รถไฟฟ้า มาแน่นะเทอ EP6. คำนวนค่าไฟสำหรับ EV “อย่าง โค – ตะ – ระ – ง่าย” !!!
หลังจากที่เราได้รู้จักกับ EV มาหลายตอนแล้ว ต้องมีข้อสงสัยว่า “เราจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับ EV นี้เท่าไร” ได้ยินแต่คำว่า “ประหยัดกว่าน้ำมันเยอะ” มันก็จริงครับ แต่มันจริงเพราะอะไร ตรงนี้จะต้องมีการ “คำนวณ” เป็น “ค่าไฟฟ้าต่อระยะทางการวิ่ง 1 กม.” ของ EV หลายคนอาจจะเคยหาข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ แล้ว มีอาการ “ดูงงๆ” จากตัวเลขและตัวหนังสือเยอะแยะ จริงๆ แล้วมันคำนวณได้ไม่ยากครับ เราจะทำให้มัน “โค – ตะ – ระ – ง่าย” แบบที่ “ใครก็คำนวณได้” แต่จะเป็นการคำนวณแบบ “โดยหลัก” นะครับ เพราะเงื่อนไขพฤติกรรมของแต่ละคนในการใช้ไฟฟ้า และ ใช้รถ EV นั้น จะมีความแตกต่างกัน ก็เลยขอให้ตัวเลขแบบ “กลมๆ” เป็นหลักครับ…
- ตั้งต้นด้วย “ค่าไฟฟ้า” ก่อน : จะคิดจาก “บ้านที่พักอาศัยแบบปกติ” เป็นหลัก ถ้าเป็นค่าไฟฟ้าแบบปกติ ไม่มี “อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างตามช่วงเวลาการใช้” หรือ “TOU” (Time of Use Rate) ประมาณ 5 บาท/หน่วย (Unit) ราคาเดียวเท่ากัน แต่ถ้าใครยื่นเรื่องขอทำ TOU ก็จะมี 2 เรต คือ ช่วง Peak ตั้งแต่ 9.00 – 22.00 น. ราคาประมาณ 5.8 บาท/หน่วย ซึ่งแพงมาก แต่ในช่วง Off – peak ตั้งแต่ 22.00 – 9.00 น. จะอยู่ที่ “2.63 บาท/หน่วย” (คิดจากไฟฟ้าแรงดันต่ำกว่า 22 กิโลโวท์ ซึ่งเป็นของไฟบ้านปกติ) ซึ่งเราจะคิดตามเรต Off – peak นี้ เพราะส่วนใหญ่การชาร์จ EV ก็มักจะเป็นเวลาช่วงกลางคืนที่อยู่บ้าน เราสามารถตั้งเวลาชาร์จไว้ตั้งแต่ 22.00 น. ก็จะได้เรตนี้ที่ราคาถูกกว่าช่วง Peak ครับ…
- ต้องทราบ “ความจุแบตเตอรี่” ก่อน : Battery Capacity ก็เหมือนกับ “ความจุถังน้ำมันรถปกติ” นี่เอง ไม่มีอะไรมากมาย เพียงแต่ ความจุถังน้ำมัน ที่เป็นของเหลว จะมีหน่วยเป็น “ลิตร” ส่วน แบตเตอรี่ จะคิดความจุเป็น “กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง” หรือ “kWh” ซึ่งรถแต่ละรุ่น มีความจุที่ไม่เท่ากัน แล้วแต่ขนาด ความแรง ราคา ฯลฯ เรายกตัวอย่าง รถรุ่นหนึ่ง สมมติเลขกลมๆ มีความจุแบตเตอรี่ อยู่ที่ 100 kWh แล้วยังไงต่อ…
