INJECTION…อีกไกลแค่ไหนถึงจะใกล้
ยุคนี้เรียกว่าก้าวเข้าสู่ยุคของระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอย่างเต็มตัว ถ้านับรถมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตออกมาจำหน่ายในช่วง 10 ปีย้อนไปเป็นต้นมา เรียกว่าแทบจะเลิกคบหากับคาร์บูเรเตอร์ไปเลยก็ว่าได้
ด้วยข้อจำกัดพัฒนาการของ ระบบหัวฉีดจ่ายเชื้อเพลิงมีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้มอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ ซี.ซี ต่ำขึ้นมา ติดตั้งระบบหัวฉีดมาแทบทั้งสิ้น ในทางปฏิบัติมันมีสองความต้องการที่ดูเหมือนสวนทางแต่ต้องไปด้วยกัน นั่นคือเรื่องของสมรรถนะและการใช้เชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า พ่วงด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้ามาอีกหน่อย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ อันนี้เราว่ากันในมาตรฐานสากลขั้นโรงงานที่เขาต้องยึดถือ เป็นข้อตกลงของทั่วโลกที่ต้องดูแลเรื่องมลพิษให้น้อยที่สุดจากการใช้งานยานยนต์
แต่ถ้าเป็นในระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ หรือการใช้งานทั่วไป ต้องการความแรง โดยไม่ต้องสนใจเรื่องของการใช้เชื้อเพลิงหรือสิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่ การป้อนเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ให้มากเพียงพอ หรือจะเหลือกินเหลือใช้ออกไปทางท่อไอเสียก็ไม่คิดมาก เพื่อรีดกำลังสูงสุดออกมา ลักษณะนี้การเพิ่มขนาดหัวฉีด ระยะเวลาในการฉีดให้ยาวนาน เหมาะสมตามองศาไฟจุดระเบิด จึงเป็นสิ่งที่ตามมา
แต่มันจะมีข้อสังเกตถึงการติดตั้งตำแหน่งหัวฉีดอยู่สักเล็กน้อย ว่าจุดไหนกันหนอที่มันจะเหมาะสม ในรถเดิมๆ จุดติดตั้งหัวฉีดที่แตกต่างมันให้ผลแบบไหน แล้วในรถที่โมดิฟาย ตำแหน่งติดตั้งหัวฉีดมันจะยังไง เราลองมาแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันสักเล็กน้อย
โดยพื้นฐานแล้วตำแหน่งการติดตั้งหัวฉีดเชื้อเพลิง จะถูกออกแบบให้อยู่ใกล้กับทางเข้าห้องเผาไหม้ มากที่สุด จากเดิมบางรุ่นติดตั้งในจุดท่อร่วมไอดีด้านหน้าวาล์วไอดี ต่อมาขยับให้ใกล้กว่านั้น โดยฉีดเข้าห้องเผาไหม้หรือหลังวาล์วไอเสียที่ไอดีไหลเข้ามาแล้ว เพื่อให้รวดเร็วทันต่อการจ่ายเชื้อเพลิง กำหนดปริมาณการฉีดได้แม่นยำ ซึ่งแบบนี้ถ้ามีหลายสูบก็จำเป็นต้องใช้หัวฉีดหลายหัวอย่างน้อยก็หนึ่งหัวต่อสูบ
แบบที่ติดตั้งหัวฉีดแบบฉีดตรงลงห้องเผาไหม้เลยนั้น มีข้อดีในเรื่องของการจ่ายเชื้อเพลิงแม่นยำ ประหยัด เผาไหม้หมดจรด ซึ่งรถที่มีสมรรถนะสูงรอบจัดในปัจจุบันจะนิยมใช้แบบนี้ แต่มันก็มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่เช่นเดียวกัน หากว่ามันมีหลายสูบพื้นที่ของฝาสูบจุดติดตั้งจะต้องแชร์กับวาล์วกับหัวเทียนอีก ขนาดของพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดมากในการออกแบบ แถมด้วยชุดสายไฟการควบคุมที่ต้องมีความทันสมัยเพียงพอ แต่ผลตอบแทนทางด้านสมรรถนะมันคุ้มค่า
ส่วนแบบที่ติดตั้งหัวฉีดในแนวท่อร่วมนั้น ถึงจะมีระยะทางของการเดินทางเชื้อเพลิงที่ไกลกว่า อาจจะเสียเปรียบสักเล็กน้อยสำหรับเรื่องของเวลาในการป้อนเชื้อเพลิง การเผาไหม้ในทางทฤษฏี การสะสมตกค้างของเชื้อเพลิงในท่อร่วม ถ้าหากมีข้อบกพร่องของอุปกรณ์นานไปจะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดพลาดได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องของการจุดระเบิดที่เพี้ยนไป แต่มันสามารถออกแบบให้ใช้จำนวนหัวฉีดเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องเท่าจำนวนสูบได้ เช่นอาจจะมีเพียงหัวฉีดตัวเดียวแต่อาจจะมีสองสูบ หรืออาจจะมีหัวฉีดสองตัวแต่มีสี่สูบก็ได้ โดยการออกแบบระบบควบคุมการฉีดให้เพียงพอและตรงตามจังหวะ พร้อมทั้งวางตำแหน่งหัวฉีดให้เหมาะสม
ทางเลือกปฏิบัติของโรงงานจะเลือกใช้การวางตำแหน่งหัวฉีดแบบตรงและใกล้ สูบใครสูบมันหรือเพิ่มปริมาณหัวฉีดให้มากกว่าจำนวนต่อสูบ เพราะมันจะยิ่งช่วยให้สามารถออกแบบการทำงานของเครื่องยนต์ได้หลากหลาย สร้างกำลังในรอบสูงอย่างทันท่วงทีแถมให้ความประหยัดหรือใช้เชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครบความต้องการ
ส่วนเรื่องของการโมดิฟายมันไม่มีข้อบังคับอะไรที่เข้มข้น ถึงจะวางตำแหน่งหัวฉีดอยู่ห่างจากทางเข้าวาล์วไอดีสู่ห้องเผาไหม ไม่ได้เป็นลักษณะการฉีดตรง แต่ใช้หัวฉีดขนาดใหญ่โอเวอร์ไซค์ วางการฉีดให้ยาวนานเหลือเฟือ เน้นการเล่นรอบสูงหรือจังหวะรอบที่ต้องการ แบบนี้มันจึงหาความแตกต่างได้ยาก เรียกว่าตำแหน่งการติดตั้งหัวฉีดมันอยู่ที่ความเหมาะสมของข้อจำกัดการสร้างเครื่องยนต์นั้นๆ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมนั่นเอง…
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
เครดิตภาพ: www.topsimages.com / http://www.fai.com.cn / www.rbracing-rsr.com / autoevolution
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th