รู้จัก เกียร์ CVT ให้ดีก่อนใช้ EP2 : รู้ว่า “ข้อดี ข้อเสีย เป็นอย่างไร”
หลังจากที่รู้ “โครงสร้าง” ของเกียร์ CVT กันไปแล้ว ตอนนี้ก็มารู้กันถึง ข้อดี และ ข้อเสีย ของมันกันหน่อย ถามว่ามีประโยชน์ตรงไหน มันได้ตรงที่ว่า “คุณจะได้รู้จัก ระวัง ใช้เป็น” ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย ใช้หรือขับอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้เกียร์พังเสียหายก่อนวัยอันควร และเสียเงินโดยที่ไม่จำเป็น ส่วนข้อดีบางประการ ในแง่มุมที่เรานำเสนอ อาจจะมีข้อแตกต่างจากข้อมูลทั่วไป ขอให้ลองอ่านก่อน ง่ายๆ แต่ได้ใจความครับ…
ข้อดี
- ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เข้าโค้งดีขึ้น ??? : ใน EP1 ที่ผ่านมา เราบอกไว้แค่ “ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา” แต่อันนี้จะขยายความว่า “มันดีต่อรถอย่างไร” ด้วยความที่เกียร์ CVT จะผลิตมาสำหรับ “รถขับหน้า” โดยเฉพาะรถขนาดเล็กเสียส่วนมาก ปกติ รถขับหน้า ทุกสิ่งอย่างจะกองรวมกันด้านหน้าหมด เครื่อง เกียร์ เพลา ฯลฯ ล้อหน้าต้องรับภาระมาก และ “น้ำหนัก” ก็จะตกด้านหน้ามากเช่นกัน ทำให้รถเกิดอาการ “หน้าดื้อโค้ง” (Understeer) มาก ซึ่งดูจะเป็นนิสัยของรถขับหน้า แต่เมื่อเราใช้เกียร์ที่เบา น้ำหนัก ภาระที่ตกลงล้อหน้า มันจะ “เบาลง” ทำให้ลดอาการหน้าดื้อโค้ง รถจะเข้าโค้งได้คมขึ้น ช่วงล่าง ยาง ทนทานขึ้น เพราะ “ภาระต่ำลง” นั่นเอง…
- เร่งดีขึ้น : ก็ยังจะมีข้อคาใจ ว่าเกียร์ CVT ทำไมมันถึงช่วยให้เร่งดีขึ้นได้ เมื่อเราต้องการอัตราเร่งแซง เหยียบคันเร่งมากหรือสุด รอบเครื่องจะ “ดีด” ขึ้นไปสูงก่อน ซึ่งโปรแกรมกล่องเซ็ตมาแล้วว่า “ตรงนั้นเป็นช่วงรอบที่ให้แรงบิดสูงสุด” รอบก็จะคาไว้อย่างนั้นเลย รอบจะ “ไม่ตกแล้วไต่” เหมือนเกียร์ออโต้ปกติ ซึ่งเหมาะกับเหล่าเครื่องเล็ก ที่มีช่วงแรงม้าและแรงบิดแคบ…
- นุ่มนวล : ถ้า “ขับเป็น” นะครับ การขับเกียร์ CVT ที่ไม่มีการตัดต่อกำลัง หรือ Seamless เมื่อเราเร่งเครื่องแบบปกติเนียนๆ รอบเครื่องจะนำขึ้นไปก่อนเล็กน้อย คาคันเร่งไว้ เกียร์จะค่อยๆ แปรผันอัตราทด ความเร็วจะไต่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง นุ่มนวล พอลอยลำก็ประหยัด อยู่ที่ว่าคนขับจะคุมคันเร่งอย่างไร อันนี้ไว้ EP หน้า เราจะแนะนำวิธีขับให้ครับ…
- ซ่อมง่าย : ด้วยความที่ไส้ในมันแทบไม่มีอะไรมากมายเลย มันก็ซ่อมง่าย ในยุคแรกๆ อาจจะ “โหด” เพราะถ้าพังทีก็ต้องเปลี่ยนเกียร์ทั้งลูก หลายหมื่นอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้ มีอะไหล่ขายเป็นชิ้นๆ เลยทุ่นไปได้เยอะ…
ข้อเสีย
- ความแข็งแรงน้อยกว่าเกียร์ออโต้แบบเฟืองปกติ : ด้วยความที่ออกแบบมาสำหรับรถเล็ก กำลังน้อย เน้นความประหยัด สิ่งสำคัญ คือ “ตัวสายพานโลหะ” (Steel belt) ถ้ารถเดิมๆ ขับแบบปกติทั่วไป บำรุงรักษาถูกต้อง มันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเกิดการ “ขับกระโชกโฮกฮาก” ประเภท “Teen หนักแต่ขับไม่เป็น” อายุเกียร์จะสั้นลงมาก (ขับแบบนี้อะไรก็ Ship Hi !!! หมดละครับ) รวมไปถึง “การโมดิฟายเครื่องยนต์” เพิ่มแรงม้าและแรงบิด โดยเฉพาะเหล่า “เครื่องเทอร์โบ” ทั้งหลาย นี่แหละ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกียร์พังในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งก็ต้องยอมรับเพราะคุณไป “ซน” เอง…
- การขับขี่อาจจะไม่สนุกสำหรับบางคน : โดยเฉพาะ “วัยรุ่น” ที่กลับชอบเกียร์แบบเฟืองที่จะมีการ “ตัดต่อกำลัง” มันจะมีฟิลลิ่งที่ “สนุกกว่า” ซึ่ง CVT มันจะราบเรียบ เว้นแต่คุณจะใช้ Paddle Shift ที่ทำให้ “เปลี่ยนล็อกเป็นจังหวะ” ได้คล้ายๆ กับเกียร์ธรรมดา (ไม่เหมือนนะครับ) แต่ยังไง ฟิลลิ่งมันก็คือ CVT อยู่ดี อันนี้ก็ไม่อยากนับเป็นข้อเสีย แต่มันเป็นเรื่องปกติ ด้วยจุดประสงค์การออกแบบที่กล่าวไปแล้วนั่นเอง เพียงแต่ “รถเทอร์โบสมัยนี้” ไม่ว่าจะเป็น Eco Car Phase 2 พวก “พันเทอร์โบ” หรือ D – Segment พวก “พันห้าเทอร์โบ” จะใช้เกียร์ CVT กันส่วนมาก และชอบนำไปโมดิฟายกัน เลย “ไม่ถูกใจวัยซิ่ง” เท่านั้นเอง…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th