- จับคูณด้วย “ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย” : พอได้ความจุแบตเตอรี่ เป็นหน่วย kWh แล้ว ก็ต้องมาคูณกับ “ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย” ต้องดูนะครับ ว่าคุณใช้ไฟฟ้าแบบ TOU หรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็ต้องคูณด้วยเรต 5 บาท คือ 100 x 4.5 ได้เท่ากับ “450 บาท” อันนี้คิดจากการชาร์จ 0 – 100 เปอร์เซ็นต์เต็มเลยนะครับ แต่ถ้ามี TOU แล้วชาร์จในช่วง Off – peak ก็ 100 x 2.63 ได้เท่ากับ “263 บาท” เราได้ค่าใช้จ่ายต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้งแล้ว…
- คำนวณ “ค่าไฟต่อ 1 กม.” จากระยะที่วิ่งได้ : สมมติว่า EV คันนี้ ชาร์จไฟเต็ม 100 kWh วิ่งได้ 500 กม. มาตรงนี้ง่ายแล้วครับ การคำนวณอัตราสิ้นเปลือง ใช้เหมือนกันกับรถน้ำมัน คือ “เอาค่าไฟตั้ง หารด้วยระยะทางที่วิ่งได้” ตัวอย่าง 450 หารด้วย 500 เท่ากับ “0.9 บาท” แต่ถ้ามี TOU ก็ยิ่งถูกไปอีก 263 หารด้วย 500 เท่ากับ “0.53 บาท” เราก็จะได้ “ค่าไฟต่อ 1 กม.” ได้แล้ว ตรงนี้ คุณจะพอทราบแล้วว่าใน 1 วัน 1 เดือน 1 ปี คุณจะเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร…
- การคำนวณนี้เป็นเพียง “ค่าเฉลี่ย” เท่านั้น : เรื่องของเรื่อง มันมี “ตัวแปร” อยู่มาก ตั้งแต่ “สไตล์ของรถยนต์” ถ้าตัวแรงๆ ก็กินไฟมาก แต่ถ้าเป็นรุ่นประหยัด ก็กินไฟน้อย รวมไปถึง “พฤติกรรมการขับขี่” Teen หนัก ก็กิน Teen เบา ขับแบบปกติ ก็กินน้อยหน่อย ก็เหมือนกับเครื่องยนต์นั่นแหละครับ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ EV ถ้าจอดเฉยๆ เช่น รถติดในเมือง จะกินไฟน้อย เพราะมันใช้แค่เลี้ยงระบบภายในรถ เช่น แอร์ เครื่องเสียง ไฟส่องสว่าง แต่มอเตอร์ขับเคลื่อนไม่ได้ทำงาน (ไม่เหมือนเครื่องยนต์ ที่แม้จะจอดติด เครื่องยนต์ก็ยังต้องทำงานอยู่) เพราะฉะนั้น เรื่องของระยะที่วิ่งได้ มันจึงมีการแปรผันอยู่ตามการใช้งาน แต่ละคนจะได้ระยะที่ไม่เท่ากันครับ…
- ตัวแปรอยู่ที่ “ข้อมูลตัวรถ” อีกประการ : อันนี้แล้วแต่ “แบรนด์” ของรถด้วยนะครับ อย่างแบรนด์ชั้นนำ ส่วนใหญ่จะ “แจ้งค่อนข้างตรง” แต่บางแบรนด์ ก็อาจจะมี “ค่าความคลาดเคลื่อน” ไปบ้าง ตัวเลขอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้…
บทสรุป ที่เราแนะนำวิธีการคำนวณนี้ เป็นเรื่อง “เบื้องต้น” ที่อาจจะดูยุ่งๆ หน่อย สำหรับคนที่ไม่เคย ผมเองก็เหมือนกันครับ มึนๆ เหมือนกัน แต่พอ “จับหลัก” ได้แล้ว ก็สามารถคำนวณได้อย่างง่ายดาย “ทุกคน” ครับ ครั้งหน้า ก็ยังอยู่กับ EV แต่เป็นเรื่องที่ “ไม่ควรทำ” ต้องติดตามครับ…
ขอขอบคุณ ข้อมูลด้านการคำนวณค่าไฟ จาก : Phithan Green – EV Charger Wallbox Alfen
อ้างอิงเรตค่าไฟฟ้า จาก : Rate2015Update.pdf (pea.co.th)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th