รถยนต์เหมือนเครื่องบินกระดาษอย่างไร? วิศวกรของฟอร์ดมีคำตอบ
คุณอาจคิดไม่ถึงเครื่องบินกระดาษนั้นมีหลายสิ่งเหมือนกับฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ เพราะหลักการที่ช่วยให้เครื่องบินกระดาษที่พับมาอย่างประณีตสามารถบินได้อย่างราบรื่นในอากาศนั้น คล้ายคลึงกับหลักการที่วิศวกรของฟอร์ดใช้ในการออกแบบฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์ที่ดีอย่างน่าทึ่ง
มร.ร็อบ คาร์สแตร์ นักอากาศพลศาสตร์ อาวุโส ฟอร์ด เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “ความลับของการสร้างเครื่องบินกระดาษดีๆ ซักลำอยู่ที่ความใส่ใจในรายละเอียด ทุกรอยพับที่พับบนกระดาษจะสร้างความแตกต่างระหว่างเครื่องบินที่บินได้ดีกับอีกลำที่บินตก ซึ่งฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ มีความคล้ายคลึงกันอยู่และไม่แตกต่างกันนัก ทีมงานของฟอร์ดใช้เวลานับพันชั่วโมงเพื่อขัดเกลาทุกๆ โครงสร้างและองค์ประกอบของฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่ารถมีประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์ที่ดีขึ้นหมายความว่ารถจะประหยัดน้ำมันมากขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าจ่ายค่าน้ำมันน้อยลง และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น ทีมวิศวกรของฟอร์ดได้เข้าใช้งานศูนย์วิจัย Automotive Research and Training (ACART) ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยที่สุดสำหรับรถยนต์ ตั้งอยู่ ณ ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟอร์ด ใกล้กับเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย”
อุโมงค์ลมของศูนย์วิจัย ACART มีลักษณะคล้ายกับโรงเก็บรถขนาดใหญ่ โดยทีมวิศวกรของฟอร์ด สามารถใช้อุโมงค์ลมวัดค่าด้านอากาศพลศาสตร์ของรถอย่างละเอียดภายใต้สถานการณ์จำลองอันหลากหลาย ซึ่งค่าที่ได้จากการวัดนี้ ทำให้วิศวกรสามารถระบุได้ว่าชิ้นส่วนใดในรถยนต์ต้นแบบของฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ ที่ทำให้เกิดแรงต้านอากาศและส่งผลให้รถยนต์มีประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์แย่ลง จากการจำลองสถานการณ์ในอุโมงค์ลมมากกว่า 100,000 ชั่วโมง ประกอบกับการปรับแก้การออกแบบอย่างละเอียดนับครั้งไม่ถ้วน ทีมวิศวกรสามารถลดค่าตัวเลขสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานของฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ เหลือเพียง 0.389 ซึ่งหมายความว่าฟอร์ด เอเวอเรสต์ มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานดีกว่ารถส่วนใหญ่ในขนาดเดียวกัน และค่าดังกล่าวยังส่งผลต่อการประหยัดน้ำมันที่มากขึ้น
https://youtu.be/swe30iHaGs0
การทำให้รถยนต์มีประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์เป็นเรื่องของการสร้างความสมดุล ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ต้องสามารถให้อากาศไหลผ่านได้ดีโดยไม่ส่งผลต่อสมรรถนะออฟโรดของรถ และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คาร์สแตร์และทีมงานของเขาได้ออกแบบชุดกันชนหน้าส่วนล่าง-แบบสามมิติขึ้นโดยติดตั้งอยู่ใต้กันชนหน้าของรถ ชุดกันชนนี้จะช่วยจัดการการไหลเวียนของกระแสอากาศใต้รถยนต์ ช่วยให้รถประหยัดน้ำมันมากยิ่งขึ้น ชุดกันชนหน้าส่วนล่างยังออกแบบมาให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อความสูงจากพื้นรถ-และมุมไต่ของรถ ส่งผลให้รถสามารถแสดงขีดความสามารถแบบออฟโรดได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ยังช่วยประหยัดน้ำมันมากขึ้นในยามขับขี่บนท้องถนน
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์ในฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ ได้แก่กระจกมองข้างทั้งสอง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดแรงต้านอากาศแล้ว กระจกมองข้างยังถูกออกแบบมาให้ลดเสียงลมที่เกิดขึ้นขณะขับรถโดยเปิดกระจก นอกจากนี้ แถบคิกเกอร์ที่ติดตั้งอยู่ที่ตัวถังด้านท้ายถัดจากกระจกหลังยังช่วยจัดการการไหลเวียนของกระแสอากาศและลดแรงต้านอากาศท้ายรถ
ฟอร์ด เอเวอเรสต์ อาจมีความแตกต่างจากเครื่องบินกระดาษอย่างมาก แต่กฎด้านอากาศพลศาสตร์ที่เกี่ยวข้องนับเป็นหลักการเดียวกัน โดยหัวใจของประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์คือการใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งทีมวิศวกรของฟอร์ดได้ทำตามหลักการดังกล่าวจนสามารถปรับแต่งค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอันส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์ในฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ ได้อย่างเหมาะสม และสร้างรถยนต์อันประณีต มีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดเงินตลอดอายุการใช้งาน พร้อมทั้งมอบประสบการณ์การขับขี่ที่เงียบและสะดวกสบายกว่า
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th