รีวิว Ford Ranger Raptor กระบะความเร็วสูง โคตรพระกาฬ!
ณ ตอนนี้คงไม่มีรถกระบะรุ่นไหนที่เป็นกระแสให้พูดถึงมากเท่ากับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์” (Ford Ranger Raptor) ที่มี DNA ของ Ford Performance อย่างแน่นอน ใช่สิ! เพราะนอกจากจะชิงพื้นที่สื่อในโซเชียลมีเดียในทุกช่องทางแล้ว ยังจัดให้สื่อไทยได้ทดลองขับกันแบบสุดขั้วถึงใจวัดความแกร่งกันแบบชัดๆ อีกต่างหาก ที่สำคัญถ้ามันไม่แน่จริง คงไม่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูขนาดนี้แน่นอน
แล้วเจ้าแรปเตอร์คันนี้มันมีดีตรงไหน? รถกระบะราคาตั้ง 1,699,000 บาท ที่ราคาสูงกว่า เรนเจอร์ Double Cab 2.0L Bi-Turbo Wildtrack 4×4 10AT ที่มีราคา 1,265,000 บาท อยู่ถึง 434,000 บาท ส่วนต่างที่สามารถซื้อรถอีโคคาร์ได้อีกตั้ง 1 คัน? หลายคำถามพุ่งประเด็นไปที่ราคาที่สูงมาก ถ้าหาชุดช่วงล่างชุดใหญ่ดีๆ มาสักชุดก็น่าจะเอามาเทียบเคียงกันได้แล้ว แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิดด้วยเหมือนกัน มันไม่แปลกเพราะยังไม่ได้สัมผัสของจริง กระทั่งได้ลองมาแล้วต้องยอมรับว่า ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เป็นรถกระบะความเร็วสูง ช่วงล่างยอดเยี่ยม ฉลาดและปราดเปรียว สร้างความประทับใจได้อย่างไม่คาดคิด!
เส้นทางที่ทดสอบเริ่มต้นจากพื้นผิวถนนธรรมดาจากสาธรไปสู่ อ.ปางช่อง จ.นครราชสีมา แล้วไปลองแบบออฟโรดบนเส้นทางที่สร้างเอาไว้เพื่อทดสอบโดยเฉพาะที่สนาม 8 Speed เขาใหญ่ และวันรุ่งขึ้นจัดหนักด้วยเส้นทางออฟโรดที่ครบทั้งพื้นผิวที่ทุ่งกังหันลมห้วยบง วัดใจและวัดสมรรถนะกันแบบตื่นตาตื่นใจปลุกทุกประสาทสัมผัสกันเลยทีเดียว
มาเข้าเรื่องกันแบบไม่ต้องเยิ่นเย้อขอเน้นเรื่องสมรรถนะการขับเป็นหลัก..การขับบังคับควบคุม ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ บนถนนทั่วไปด้วยการขับเคลื่อนแบบออโต้ในโหมดปกติมีความต่างจากเรนเจอร์ ไวด์แทร็ค ในเรื่องของอัตราเร่งและการเปลี่ยนเกียร์เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเปลี่ยนสู่โหมดสปอร์ตแล้วอารมณ์เปลี่ยนทันที ทั้งอัตราเร่งและการควบคุมที่มั่นใจมากขึ้น
ขุมพลังดีเซลใหม่แบบ Bi-Turbo ขนาด 2.0 ลิตร ที่ให้แรงม้าสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบต่อนาที และแรงบิดระดับ 500 นิวตันเมตร ที่ 1,750 – 2,000 รอบต่อนาที ที่ทำงานร่วมกับเทอร์โบแรงดันสูงแต่มีขนาดเล็กร่วมกับเทอร์โบลูกใหญ่ที่มีแรงดันต่ำกว่าทำให้อัตราเร่งทำได้น่าประทับใจ เสียงเครื่องยนต์คำรามแบบทุ่มต่ำสร้างอารมณ์สนุกได้อย่างไม่น่าเชื่อ และด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีดที่ผลิตจากเหล็กกล้า อะลูมิเนียมอัลลอยและคอมโพสิทที่ให้ความทนทาน มีน้ำหนักเบา ให้อัตราการทดเกียร์ที่แคบ เปลี่ยนเกียร์ได้อย่างแม่นยำ รวมเร็วและต่อเนื่อง ไม่รู้สึกถึงจังหวะการเปลี่ยนเกียร์เลยแม้แต่น้อย ทำให้การขับลื่นไหลได้อย่างวิเศษ แล้วยังให้ Paddle Shift มาใช้งานอีกด้วย
ในช่วงทางตรงมีระยะทางพอที่จะทำท็อปสปีดได้ ผู้เขียนไม่รอช้าปรับเข้าสู่โหมดสปอร์ตพร้อมออกตัวกดคันเร่งในทันที (แร็พเตอร์ มี 6 โหมดการขับให้เลือกคือ โหมดปกติ, สปอร์ต, หญ้า/กรวด/หิมะ, โคลน/ทราย, หิน และ บาฮา) รอบเครื่องกวาดสูงขึ้นพร้อมกับความเร็วในการออกตัวที่ไม่ได้รู้สึกถึงแรงดึงให้ติดเบาะ แต่ความเร็วประสานแรงบิดสร้างพละกำลังได้อย่างต่อเนื่องจาก 0-100 กม./ชม. เพียงไม่กี่อึดใจ แล้วเข้าสู่ความเร็วช่วง 140 กม./ชม. ไปถึง 168 กม./ชม. จากนั้นเข็มความเร็วจะไม่ค่อยกระตือรือร้นสักเท่าไหร่…ผลที่ได้คือ อัตราเร่งช่วงต้นและกลางในระดับที่เป็นรถกระบะทำได้ดี แต่ช่วงปลายจะตันๆ เสียงในห้องโดยสารค่อนข้างเงียบมีเสียงเครื่องยนต์ขู่เข้ามาพอให้สนุก เสียงยาง All Terrain BF Goodrich ขนาด 285/70 R17 ที่บดไปกับถนนน้อยมาก การเก็บเสียงลมดีมาก จะเริ่มได้ยินเสียงลมเข้ามาในช่วงความเร็วตั้งแต่ 140 กม./ชม. เป็นต้นไป ระบบช่วงล่างของ FOX Racing Shox ที่ใช้ลูกสูบขนาด 46.6 มม.ทั้งคู่หน้าและหลัง ที่ออกแบบมาให้มีระยะการให้ตัวของล้อสูงเพื่อซับแรงกระแทกขณะขับแบบออฟโรด เมื่อขับบนพื้นผิวทางที่เรียบ ระบบบายพาสภายใน (Internal Bypass Technology) ก็ทำให้การขับบนทางเรียบราบรื่นและยึดเกาะโค้งได้อย่างน่าประทับใจ แต่มีจุดที่ควรระวังคือ หากใช้ความเร็วสูงบนทางแบบนี้ ต้องเผื่อระยะเบรกเอาไว้มากกว่าปกติ เพราะด้วยน้ำหนักตัวถังที่ค่อนข้างมาก อย่าเผลอเป็นอันขาด! แม้ว่าระบบเบรกจะมาด้วยชิ้นส่วนพิเศษที่ทำขึ้นมาเฉพาะรุ่น โดยคาลิปเปอร์เบรกคู่หน้าเป็นแบบลูกสูบคู่ที่เพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขึ้น 9.5 มม. พร้อมกับจานเบรกคู่หน้าแบบมีครีบระบายความร้อนที่ใหญ่ขึ้น 332×32 มม. และยังเป็นครั้งแรกที่ใส่ดิสก์เบรกหลังมาพร้อมกับระบบ Brake Actuation Master Cylinder คู่กับคาลิปเปอร์เบรกขนาด 54 มม. ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเบรกให้ดีขึ้น แต่ผู้ขับควรเว้นระยะห่างจากคันหน้าในพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดด้วยเช่นกัน
