ระวังให้ดี! รถหนีไฟแนนซ์ ผิดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
คำว่ารถหนีไฟแนนซ์อาจเป็นสิ่งที่หลายๆ คนเคยได้ยิน แต่อาจไม่เคยพบเห็นกับตัวทั้งที่จริงๆ แล้วรถที่วิ่งอยู่บนถนนอาจมีรถในลักษณะนี้ปะปนอยู่ หรือมีขายในอยู่ในลักษณะรถมือสอง ซึ่งรถเหล่านี้เกิดจากการที่ผู้ซื้อรถโดยการทำสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์แล้วไม่สามารถผ่อนต่อได้ตามสัญญา ซึ่งผู้ที่ไปซื้อรถเหล่านี้ไว้ใช้งานต่อก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้นลองมาดูถึงรายละเอียดเกี่ยวกับรถหนีไฟแนนซ์ว่าเป็นอย่างไร และมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
รถหนีไฟแนนซ์คืออะไร
การที่รถยนต์คันหนึ่งจะถูกระบุว่าเป็นรถหนีไฟแนนซ์ มาจากการที่ผู้เช่าซื้อรถได้ค้างชำระค่างวด 3 งวดติดต่อกัน แล้วทางไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้เช่าซื้อได้ออกหนังสือมาให้ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ภายใน 30 วัน โดยหากผู้เช่าซื้อนิ่งเฉยไม่ยอมชำระ ผู้ให้เช่าซื้อจะมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาแล้วเข้าสู่กระบวนการยึดรถ ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนี้หากผู้เช่าซื้อรถรอเจ้าหน้าที่ของไฟแนนซ์มายึดรถโดยดีก็จะไม่มีปัญหา แต่หากผู้เช่าซื้อนำรถไปขายต่อโดยการโอนลอยให้กับผู้อื่นหรือเต็นต์ หรือนำรถไปจำนำแล้วปล่อยขาดซึ่งรถจะถูกนำไปขายทอดตลาดหรือประมูลอีกที โดยหวังว่าจะได้เงินจากที่ผ่อนไปคืนสักก้อนหนึ่ง รถคันที่อยู่ในรายการยึดของไฟแนนซ์นี้ จะถูกเรียกว่า รถหนีไฟแนนซ์
ซื้อรถหนีไฟแนนซ์ผิดกฎหมายหรือไม่
บางคนอาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรถหนีไฟแนนซ์โดยไม่รู้ตัว เมื่อซื้อรถมือสองไว้ใช้งาน เนื่องจากรถหนีไฟแนนซ์มักเป็นรถรุ่นใหม่ และราคาถูกกว่ารถมือสองรุ่นเดียวกันทั่วไป รวมไปถึงยังอาจมีสภาพดีด้วย ซึ่งหากใครที่ซื้อรถมาแล้วเกิดสงสัยว่าอาจเป็นรถหนีไฟแนนซ์ หรือก่อนจะซื้อรู้อยู่แล้วว่าอาจเป็นรถหนีไฟแนนซ์แต่ยังสนใจเนื่องจากราคาล่อใจ แล้วสงสัยว่าจะผิดกฎหมายและมีปัญหาตามมาหรือไม่ กรณีนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ
1 ซื้อจากเจ้าของโดยตรง แล้วโอนรถเปลี่ยนชื่อกับไฟแนนซ์ หากเป็นลักษณะนี้จะไม่ผิดกฎหมายและไม่มีปัญหาตามมา เพราะถึงเจ้าของเดิมจะค้างชำระ แต่ถ้าทำการเจรจาประนีประนอมชำระค่างวดพร้อมกับเปลี่ยนชื่อผู้เช่าซื้อให้เรียบร้อย ผู้ซื้อก็ใช้รถไปได้สบายใจไม่ต้องกลัวปัญหาที่ตามมา
2 ซื้อรถมือสองโดยไม่ทราบที่มา หากรถที่ซื้อจากเต็นต์รถหรือประกาศขายโดยที่มีการโอนลอยไว้ให้ซึ่งเป็นรถหนีไฟแนนซ์ จะเกิดปัญหางานเข้าขึ้นมาทันที เพราะต้องคอยระวังว่าไฟแนนซ์จะมาเจอรถแล้วฟ้องร้องขึ้นมา ซึ่งทำให้ผู้ซื้อรถถูกดำเนินคดีเนื่องจากอยู่ในขบวนการขโมยรถของไฟแนนซ์ด้วย โดยสิ่งที่ตามมานอกจากจะเสียรถแล้วยังต้องเสียเวลาไปกับคดีรวมทั้งมีประวัติคดีความติดตัวด้วย ดังนั้นเมื่อจะซื้อรถมือสองจึงควรดูดีๆ ว่าไม่ใช่รถหนีไฟแนนซ์
ขายรถหนีไฟแนนซ์ผิดกฎหมายหรือไม่
ผู้ค้างชำระค่างวดเกิน 3 เดือนจนรถอยู่ในรายการยึดของไฟแนนซ์ หากนำรถไปขายต่อไม่ว่าจะกับเต็นต์รถ บุคคลอื่น หรือนำรถไปจำนำ เพื่อหวังจะได้เงินที่ผ่อนไปคืนสักก้อน อย่าคิดว่าเรื่องระหว่างตนเองกับไฟแนนซ์จะจบ แล้วปัญหาไปตกอยู่กับผู้ซื้อรถแทน เนื่องจากตามกฎหมายในระหว่างเช่าซื้อรถ เจ้าของรถจริงๆ คือไฟแนนซ์ ส่วนผู้ซื้อรถเป็นเพียงผู้เช่าซื้อเท่านั้น ดังนั้นหากไม่สามารถติดตามรถมาคืนไฟแนนซ์ได้ ผู้เช่าซื้อรถที่ขายรถไปจะมีความผิดทางอาญาข้อหายักยอกทรัพย์
ถ้าค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดควรแก้ปัญหาอย่างไร
มีหลายวิธีที่พอจะใช้เพื่อแก้ไขในกรณีที่ผู้เช่าซื้อรถผ่อนชำระไม่ไหวจริงๆ อย่างเจรจาขอผ่อนปรนสัญญาเช่าซื้อกับทางไฟแนนซ์ ซึ่งอาจทำให้มีดอกเบี้ยเพิ่ม โดยควรทำการปรึกษาไฟแนนซ์ก่อนที่จะค้างชำระถึง 3 งวดติดต่อกัน หรือหากคิดว่าผ่อนไม่ไหวจริงๆ แล้วไม่อยากเก็บรถเอาไว้ก็ควรหาทางขายรถออกไปโดยมีการเปลี่ยนสัญญากับไฟแนนซ์ให้ถูกต้อง รวมไปถึงการยกรถให้คนอื่นผ่อนต่อฟรีๆ โดยเปลี่ยนสัญญากับไฟแนนซ์ให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการถูกยึดรถ และเมื่อนำไปประมูลขายทอดตลาดแล้ว ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาของรถที่ถูกขายไปกับจำนวนหนี้ที่เหลืออยู่กับไฟแนนซ์ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายๆ จากการยึดรถของไฟแนนซ์
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th