รถโดนสวมทะเบียน ทำยังไงดี!!!
รถจอดอยู่บ้านดีๆ แต่โดนไปสั่งต่างจังหวัดแบบนี้เรียกว่า รถโดนสวมทะเบียน หรือไม่ ตอบตรงๆ เลยครับว่าใช่…เหมือนโดนรางวัลแจ็คพอตแต่ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน เพราะเราอาจตกเป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ถ้าผู้ที่สวมทะเบียนรถเรานำไปทำผิดกฎหมายร้ายแรง ในเมื่ออันตรายและเสี่ยงแบบนี้เรามาดูวิธีป้องกันตัวสักหน่อยเมื่อรู้ว่ารถเรามีทะเบียนคู่แฝดต้องทำอย่างไรบ้าง
เมื่อรู้ว่าโดนสวมทะเบียน อย่านิ่งนอนใจ
ทันทีที่มีใบสั่งส่งมาที่บ้าน แต่เราไม่ได้ขับรถเดินทางไปไหน ให้พึงสังวรเลยว่า รถโดนสวมทะเบียน เข้าแล้ว การป้องกันเบื้องต้นคือ ไปแจ้งความกับโรงพักที่ออกใบสั่งก่อน เพื่อยืนยันตนว่านั่นไม่ใช่รถของคุณ และเป็นการป้องกันตัวเบื้องต้นถ้ารถคันนั้นไปทำความผิดอย่างอื่นมาอีก ถัดมาให้ชี้แจงรายละเอียดรถยนต์ของคุณ ว่ามีความแตกต่างจากรถคันที่โดนสวมทะเบียนอย่างไร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบข้อมูล และ
ลบความผิดในใบสั่งออกจากระบบ
แต่ในกรณีที่โดนใบสั่งข้ามจังหวัดล่ะ!!! ในกรณีนี้ให้เรารวบรวมหลักฐานของเราเองให้ครบถ้วน เช่น รูปพรรณสัณฐาน สัญลักษณ์หรือจุดที่แตกต่างกับรถที่สวมทะเบียน เพื่อให้ตำรวจในพื้นที่ ทำการติดต่อเช็คประวัติรถดังกล่าวกับสถานีตำรวจที่ออกใบสั่ง และทำการส่งเอกสารใบลงบันทึกประจำวัน ไปยังสถานีตำรวจที่ออกใบสั่งเพื่อลบความผิด
ในใบสั่งออกจากระบบ
อย่างลืมนะครับถ้าเจอรถทะเบียนเหมือนเรา ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน เพื่อป้องกันตัวเองเวลามีคดีความหรือมีการกระทำความผิด ตำรวจมักตรวจสอบเลขทะเบียนก่อนเป็นอย่างแรก ซึ่งคนที่เดือดร้อนหรือซวยมักเป็นเจ้าของรถตัวจริง ต้องหาหลักฐานมายืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์กันวุ่นวาย
ทำไมถึงมีรถสวมทะเบียน
ต้องบอกเลยว่ามีรถจำนวนไม่น้อยที่วนเวียนอยู่ในตลาดมืด ส่วนใหญ่เป็นรถที่เอาไปจำนำกับพวกนายทุน รถขัดดอกบ่อนพนัน รถขาดส่งแล้วนำมาขายต่อแบบถูกๆ ให้กับพ่อค้าหัวใสย้อมแมวขายต่อในราคาพิเศษ โดยจะสวมป้ายทะเบียนปลอมตรงกับรุ่นและสีรถยี่ห้อเดียวกัน เพื่อเป็นการอำพรางเพื่อก่ออาชญากรรมหรือกระทำความผิด
จะรู้ได้อย่างไรว่ารถที่เราซื้อมาเป็นทะเบียนแท้หรือไม่
ในกรณีที่เราไม่ได้ซื้อรถใหม่มือหนึ่ง การตรวจเช็คเอกสารนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถ ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะสมุดคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ต้องถูกต้องตรงกับรถคันที่จะซื้อขายทุกรายการ ตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีรถประจำปีครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ พร้อมนำรถเข้าตรวจสภาพ และดำเนินการตามขั้นตอนโอนทางทะเบียนรถที่สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนด้วยตนเอง ถ้าทุกอย่างผ่านฉลุยก็มั่นใจได้ว่าเราได้รถถูกต้องตามกฎหมาย ทะเบียนแท้ไม่โดนสวมแน่นอน
สวมทะเบียนปลอม มีความผิดและรับโทษอย่างไร
การสวมทะเบียนปลอม คือการนำเอาทะเบียนรถคันอื่นมาใช้กับรถอีกคันหนึ่ง ไม่ว่าจะการปกปิด อำพราง หรือดัดแปลงแผ่นป้ายทะเบียน เช่น นำสติ๊กเกอร์รูปตัวเลขมาติดที่ป้ายหรือทำทะเบียนปลอมขึ้นมาเอง แบบนี้ถือว่าโทษสูงสุดก็คือการใช้ทะเบียนปลอม ซึ่งจะกลายเป็นความผิดอาญาต้องมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ตามกฎหมายดังนี้
“มาตรา ๒๖๕ ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท”
“มาตรา ๒๖๘ ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ หรือ มาตรา ๒๖๗ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ”
พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๖ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถดังต่อไปนี้ (๒) รถที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน
มาตรา ๖๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๑๔ รถใดที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น เว้นแต่เจ้าของรถนำรถไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อน
มาตรา ๖๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๑๑ รถที่จดทะเบียนแล้ว ต้องมีและแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th