ในส่วนของการขับแบบทางเรียบถือว่าทำได้ดีมากหากเทียบกับคู่แข่งในตลาด จุดที่ต้องชมคือช่วงล่างที่รองรับการใช้งานได้ในทุกย่านความเร็ว คนนั่งเบาะหลังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าด้านหลังนุ่มนวล ไม่กระด้าง เวลาเข้าโค้งไม่เวียนหัว ไม่เหมือนนั่งรถกระบะ จะมีข้อติติงที่ว่าเมื่อนั่งเดินทางนานๆ จะมีอาการเมื่อยหลังอยู่บ้าง เพราะองศาเบาะหลังที่ชันไปหน่อยเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นรถกระบะความเร็วสูงอย่างแท้จริง (รวมทั้งเป็นตัวดึงดูดใบสั่งเพราะขับรถเร็วด้วยเช่นกัน)
มากันที่ไฮไลท์จุดแรกที่สนาม 8 Speed เขาใหญ่ ที่นี่ทางทีมงานได้จัดพื้นที่ให้เป็นสถานีทดสอบระบบขับเคลื่อนและโหมดการขับแบบครบถ้วนทั้งการปีน ไต่ ขึ้นเนิน และพุ่งขึ้นเนินกระโดดด้วยความเร็วที่หลายคนอยากลอง ซึ่งแชสซีของแร็พเตอร์ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ผลิตจากเหล็กอัลลอย HSLA (High-Strength Low-AlloY) เพื่อการขับแบบออฟโรดด้วยความเร็วสูงและทนต่อแรงกระแทก ดูจากสเปคแล้วค่อนข้างมั่นใจ แต่เมื่อลองขับรอบแรกจะรู้สึกกลัวๆ นิดหน่อย เพราะไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะกับการขับปีนเนินที่หากกะด้วยระยะสายตาแล้วแคร้งกันกระแทกด้านหน้าต้องมีปักดินแน่ๆ แต่เจ้าแร็พเตอร์ผ่านได้สบายด้วยความสูงใต้ท้องเครื่องที่สูง 283 มม. สูงกว่ากระบะยกสูงสแตนดาร์ดทั่วไป และมีมุมไต่ที่ 32.5 องศา มุมคร่อมที่ 24 องศา และมุมจากที่ 24 องศา ซึ่งมากพอที่จะขับผ่านไปได้แบบไม่ต้องกังวล ทำให้การขับซ้ำอีกรอบสบายใจขึ้นกดคันเร่งลุยได้เต็มที่
และจุดที่พีคสุดๆ กับภาพที่หลายคนเห็นว่าเจ้าแร็พเตอร์คันนี้บินได้ ซึ่งมันแค่การกระโดดจั๊มเนินแค่นั้นเอง ซึ่งรถแข่งออฟโรดทำได้ทุกคัน..ตรงจุดนี้ต้องแนะนำว่าไม่ควรไปทดลองขับกันเอง แม้ว่าตัวรถจะมีความปลอดภัยสูง แต่ทักษะก็เป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงการเตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งสนามที่ใช้มีการทำขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อทำให้เห็นถึงสมรรถนะของช่วงล่างว่าสามารถรองรับการใช้งานได้ขนาดไหน
โดยเนินที่ว่านี้ต้องใช้ความเร็วที่ 80 กม./ชม. และปรับเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้โหมดบาฮา เมื่อกดคันเร่ง แรงบิดถ่ายทอดลงสู่ล้อทั้งสี่ตะกุยดินจนหญ้ากระจุย เสียงเครื่องยนต์คำรามเป็นสัญญาณความแรงแล้วรถพุ่งทะยานด้วยความว่องไว แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากพื้นผิวที่ขรุขระไม่ส่งผลต่อการควบคุมและบังคับเลี้ยว เมื่อทะยานขึ้นเนินดิน ตัวรถพุ่งด้วยความเร็วไปข้างหน้าโดยที่ล้อทั้งสี่ลอยอยู่บนอากาศ เพียงเสี้ยววินาทีน้ำหนักตัวรถทำหน้าที่ตามแรงโน้มถ่วง ล้อทั้งสี่กระแทกลงบนพื้นดินอย่างรุนแรง! ถึงขนาดขวดน้ำที่เสียบอยู่ที่แผงประตูลอยกระเด็นมาถึงข้างหน้า แต่พวงมาลัยยังคงนิ่งไม่มีแกว่ง ช่วงล่างที่แข็งแกร่ง โช้คอัพคู่หน้าและหลังของ Fox Racing Shox ทำหน้าที่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ และผู้ขับสามารถควบคุมรถได้อย่างปกติ ขับด้วยความเร็วต่อเนื่องได้ทันที ซึ่งหากเป็นรถสแตนดาร์ดทั่วไปรับรองว่ามีสะเทือนมาถึงพวงมาลัยและควบคุมไม่ได้แน่นอน เป็นความรู้สึกที่สุดยอดมาก และต้องย้ำเตือนกันอีกครั้งว่านี่เป็นการทดสอบบนสถานที่เฉพาะ ไม่ควรนำรถออกไปขับแบบนี้ เพราะปกติแล้วคงไม่มีใครขับรถไปกระโดดเนินเล่นเป็นแน่ แล้วคำถามที่ตามมาคือ การกระแทกแบบรุนแรงนี้จะทำให้ช่วงล่างมีปัญหาหรือโช้คอัพพังได้หรือไม่..คำตอบคือมีโอกาสเสียหายและพังอย่างแน่นอน หากใช้งานแบบที่ทดสอบนี้บ่อยๆ รถแข่งแบบออฟโรดยังต้องเปลี่ยนอะไหล่เมื่อแข่งจบ เจ้าแร็พเตอร์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งด้วยการทดสอบอย่างโหดหลายๆ ครั้ง เท่าที่นับได้มีมากกว่า 60 ครั้ง รถยังคงปกติ มีเพียงเสียงดังจากเบรกบ้างเล็กน้อย หากใช้งานกันแบบปกติมั่นใจว่าด้วยช่วงล่างและโช้คอัพที่ฟอร์ดจัดให้มา รองรับการใช้งานหนักแบบเกินทั่วไปได้อย่างแน่นอน
ส่วนในวันถัดมาเป็นการลองขับบนเส้นทางออฟโรดที่ทุ่งกังหันลมห้วยบง ที่แห่งนี้พื้นผิวส่วนใหญ่เป็นหินกรวด ทรายและโคลน ซึ่งเหมาะกับการทดสอบสมรรถนะระบบขับเคลื่อนและโหมดการขับที่มีมาให้ถึง 6 โหมดเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งในบางจุดยังมีพื้นผิวที่เป็นบ่อโคลนและลื่น โดยทางทีมงานแนะนำว่าควรปรับเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และปรับโหมดบาฮา เพื่อความเร้าใจและความปลอดภัย ซึ่งในแต่ละเส้นทางจะมีการกำกับความเร็วสูงสุดเอาไว้เพื่อความปลอดภัย บางช่วง 40 กม.ชม. บางช่วง 80 กม.ชม. (แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ขับกันเกินทั้งนั้น)
ผู้เขียนโชคดีหน่อย เพราะเป็นคนขับมือแรกจากที่พักมาที่ทุ่งกังหันลมห้วยบง และได้ขับสำรวจเส้นทางก่อนในรอบแรก ทำให้มีโอกาสขับได้เยอะหน่อย โดยในรอบแรกลองขับด้วยระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ ผลปรากฎว่าทำเอาหวาดเสียวทั้งคนขับคนนั่ง เลี้ยวยากและควบคุมการเข้าโค้งได้ลำบาก จึงปรับเป็นแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4H พร้อมโหมดบาฮา ผลที่ได้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง การเลี้ยวแบบขับ 4 บนความเร็วต่ำจะใช้วงเลี้ยวที่กว้างและดูเชื่องช้า แต่พอทำความเร็วแล้วกลับเข้าโค้งได้ง่าย น้ำหนักพวงมาลัยไม่หนัก ช่วยให้คุมทิศทางได้ง่าย แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากพื้นผิวไม่สะเทือนมาถึงพวงมาลัยสักนิด
