ยางรั่ว สาเหตุและวิธีแก้ไข
หากก่อนออกจากบ้านหรือขณะจอดรถที่สถานีบริการน้ำมัน แล้วสังเกตเห็นยางที่ล้อหนึ่งของรถแบนกว่าข้างอื่น จากนั้นจึงเติมลมแล้วขับต่อไป แต่ผ่านไปอีก 2-3 วันยางที่ล้อซึ่งเพิ่งเติมลมไปไม่กี่วันก็กลับมาแบนกว่ายางล้ออื่นอีก ต้องเติมลมยางอีกครั้ง แสดงว่าคุณกำลังเผชิญปัญหา ยางรั่ว ซึมอยู่
แม้จริงๆ แล้วในการใช้งานทั่วไปตามปกติลมยางจะอ่อนลงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วโดยจะออ่อนลงประมาณ 1-3 psi ต่อเดือน แต่หากการลดลงของลมยางมากกว่าปกติอย่างประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของลมยางที่เติม นั่นคือการรั่วที่ผิดปกติของยาง ซึ่งมีที่มาได้จากหลายสาเหตุ และไม่ควรปล่อยไว้ แล้วคิดว่าแค่เติมลมยางล้อนั้นบ่อยๆ ก็พอ เพราะอาจนำไปสู่ความเสียหายที่มากขึ้นและอันตรายได้
ยางรั่วเพราะอะไร
แม้ชื่อของปัญหาจะเรียกว่ายางรั่ว แต่สาเหตุการรั่วของลมยางสามารถมาได้จากทั้งที่ตัวยางเองและที่ล้อ โดยมักมีลักษณะของปัญหาที่แตกต่างกัน
– ถูกตะปูหรือวัสดุแหลมคมทิ่มตำ แน่นอนว่าปัญหาหลักๆ ของยางรั่วมักเกิดขึ้นที่ตัวยาง โดยมาจากการชำรุดหรือเกิดแผลที่ยาง และสาเหตุหลักอันดับต้นๆ ที่ทำให้ยางรั่วก็คือถูกตะปูหรือวัสดุที่แหลมคมบนถนนทิ่มตำที่หน้ายางหรือแก้มยาว โดยรูเล็กๆ บนยางจากการถูกตำจะสามารถทำให้ลมรั่วออกจากยางได้ถึง 2-3 psi ต่อวัน แต่หากสิ่งของที่แหลมคมนั้นยังทิ่มค้างอยู่ในยาง การรั่วของยางก็จะไม่รุนแรงนัก แต่ก็อย่านิ่งนอนใจเพราะควรนำสิ่งที่ทิ่มนั้นออกจากยางและแก้ไขปัญหาต่อไป
– ขอบยางชำรุด อีกปัญหาที่ยางซึ่งทำให้ลมรั่วออกจากยางมากกว่าปกติคือความเสียหายที่ขอบยางในส่วนที่อยู่ใต้ล้อ ซึ่งทำให้ซีลระหว่างยางกับล้อไม่สนิท นอกจากนี้ยางที่มีอายุการใช้งานนานหรือถูกผลิตออกมานานก็ยังทำให้ขอบยางมีความอ่อนตัวลงและเกิดการรั่วได้ รวมถึงแม้มีวัสดุขนาดเล็กแทรกอยู่ระหว่างขอบยางและล้อก็สามารถเป็นช่องทางทำให้ลมออกจากยางได้
– ความเสียหายที่แก้มยาง การขับรถผ่านหลุมลึกหรือเบียดขอบทางจนอาจทำให้เกิดการผิดรูปที่แก้มยางสามารถทำให้ลมยางรั่วได้
– แกนวาล์วหรือจุ๊บลมชำรุด นอกจากที่ยางแล้ว สาเหตุยางรั่วยังมาจากที่ล้อได้ด้วย โดยปัญหาหนึ่งจากล้อก็คือ ฝาปิดจุ๊บเติมลมยางเก่าและชำรุดจากการใช้ไปนานๆ แล้วสัมผัสกับสารเคมีหรือสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งการที่ฝาปิดจุ๊บเติมลมชำรุดหรือหายไปโดยไม่รู้ตัวหรือรู้แล้วแต่ไม่สนใจจะหามาปิดเหมือนเดิม สามารถทำให้กรวด น้ำ หรือสิ่งต่างๆ ที่มีขนาดเล็กเข้าไปที่จุ๊บเติมลมแล้วทำให้วาล์วภายในซึ่งป้องกันลมออกเสียหาย จนเกิดการรั่วได้
– ล้อคดหรือเบี้ยว ล้ออาจมีการสูญเสียรูปทรงกลมที่สมบูรณ์จากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสึกกร่อน หรือการกระแทกอย่างรุนแรงจนคดหรือเบี้ยวได้ ซึ่งโดยปกติแล้วการสึกกร่อนมักเกิดขึ้นในบริเวณที่ติดกับยางจึงทำให้เกิดการรั่วของลม ในขณะที่ล้อซึ่งคดจะทำให้เกิดการสั่นของรถซึ่งสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดการชำรุดของขอบยาง ที่เป็นสาเหตุของการรั่วซึมได้
หาตำแหน่งที่ยางรั่ว
หากพบว่ายางรถรั่วไม่ว่าจะจากการที่พบว่ายางที่บางล้อแบนกว่าปกติ ก่อนจะไปถึงการแก้ไขต้องมีการหาตำแหน่งการรั่วก่อนว่าอยู่ที่ส่วนใดของยางหรือเกิดขึ้นที่ล้อ โดยมี 3 วิธีในการหา
