รู้จัก เกียร์ CVT ให้ดีก่อนใช้ EP1 : รู้ก่อน “เกิดมาทำไม”
เกียร์อัตโนมัติ หรือ เกียร์ออโต้ ที่ตอนนี้เข้ามามีบทบาทมากกับรถยนต์ยุคปัจจุบัน เนื่องจากการจราจร ที่แทบจะเป็น “จลาจล” รถติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ถ้าเป็นรถเกียร์ธรรมดา ได้เหยียบคลัตช์กันจนขาเดี้ยง ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้า เสียสุขภาพกายและใจ ตอนนี้ เกียร์ออโต้ จึงเป็นเรื่องมาตรฐานไปเสียแล้ว ขับง่าย ขับสบาย มือใหม่ก็หัดขับได้ง่าย นุ่มนวล ตอนนี้ถ้าเป็นรถยนต์นั่ง แทบจะไม่เห็นเกียร์ธรรมดาแล้ว ขนาดกระบะ หรือ SUV ต่างๆ ยังมีเกียร์ออโต้เป็นหลักเลย…
แต่จะมีเกียร์ออโต้อีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะเรียกว่า CVT ที่เริ่มมีเข้ามาบ้านเราเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน รถรุ่นแรกในเมืองไทย ที่ใช้เกียร์ CVT ก็คือ “MITSUBISHI LANCER CEDIA” ตามมาด้วย “HONDA JAZZ/CITY” ช่วงปี 2002 – 2003 และตอนนี้ก็ “นิยมมาก” ซึ่งมันก็มี “บุคลิกเฉพาะทาง” ของมัน เราควรทำความรู้จักกันหน่อย ว่า “มันเกิดมาทำไม” และ “ทำงานยังไง” แบบเพลินๆ ครับ…
เน้นความนุ่มนวลและต่อเนื่อง
จุดประสงค์ก็ตามชื่อเลยครับ CVT มาจาก Continuous Variable Transmission หรือ “เกียร์แบบอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง” ถ้าเป็นเกียร์แบบ “เฟือง” ทั่วไป การเปลี่ยนเกียร์จะมี “จังหวะ” ตามอัตราทดและจำนวนเกียร์ที่กำหนดมาจากโรงงาน แต่มันก็จะมีจังหวะ “กระตุก” หรือ “หน่วง” ในระหว่างเปลี่ยนเกียร์อยู่บ้าง แม้ว่าเกียร์สมัยใหม่จะนุ่มนวลมากก็ตาม (แต่พอเก่าๆ ก็จะรู้สึกเยอะหน่อย) แต่เกียร์ CVT มันจะไม่มีอาการกระตุก เพราะมันไม่มีจังหวะครับ อ้าว แล้วมันเปลี่ยนเกียร์ยังไงละ ???
สายพาน ลูกกลิ้ง ปรับอัตราทดแบบต่อเนื่อง
จริงๆ แล้ว โครงสร้าง CVT ภายในแทบจะไม่มีอะไรเลยครับ ชิ้นส่วนน้อยมาก การส่งกำลัง จะใช้ “สายพานโลหะ” และ “พูลเลย์แบบปรับอัตราทดได้” เป็นหลัก ตัวพูลเลย์จะ “มีตัวนำตัวตาม” ที่เป็นสองซีก สามารถ “ถ่างออก หุบเข้า” ได้ เพื่อเปลี่ยนอัตราทด ถ้าเป็นเกียร์ต่ำ พูลเลย์ที่เป็นตัวนำ รับกำลังจาก “ทอร์คคอนเวอร์เตอร์” มันจะ “ถ่างออก” ให้สายพานลงร่องต่ำสุด เส้นผ่านศูนย์กลางน้อย เทียบเท่า “เฟืองเล็ก” ส่วนตัวตาม (ส่งกำลังไปที่เพลา) จะ “บีบเข้า” ทำให้สายพานเลื่อนขึ้นอยู่ตำแหน่งบนสุด เส้นผ่านศูนย์กลางมาก เทียบเท่า “เฟืองใหญ่” อันนี้จะให้ “กำลังขับมาก ใช้รอบสูง แต่ความเร็วต่ำ” ใช้เวลาออกรถ ไต่ความเร็ว ส่วนตอนวิ่งลอยลำแล้ว มันก็จะเป็น “ตรงกันข้าม” เหมือนเราใช้เกียร์สูง ประหยัดน้ำมัน หลักการมันมีแค่นี้จริงๆ ครับ…
ส่วนในขณะรถวิ่ง เจ้าพูลเลย์สองตัวนี้ จะค่อยๆ ปรับอัตราทดอย่างต่อเนื่อง ตามความเร็ว รอบเครื่อง การเหยียบคันเร่ง โดยมี Logic ที่ละเอียด ทำให้การขับขี่นุ่มนวลต่อเนื่อง ไม่มีอาการกระตุก ด้วยชิ้นส่วนที่น้อย น้ำหนักเบา จึงเหมาะสมกับ “รถขนาดเล็ก ขับเคลื่อนล้อหน้า” ที่เน้นความประหยัดเป็นหลัก กำลังเครื่องไม่มากนัก อย่างพวก Eco Car หรือเหล่า B – Segment ทั้งหลาย แต่พอยุคหลังๆ ก็เริ่มพัฒนามากขึ้น มาใช้กับ C – Segment กันเยอะ ครั้งหน้า มาดู “ข้อดี ข้อเสีย” ของเกียร์ CVT กันครับ…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th