รถเรามีลูกหมากอะไรบ้างที่ต้องดูแล
ถ้าคุณใช้รถมาสักระยะหนึ่ง หรือ ตัวเลขระยะทางบนเรือนไมล์ประมาณ 30,000 – 40,000 กิโลเมตร คุณต้องไม่ลืมตรวจสอบระบบลูกหมากว่ามีความหลวมหรือคลอนขนาดไหน มีเสียงหรืออาการหลวมให้รู้สึกหรือไม่ เพราะการหลวมของระบบลูกหมากจะส่งผลต่อการควบคุมรถที่ด้อยประสิทธิภาพลง เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถเรามาดูกันดีกว่าว่า ระบบลูกหมากแต่ละอย่างมีหน้าที่อะไร
-ลูกหมากปีกนกบน-ล่าง จะถูกยึดติดไว้กับปีกนกทั้งบนและล่าง เพื่อทำให้ล้อเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างอิสระ ถ้าเกิดลูกหมากปีกนกอาการหลวมจะมีเสียงดัง กุกๆ ที่ช่วงด้านหน้า หากอาการหนัก บางครั้งเวลาขับจะมีอาการแฉลบตามลอนถนนหรือรอยต่อถนน
-ลูกหมากแร็คหรือไม้ตีกลอง จะยึดติดอยู่กับแกนแร็คพวงมาลัย ทำหน้าที่ถ่ายทอดแรงจากพวงมาลัย เพื่อบังคับล้อ ถ้าเกิดการชำรุดเสียงดังตอนตกหลุมหรือตอนหมุนเลี้ยว รวมถึงการควบคุมพวงมาลัยยาก ให้สันนิษฐานเลยว่าลูกหมากแร็คเสื่อม
-ลูกหมากคันชักหรือลูกหมากปลายแร็ค จะยึดติดกับดุมล้อในส่วนของระบบบังคับเลี้ยว มีหน้าที่รับคำสั่งจากคันส่งกลางหรือราวแร็ค แล้วปรับมุมล้อตามทิศทางที่ส่งกำลังมา ซึ่งถ้าลูกหมากคันชักหรือลูกหมากปลายแร็คเสื่อม พวงมาลัยมีอาการคลอน, รถมีอาการกินซ้าย – ขวา หรือ รถสั่น
เพื่อการใช้รถที่ปลอดภัยและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น เราควรตรวจเช็คระบบลูกหมากทุก 40,000 กม. ถ้าพบว่าลูกหมากเสื่อม ให้รีบเปลี่ยนทันทีเพื่อความสบายใจในการใช้รถและไม่ต้องลุ้นทุกครั้งที่เราขับรถบนท้องถนน
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th