– ฟังเสียง และสัมผัส วิธีเบื้องต้นที่ง่ายที่สุดในการหาจุดรั่วคือฟังเสียง ซึ่งจะมีเสียงของลมที่รั่วออกเบาๆ ให้ได้ยินในบริเวณใกล้ๆ รอยรั่ว และเมื่อได้ยินแสียงแล้วลองสัมผัสในจุดที่รั่วก็จะรู้สึกได้ว่ามีลมผ่านออก โดยหากยางที่ตรวจสอบร้อน บริเวณที่รั่วจะร้อนกว่าส่วนอื่น
– พ่นน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟองที่ยาง อีกวิธีง่ายๆ ในการจุดรั่วของยางคือใส่น้ำสบู่หรือน้ำที่ผสมผงซักฟอกลงในที่ฉีดน้ำ แล้วฉีดหรือพ่นไปที่ยางทั้งในส่วนของจุกเติมลมยาง แก้มยางและหน้ายาง โดยจุดที่รั่วซึมจะปรากฏฟองน้ำใหญ่ขึ้นมา อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจต้องใช้เวลารอสักหน่อยหลังพ่นน้ำสบู่ไปแล้วโดยอาจใช้เวลาเพื่อดูว่าจุดใดของยางรั่ว
– แช่ยางลงในน้ำ ถอดล้อออกมาจากรถแล้วแช่ลงในน้ำ โดยจะสังเกตเห็นได้ว่ามีฟองน้ำเล็กๆ ออกมาจากบริเวณที่รั่วซึมของยางหรือจุกปิดที่เติมลมของยาง โดยควรแช่ล้อไว้ในน้ำประมาณ 5 นาทีแล้วพลิกบางอีกด้านเพื่อดูว่ามีรูรั่วที่อีกฝั่งของยางหรือไม่
แก้ปัญหายางรั่ว
สำหรับการแก้ปัญหา ยางรั่ว จะทำตามสาเหตุหรือจุดที่เกิดการรั่วซึ่งจะใช้วิธีที่แตกต่างกันไป
– ปะยาง เมื่อเกิดการรั่วซึมที่ยางจะแก้ไขโดยการปะยางซึ่งมี 3 รูปแบบคือปะยางแบบสตรีมร้อน, ปะยางแบบสตรีมเย็น และปะยางแบบสอดไส้หรือแทงเข็ม ซึ่งจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป โดยการปะยางแบบสตรีมร้อนหลังทำแล้วจะค่อนข้างทน รั่วซึมยาก ไม่ต้องกังวลเมื่อบรรทุกของหนัก แต่มีข้อเสียคือมีความเสี่ยงที่จะทำให้ยางเสียรูป รวมทั้งหากช่างฝีมือไม่ดีก็อาจทำให้ขอบยางฉีกขาด รวมทั้งเสี่ยงต่อยาวบวม
ส่วนการปะยางแบบสตรีมเย็นจะข้อดีคือไม่ทำให้ยางเสียรูป แต่มีข้อเสียคือรองรับน้ำหนักมากไม่ได้ โดยมักทำกับยางที่รั่วไม่มากหรือไม่ใช่รถที่มักบรรทุกของหนัก และการปะยางแบบสุดท้ายแบบสอดไส้หรือแทงเข็ม เป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วเพราะไม่ต้องถอดยาง รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายไม่แพง แต่การปะยางแบบนี้ทำกับแผลใหญ่ไม่ได้ รวมทั้งรอยปะอาจหลุดร่อนได้ และมีโอกาสรั่วซึมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามมีคำแนะนำว่าควรปะยางกับแผลหรือรอยที่ยาวไม่เกิน 6 มม. มีแผลที่แก้มยาง รวมทั้งยางที่มีความสึกหรอสูงหรือดอกยางไม่มาก
– เปลี่ยนแกนวาล์วหรือจุ๊บลม วิธีแก้ปัญหาวาล์วเติมลมที่ล้อชำรุดเสียหายจนยางรั่วคือเปลี่ยนแกนวาล์วหรือจุ๊บลมใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีป้องกันวาล์วเสียหายสามารถทำได้ง่ายๆ คือเปลี่ยนที่ปิดจุ๊บเติมลมทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนยาง เพื่อที่จะมีสภาพดีไม่
– ซ่อมล้อ สำหรับปัญหายางรั่วที่มาจากล้อคดอย่าเพิ่งคิดไปถึงว่าจะต้องเปลี่ยนล้อใหม่ เพราะยังสามารถแก้ไขล้อที่คดหรือเบี้ยวได้ด้วยการซ่อมล้อ ซึ่งมีหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นปาด กลึง เคาะ ดัด รีด อย่างไรก็ตามหากล้อคดมากอาจจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกันซึ่งจะทำให้ส่งผลต่อความทนทานของล้อเมื่อใช้งานต่อไปด้วย
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th