รถไฟฟ้า มาแน่นะเธอ เดอะ ซีรีส์ EP2. รถไฟฟ้าดียังไง ทำไมดีกว่าชาวบ้านเขา (หรา) ???
สไตล์ของ GRAND PRIX ONLINE เราก็จะเน้น “ความรู้แบบเบาสมอง แต่ไม่เบาปัญญา” อ่านง่ายได้ทุกเพศทุกวัย เป็นการนำเสนอเรื่อง “รถยนต์” ในแบบ “เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย” ที่ “มีประโยชน์” ในการนำไปพิจารณาในการเลือกซื้อรถยนต์ การบำรุงรักษา ข้อควรระวังต่างๆ เรื่อง “รถไฟฟ้า” ที่ตอนนี้ “เริ่มจุดชนวนกระแส” กันแล้ว เลยต้องเหลากันเป็นส่วยๆ ไป ครั้งนี้ เราก็มาต่อกันใน EP2 ซึ่งจะเหลากันว่า “รถไฟฟ้ามันดียังไง ทำไมดีกว่าชาวบ้านเขา” แต่มีต่อว่า “หรา” เพราะสรุปแล้วมันดีจริงแบบ “เขาว่า” เขาคือใคร ทำไมต้องเชื่อ เราเชื่อเหตุผลดีกว่าครับ…
- มลพิษจากตัวรถเป็นศูนย์ : ด้วยความที่รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบ “สันดาปภายใน” หรือ ICE จะใช้เชื้อเพลิงมาเผาไหม้เป็นพลังงานขับเคลื่อน จึงมี “ไอเสีย” ออกมา มี “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ออกมาทางท่อไอเสียด้วย ส่วนรถไฟฟ้า มันใช้พลังจาก “มอเตอร์ไฟฟ้า” ขับเคลื่อน จึงไม่มีการเผาเชื้อเพลิงใดๆ ให้เกิดมลภาวะทั้งสิ้น รวมไปถึง “ไม่มีพลังงานความร้อนแผ่กระจายออกมา” เหมือนเครื่องยนต์ จึงเหมาะสมกับการขับขี่ในเมืองเป็นหลัก…
- เงียบ : เครื่องยนต์ มีการ “จุดระเบิด” เพื่อเปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นพลังงานกล จึงเกิด “เสียง” ทั้งตัวเครื่องเอง และ เสียงที่ท่อไอเสีย ในปัจจุบัน แม้ว่าเสียงเครื่องยนต์จะเงียบลงไปมากแล้ว แต่รวมๆ แล้วหลายๆ คันมาแออัดกันในเมือง มันก็มีเสียงดังอยู่ดี แต่รถไฟฟ้าไม่มีเสียง เต็มที่ตอนเร่งก็มีเสียงวี๊ดดด เบาๆ เท่านั้นเอง แต่รถไฟฟ้าบางรุ่นก็ “ทำเสียงสังเคราะห์” ขึ้นมา เพื่อให้ “ผู้คนที่สัญจรไปมา” (Pedestrian) ได้รู้ว่า “มีรถมาแล้วนะ” ถ้าเงียบสนิทเลยอาจจะมีการเผลอโดนรถชนได้ แต่ถ้าเป็นรถ Super Car EV ก็จะสร้างเสียงให้ “เร้าใจ” ดีกว่าการขับเงียบๆ ซึ่งดูจะสวนทางกับความมันส์…
- แรงงงงงงงง & ขับง่าย : รถไฟฟ้า ตัวมอเตอร์มันมีกำลังต่อเนื่องตั้งแต่ “เริ่มทำงาน” ไม่เหมือนเครื่องยนต์ ที่จะต้อง “รอรอบการทำงาน” เพื่อให้มี “แรงบิดสูงสุด” รถถึงจะวิ่งได้ดี เอาง่ายๆ เราต้องเร่งจาก “รอบเดินเบา” แถวๆ 700 – 800 รอบต่อนาที เครื่องยนต์ถึงจะมีกำลังพอออกรถได้ แต่มอเตอร์ไม่ต้องครับ มันอยู่เฉยๆ พอแตะคันเร่งก็พร้อมทำงาน แต่ว่าถ้า “กระทืบจมทันใด” มันพร้อมจะกระโจนด้วยกำลังสูงสุดทันที จะเห็นได้ว่า TESLA เที่ยวเอารถไฟฟ้าของตัวเองไปขยี้กับ Super Car ให้อายม้วนเสื่อกลับบ้านไปเป็นแถว…
- ชิ้นส่วนน้อยกว่ามากๆ : เครื่องยนต์ตัวหนึ่ง มีชิ้นส่วนมากมาย เช่น เสื้อสูบ ลูกสูบ ก้านสูบ ข้อเหวี่ยง ปั๊มน้ำ สายพาน เฟือง ฯลฯ ท่อนบนก็มี ฝาสูบ วาล์ว แคมชาฟต์ หัวเทียน หัวฉีด ฯลฯ แล้วไอ้ส่วนยิบย่อยอีกนับพันชิ้นในเครื่องยนต์ และ “ส่วนประกอบอื่นๆ” เช่น ระบบน้ำมัน ท่อ ถัง ท่อไอเสีย ฯลฯ ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้ต้องมีการทำงาน เกิดเสียง เกิดการเสียดสี เกิดการสึกหรอ แต่รถไฟฟ้า มีแค่มอเตอร์ ระบบควบคุม (อันนี้ต้องมีอยู่แล้ว) และ แบตเตอรี่ เอาจริงๆ มันไม่มีอะไรซับซ้อนเลย หลักๆ มีแค่นี้จริงๆ…
- การบำรุงรักษาต่ำ : ด้วยความที่เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนแทบไม่มีอะไรเลย เอาง่ายๆ มันก็เหมือน “รถของเล่น” จะ รถกระป๋อง รถบังคับ ที่เล่นๆ กันอยู่นั่นแหละ หลักการเดียวกันเลยครับไม่ต้องคิดมาก ถ้ามันเสื่อม ก็เพียงแค่ “ถอดเปลี่ยน” เท่านั้น แทบจะไม่มีการซ่อมเลย จึงไม่เสียเวลาและเซอร์วิสง่ายกว่าเครื่องยนต์ที่มีชิ้นส่วนเยอะกว่ามาก…
นับว่าเป็นข้อดีของรถไฟฟ้าโดยหลักๆ แต่ว่า ยังมีประเด็นที่น่ารู้แฝงอยู่ ซึ่ง “เหรียญมีสองด้านเสมอ” มันไม่มีอะไรดีและเสียทั้งหมด และต้องมีข้อพิจารณาถึง “ความเป็นจริง” ในการใช้งาน ครั้งหน้า จะเป็นเรื่องใดนั้น ต้องติดตามกันครับ…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th