จะใช้รถไฟฟ้าต้องรู้จักการชาร์จ
กระแสรถไฟฟ้ามาแรงจริงในช่วงนี้ ทั้งแบบไฟฟ้าเพียว 100% และแบบปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเราเชื่อว่าน่าจะมีหลายๆ คนสงสัยในเรื่องการชาร์จไปและชนิดของหัวชาร์จ เพื่อสร้างความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นมาดูกันว่าชนิดของหัวชาร์จมีกี่แบบแล้วแยกประเภทกันอย่างไรบ้าง
1. การชาร์จฯแบบเร็ว QUICK CHARGER
การชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) สามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0% – 80% ได้ในเวลาประมาณ 40-60 นาที (ขึ้นอยู่กับความจุพลังงานแบตเตอรี่ กิโลวัตต์-ชั่วโมง) เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งประเภทหัวชาร์จของ Quick Charger ได้แก่ CHAdeMo, GB/T และ CCS
- หัวชาร์จแบบ CHAdeMO เป็นคำย่อจากคำว่า CHArge de Move แปลได้ว่า ชาร์จไฟแล้วขับต่อไป เป็นชื่อระบบชาร์จไฟฟ้าแบบเร็วสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งระบบ CHAdeMO มีการใช้แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น
- หัวชาร์จแบบ GB/T โดยประเทศจีนเป็นผู้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ภายในประเทศ ตอบรับการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่ารวดเร็วในประเทศ
- หัวชาร์จแบบ CCS
- คำว่า CCS ย่อมาจาก Combined Charging System ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท คือ
- CCS TYPE 1 เป็นหัวชาร์จที่ใช้กับรถยนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ลักษณะของหัวชาร์จมีขนาดเล็กกว่า CCS Type 2 และรองรับแรงดันไฟฟ้าที่ 200 V – 500 V
- CCS Type 2 เป็นหัวชาร์จที่นิยมใช้ในแถบทวีปยุโรป หัวชาร์จประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่กว่า และมีกำลังไฟมากกว่าหัวชาร์จ CCS Type 1 ด้วย
2. การชาร์จฯ แบบธรรมดา แบบ DOUBLE SPEED CHARGE (เครื่องชาร์จ WALL BOX)
การชาร์จแบบธรรมดาด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) เช่นตู้ชาร์จติดผนังติดตั้งที่บ้านหรือตามห้างสรรพสินค้า ระยะเวลาการชาร์จจะลดลง อยู่ที่ประมาณ 4-7 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของเครื่องชาร์จ Wall box, ขนาดของแบตเตอรี่ และสเปคของรถ
การชาร์จด้วยตู้ชาร์จติดผนังสามารถชาร์จได้รวดเร็วกว่าการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง โดยหัวชาร์จที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ
- TYPE 1 เป็นหัวชาร์จที่ใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น
- TYPE 2 เป็นหัวชาร์จที่นิยมใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในแถบทวีปยุโรป
ทั้งนี้การติดตั้งตู้ชาร์จติดผนัง มิเตอร์ไฟของบ้านที่ติดตั้งต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 30(100)A
3. การชาร์จฯ แบบธรรมดา แบบ NORMAL CHARGE
การชาร์จไฟจากการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง มิเตอร์ไฟของบ้านต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45)A และเต้ารับไฟในบ้านต้องได้รับการติดตั้งใหม่ เป็นเต้ารับเฉพาะการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถใช้เต้ารับแบบธรรมดาได้ ทั้งนี้การติดตั้งต้องได้รับมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานในระยะยาว
การชาร์จในลักษณะนี้มักจะเป็นการชาร์จแบบไฟฟ้ากระแสสลับ จึงใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 12-15 ชั่วโมง หัวชาร์จที่ใช้มีดังนี้
- TYPE 1 หัวชาร์จที่นิยมใช้ทวีปอเมริกาเหนือและประเทศญี่ปุ่น เป็นหัวชาร์จพลังงานไฟฟ้าแบบกระแสสลับใช้กับแรงดันไฟฟ้าที่ 120 V หรือ 240 V
- TYPE 2 หัวชาร์จที่นิยมใช้ในแถบทวีปยุโรป เป็นหัวชาร์จแบบพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ รองรับแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 120 V หรือ 240 V
ในอนาคตการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะไร้ข้อกังวล เนื่องจากเทคโนโลยีการชาร์จในปัจจุบันสามารถทำให้คุณติดตั้งตู้ชาร์จได้ที่บ้านของคุณเอง อีกทั้งสถานีบริการพลังงานไฟฟ้าของผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็มีแผนจะทำจุดชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารู้สึกสะดวกสบายมากขึ้นและสามารถเติมพลังงานได้ทุกที่ที่ต้องการ
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th