ลองเติมคันเร่งเข้าโค้งด้วยความเร็วแตะ 100 กม./ชม. (โค้งนี้จำกัดความเร็วที่ 80 กม./ชม.) เพราะด้วยความเพลิงจากทางตรง..ปรากฎว่ามีอาการท้ายกวาดเล็กน้อย ดึงพวงมาลัยกลับมาในทิศทางปกติได้ไม่มีปัญหา ตรงนี้ยอมรับว่าสมองกลทำงานได้อย่างรวดเร็วและจับอาการรถเสียการทรงตัวได้ทันการณ์ กลายเป็นการดริฟท์เข้าโค้งด้วยรถกระบะคันโตได้อย่างง่ายๆ เมื่อเจอหลุมบ่อปกติต้องค่อยๆ ขับผ่านด้วยความเร็วต่ำ แต่สำหรับแร็พเตอร์ขับผ่านด้วยความเร็วแบบสบายๆ ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องง่ายจริงๆ มีข้อสังเกตว่าเมื่อขับแบบปกติแล้วเข้าโค้งบนผิวทางที่เป็นกรวดมีความลื่น เมื่อท้ายรถมีการกวาด เบรกจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นจังหวะในล้อทั้ง 4 ในทันที แต่หากเบรกก่อนเข้าโค้งหนักๆ แล้วกดคันเร่งเติมเพื่อเข้าโค้ง อาการจะคนละแบบ เหมือนระบบจะปล่อยให้ผู้ขับควบคุมได้มากขึ้น แต่ยังคงมั่นใจเพราะระบบช่วงล่างและโช้คอัพทำงานได้อย่างราบรื่นมากๆ ในส่วนของการขับแบบออฟโรดด้วยความเร็วสูงของเจ้าแร็พเตอร์คันนี้ทำให้ประทับใจเกินกว่าที่คิดเอาไว้มาก
ถึงอย่างนั้น ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ แม้ว่าจะเหนือว่ารถกระบะตัวท็อปๆ ของหลายเจ้า ในเรื่องของสมรรถนะ แต่ยังไม่ถึงกับเทียบชั้นรถแข่งแบบออฟโรด มีความแรงและแรงบิดในระดับที่เร็วแต่ควบคุมได้ ไม่ถึงกับเร็วแบบตัวแข่ง ระบบช่วงล่างเกาะถนนอย่างวิเศษ แชสซีแข็งแรงรองรับการใช้งานได้อย่างหนักหน่วง ยาง All Terrain BF Goodrich ขนาด 285/70 R17 ที่ติดตั้งมาถือว่าใช้งานได้เหมาะสม อัตราสิ้นเปลืองจากที่ใช้งานตลอด 2 วัน อยู่ราวๆ 12 กิโลเมตรต่อลิตร
หากถามว่าคุ้มหรือไม่กับการจ่าย 1,699,000 บาท เพื่อรถกระบะความเร็วสูง ที่พร้อมลุยในทุกพื้นที่อย่าง ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ คันนี้..คำตอบสำหรับผู้เขียนคือ “คุ้ม” นั่นไม่ใช่เพียงเพราะความสมเหตุสมผลของการวิจัยพัฒนา วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี โหมดการขับขี่ สมรรถนะโดยรวม ระบบช่วงล่าง โช้คอัพ และความสวยงาม ดุดัน ของการออกแบบทั้งภายนอกและภายในเท่านั้น แต่นึกถึงการไปหาซื้อโช้คอัพ ปรับจูนช่วงล่างและอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อให้เทียบเท่าหรือเหนือกว่าแร็พเตอร์คงต้องใช้งบประมาณอีกพอสมควร ซึ่งไม่มั่นใจว่าจะจบในทีเดียวหรือไม่ ซึ่งเมื่อฟอร์ด จัดให้แร็พเตอร์มากขนาดนี้ และมีโหมดการขับมาให้ถึง 6 แบบตามการใช้งาน และมีโหมดบาฮาที่ฉลาด ฉับไว คาแร็คเตอร์เหมือนเจ้าไดโนเสาร์แร็พเตอร์ในหนังของสปีลเบิร์กอีกด้วยยิ่งทำให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น
