบบเดียวกับระบบ MHEV ที่ค่ายรถยนต์เยอรมันติดตั้งให้เป็นมาตรฐานสำหรับรถที่ใช้เครื่องยนต์ทุกรุ่น
ทว่า MAZDA แตกต่างด้วยการวางมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ภายในกระปุกเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด เช่นเดียวกับ CX-60 PHEV ขณะที่ระบบ MHEV จากผู้ผลิตฝั่งเยอรมันจะใช้รูปแบบ BAS (48-volt Belt Alternator Starter) ที่มีขนาดของมอเตอร์ไฟฟ้าและตำแหน่งการติดตั้งใกล้เคียงกับคอมเพรสเซอร์แอร์ในรถยนต์ปกติ
เครื่องยนต์ดีเซลใน CX-60 MHEV ถูกแบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น RWD ปลดปล่อยแรงม้า 200 PS/147 kW ที่ 3,000-4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 Nm ที่ 1,400-3,000 รอบ/นาที
ขณะที่รุ่น AWD ทรงพลังกว่าที่ระดับ 254 PS/187 kW ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 550 Nm ที่ 1,500-2,400 รอบ/นาที สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้า M Hybrid Boost มีกำลัง 17 PS/12.4 kW ที่ 900 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 153 Nm ตั้งแต่มอเตอร์เริ่มหมุน ดังนั้น มอเตอร์จึงช่วยลดโหลดให้เครื่องยนต์ได้ไม่น้อยเลย CX-60 MHEV มาพร้อมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 0.33 kWh (44.4 V) ถ้าเทียบกับรุ่น PHEV แบตเตอรี่จะมีขนาดเล็กกว่ามาก
CX-60 MHEV รุ่น RWD เคลมอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 8.4 วินาที ขณะที่รุ่น AWD เร็วกว่าเล็กน้อยที่ 7.4 วินาที ความเร็วสูงสุดถูกล็อกไว้ที่ 212 และ 219 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยทำได้ 20.40 และ 18.86 กิโลเมตร/ลิตร และ ค่า CO2 ต่ำเพียง 127 และ 137 กรัม/กิโลเมตร ตามลำดับ
- CX-60 พัฒนาขึ้นพร้อมแพลตฟอร์มใหม่ ‘Mazda’s Skyactiv Multi-Solution Scalable Architecture’ รองรับทั้ง MHEV, PHEV และ BEV
i-ACTIVSENSE:
i-ACTIVSENSE เป็นตัวช่วยในกลุ่มของเล่นไฮเทค เปิดตัวครั้งแรกใน MAZDA6 มีทั้งที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และเป็นอุปกรณ์พิเศษสำหรับลูกค้าเลือกจ่ายเพิ่ม ซึ่งใน CX-60 ก็เช่นกัน จัดเป็นระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety)
อุปกรณ์หลักๆ ได้แก่ ระบบ ‘MRCC’ (Mazda Radar Cruise Control) ใช้เรดาร์คลื่นความถี่ 77 GHz สแกนการเคลื่อนที่ของรถคันหน้า ระบบสามารถควบคุมได้ทั้งการเร่ง และการเบรกโดยอัตโนมัติ ทำงานที่ความเร็ว 30-200 กม./ชม.,
‘FOW’ (Forward Obstruction Warning) ส่งเสียงสัญญาณเตือนให้ผู้ขับเพิ่มความระมัดระวัง เมื่อเรดาร์ตรวจพบระยะการหยุดรถที่ไม่ปลอดภัย
‘SBS’ (Smart Brake Support) ใช้เรดาร์และกล้องบริเวณมุมบนกึ่งกลางกระจกบังลมหน้า (Forward Sensing Camera) ตรวจสอบความเร็วที่ลดลงของรถที่เคลื่อนที่อยู่ด้านหน้า พร้อมทั้งสั่งให้ระบบ ‘FOW’ ส่งเสียงสัญญาณเตือนให้ผู้ขับแตะเบรกชะลอความเร็ว ทำงานที่ความเร็ว 15-145 กม./ชม.
Advanced ‘SCBS’ (Smart City Brake Support) ทำงานที่ความเร็วต่ำ ถูกออกแบบสำหรับการเดินทางในเมือง ใช้เรดาร์พิสัยใกล้ และกล้องตรวจจับการเคลื่อนที่ของรถคันหน้า พร้อมสั่งระบบเตรียมพร้อมสำหรับการเบรก เมื่อระยะห่างจากรถคันหน้าน้อยกว่า 6 เมตร ระบบนี้ทำงานที่ความเร็ว 4-30 กม./ชม., ‘HBC’ (High Beam Control) ปรับจากการใช้ไฟสูง มาใช้ไฟต่ำอัตโนมัติ เพื่อลดแสงไฟรบกวนรถคันอื่นที่ร่วมใช้ถนนอยู่, ‘LDWS’ (Lane Departure Warning System) ใช้กล้องตรวจจับเส้นแบ่งเลนบนผิวถนน เมื่อมีการเปลี่ยนเลนโดยไม่เปิดสัญญาณไฟ ระบบจะประเมินว่าผู้ขับอาจหลับใน จึงส่งเสียงสัญญาณเตือน, ‘BSM’ (Blind Sport Monitoring) ใช้เรดาร์พิสัยใกล้ ความถี่ 24 GHz ตรวจสอบรถที่เคลื่อนที่อยู่ด้านข้าง และเคลื่อนที่มาจากด้านหลัง พร้อมส่งสัญญาณไฟกะพริบเตือน เพื่อให้ผู้ขับเพิ่มความระมัดระวัง ก่อนการเปลี่ยนเลน
- เมื่อแบตเต็ม CX-60 e-SKYACTIV PHEV สามารถวิ่งด้วย EV Mode ได้ไกล 63 กิโลเมตร (WLTP)
- ระบบ i-ACTIV AWD กระจายแรงขับเคลื่อนระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง ได้ละเอียด แม่นยำ และฉับไวยิ่งขึ้น
i-ACTIV AWD:
หัวใจของระบบ i-ACTIV AWD คือ ชุดคลัตช์แบบหลายแผ่นซ้อน ซึ่งอยู่ถัดจากเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด การจัดสรรกำลังระหว่างเพลาหน้าและเพลาหลัง จะขึ้นอยู่กับระดับการจับตัว (กดติดกัน) ของชุดแผ่นคลัตช์ ซึ่งควบคุมด้วยชุด Electro-hydraulically ใช้ไฮดรอลิกในการกด โดยความควบคุมของระบบไฟฟ้า เพื่อความง่ายในการรับคำสั่งจากหน่วยประมวลผลกลาง
หลักการทำงานของชุดคลัตช์แบบหลายแผ่นซ้อนของระบบ i-ACTIV AWD ในรถยนต์ MAZDA อธิบายง่าย ๆ ได้ ดังนี้ เมื่อคลัตช์เปิด (ไม่ถูกกด) รถจะขับเคลื่อนด้วยล้อหลังเพียงอย่างเดียว
ในทางกลับกัน เมื่อคลัตช์ปิด (ถูกกดจนสุด) แรงขับเคลื่อนครึ่งหนึ่งจากล้อหลัง จะถูกแบ่งมาให้ล้อหน้า ซึ่งระดับในการกดของชุดคลัตช์ (หรือระดับในการกระจายกำลัง) จะแปรผันได้ตามรูปแบบการขับขี่ อัตราส่วนในการกระจายกำลังระหว่างล้อหน้า:ล้อหลัง จะอยู่ระหว่าง 0:100 ไปจนถึง 50:50
- CX-60 e-SKYACTIV PHEV เคลมอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่ 67 กิโลเมตร/ลิตร (WLTP) พร้อมตัวเลข CO2 ต่ำเพียง 33 กรัม/กิโลเมตร
- ใน EV Mode หรือขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ทำความเร็วสูงสุดที่ 100 กม./ชม. (CX-60 e-SKYACTIV PHEV)
ระบบ i-ACTIV AWD เน้นความฉับไวและแม่นยำในการตอบสนอง จากการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับสัญญาณถึง 27 จุด อาทิ การตรวจสอบสภาพถนน (เช็กจากความสมบูรณ์ในการส่งถ่ายกำลังของล้อขับเคลื่อน), พฤติกรรมในการขับ, อุณหภูมิภายนอกรถ, ระดับการเอียงถนน, องศาการหักเลี้ยวของพวงมาลัย ลงลึกแม้กระทั่งความเร็วในการทำงานของก้านปัดน้ำฝน ฯลฯ
MAZDA เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีพัฒนาการอย่างโดดเด่น จากการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างมาตรฐานในระดับเดียวกับรถยุโรป อีกทั้งยังเป็น Global Standard หรือมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก นั่นส่งผลให้ตลาดยุโรป รวมทั้งตลาดรถยนต์ทุกภูมิภาค ให้การยอมรับรถยนต์ MAZDA ยุคใหม่ มากกว่าผู้ผลิตร่วมสัญชาติหลายๆ ค่าย
ทั้งหมดเป็นวิสัยทัศน์จากผู้บริหาร MAZDA ที่กล้าคิดและทำในสิ่งที่แตกต่างจากกรอบเดิมๆ นับตั้งแต่เครื่องยนต์โรตารี ต่อเนื่องมาจนถึงเทคโนโลยี e-SKYACTIV ความสำเร็จไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะเพียงเรื่องการลดมลพิษจากการเผาไหม้ Fossil Fuel แต่มาตรฐานความปลอดภัยจาก MAZDA CX-60 ยังอยู่ในระดับสูงสุด (Euro NCAP 5-Star Safety Rating) เช่นเดียวกับรถยุโรปค่ายชั้นนำเลยทีเดียว
MAZDA CX-60 เผยโฉมที่ยุโรปบนสถาปัตยกรรมใหม่พร้อมระบบปลั๊กอินไฮบริด
MAZDA เผย 4 ขุมกำลังใน CX-60 สำหรับทำตลาดในบ้านตนเอง
เรื่อง: พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th