และมีอีกหนึ่งเหตุผลที่รองรับความคุ้มค่านั่นคือ “แร็พเตอร์ไม่ใช่แค่รถกระบะ แต่มันคือ Gadget ชิ้นใหญ่” เมื่อใช้คำว่า Gadget นั่นหมายความว่า การตัดสินใจซื้อนั้น “ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล” และข้อนี้เองที่ทำให้ยอดจองของเจ้าแร็พเตอร์มีมาก เพราะเชื่อว่าหลายคนที่มีงบประมาณพร้อม อยากได้รถขับสี่ยกสูงเอาไว้ใช้งานในชีวิตประจำวันสักคัน ไม่ได้เอาไว้ใช้บรรทุกของ จะรู้สึกว่าอยากได้เจ้าแร็พเตอร์ตั้งแต่แรกเห็น ถึงจะไม่ได้ขับแต่มีความอยากเป็นเจ้าของตั้งแต่เริ่ม…การจองด้วยอารมณ์อยากได้จึงทำให้มันกลายเป็น Gadget ไปโดยปริยาย อารมณ์ของผู้เขียนตอนนี้ก็เป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน (ถ้างบพอคงมีเซ็นต์ใบจองเป็นแน่)
แต่!! ก็ไม่ได้จะชมเพียงอย่างเดียว ข้อตำหนิก็มีเช่นกัน อย่างแรก..ไหนๆ ให้เบาะปรับไฟฟ้าฝั่งคนขับมาแล้ว น่าจะเพิ่มฝั่งผู้โดยสารตอนหน้าเพิ่มไปด้วย รวมทั้งการสั่งงานด้วยเสียงที่ต้องใช้เสียงดังพอประมาณในการสั่ง ไม่อย่างนั้นระบบจะไม่ทำงานให้ เบาะหน้าดีมาก กระชับลำตัวและรองรับสรีระได้อย่างพอดีต่างกับเบาะหลังที่หากเข้าโค้งหนัก คนนั่งต้องกลิ้งเป็นลูกขนุน ต้องจับยึดกับตัวยืดตลอด และปัญหาสำหรับคนเข้าห้างคือ มันมีตัวถังขนาดใหญ่ที่เกือบจะล้นช่องจอดทั้งด้านข้างและด้านหน้า (ใหญ่และยาว) ความสูงตัวรถ 1,873 มม.นั้นไม่เท่าไหร่ แต่ความกว้าง 2,180 มม. กับความยาว 5,398 มม. และระยะช่วงล้อหน้าและหลังที่กว้างถึง 1,710 มม. น่าจะทำให้เจ้าของแร็พเตอร์ต้องอาศัยทักษะการจอดที่มากหน่อย
ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกในแง่มุมของการขับแบบออฟโรดของผู้เขียนกับเจ้าฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ ที่นอกจากจะ “เกิดมาแกร่ง” ยังขอยกให้เป็น “กระบะความเร็วสูง ออฟโรดจอมโหด โคตรมหากาฬ” อีกด้วย!! ย้ำอีกครั้ง แร็พเตอร์เป็นรถสมรรถนะสูงที่บินไม่ได้ และพื้นฐานของการขับรถต้องใช้ความระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ การทดสอบในพื้นที่ปิดต่างกับการใช้งานจริง ทำเพื่อให้รู้ถึงสมรรถนะ ไม่ควรนำไปใช้ในชีวิตประจำวันนะครับ!
เรื่อง: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th