รู้ละเอียดกับ “โช้คอัพซิ่ง” ขั้น Advance มีกี่แบบ ดีพอจะ “เสียตังค์” ไหม
ครั้งที่แล้วทำความรู้จักกันว่า “โช้คอัพคืออะไร และ ทำหน้าที่อะไร” กันไปแล้ว แต่เชื่อเถอะว่า หลายคนก็อยากจะรู้ว่า “โช้คอัพแต่ง” หรือ “โช้คซิ่ง” ตามภาษาวัยรุ่น มันดีกว่าโช้คอัพธรรมดาอย่างไร และ มีกี่แบบ และ แบบไหนที่ควรจะเสียตังค์ เพื่อให้เหมาะสมกับสไตล์การใช้งานของเราจริงๆ ไม่ใช่ “เห่อตามกระแส” ซื้อของแพงๆ แต่ไม่ตรง Feeling ของเรา ถือว่า “โยนเงินทิ้ง” โดยใช่เหตุ…
เรื่องนี้ก็เป็นเหตุที่ “ขัดข้องใจ” หลายๆ คน ที่ซื้อโช้คอัพแต่งมาแล้ว แต่ไม่ถูกใจ และของมันก็ไม่ใช่ถูกๆ เพราะฉะนั้น เราจะขอ “แนะนำให้รู้จัก” ในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ จะได้เป็น “ข้อมูลในการเลือก” ให้เหมาะสมกับตัวเอง แต่จะไม่ขอลงลึกในด้านเทคนิคมากนักจนยากที่จะเข้าใจ และ เบือนหน้าหนีไปเสียก่อนจะอ่านจบ…
โช้คอัพแบบ Twin Tube : อันนี้ขอเกริ่นหน่อยแล้วกัน เพราะมันจะต่อยอดไปเรื่องอื่นปกติแล้ว โช้คอัพทั่วไป จะเป็นแบบ Twin Tube จะมีกระบอกด้านนอก ส่วนด้านในจะมี “กระบอกซ้อน” อีก ด้านในจะเป็นห้องเก็บน้ำมัน ส่วน “ช่องว่าง” ระหว่างกระบอกด้านในและนอก จะเป็น “ห้องน้ำมันสำรอง” ที่จะมีน้ำมันเก็บสำรองไว้ประมาณ 2 ใน 3 ถ้าเป็น “โช้คอัพแก๊ส” ก็จะบรรจุแก๊สไนโตรเจนไว้เลย ไม่ได้แยกโดยเด็ดขาดเหมือนแบบ Mono Tube ข้อดีของโช้คอัพแบบ Twin Tube คือ “ราคาไม่แพง” เพราะวัสดุการทำกระบอก ไม่จำเป็นต้องแพง เพราะกระบอกสูบจริง ๆ มันอยู่ด้านใน ด้านนอกเป็นเปลือกหุ้มและเป็นห้องน้ำมันสำรอง จึงไม่ค่อยกลัวเรื่องแรงกระแทกนิด ๆ หน่อย ๆ ส่วนข้อเสียก็คือ กลไกภายในจะซับซ้อนกว่าแบบ Mono Tube และถ้าเทียบกับขนาดกระบอกเท่ากัน แบบ Twin Tube ลูกสูบและวาล์วจะเล็กกว่า Mono Tube ตัวแก๊สกับน้ำมันจะปน ๆ กันอยู่ การระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร เพราะกระบอกสูบมันอยู่ชั้นใน แต่ก็อย่าเพิ่งฟันธง ก็ไม่แน่ แบบ Twin Tube ของแต่งเกรดดี ๆ อาจจะเทียบเท่า หรือ ดีกว่า Mono Tube บางรุ่นก็ได้…
โช้คอัพแบบ Mono Tube : ตอนนี้พวกของแต่งจะโฆษณากันขโมงโฉงเฉง ว่า Mono Tube แต่มันดีกว่ากันยังไงล่ะ แบบนี้ แปลง่ายๆ คือ “กระบอกเดี่ยว” ดูง่ายๆ แล้วทำไมมันแพง ??? ที่เป็นข้อเสียแต่ต้องจ่าย เพราะ “ต้องใช้วัสดุคุณภาพสูงสร้างกระบอก” เพราะมันต้องรับแรงเต็มๆ ส่วน “ข้อดี” ตัวกระบอก “มีพื้นที่มากกว่าแบบ Twin Tube” สามารถใส่ “วาล์วใหญ่กว่า” และ “บรรจุน้ำมันได้เยอะกว่า” อีกอย่างหนึ่งที่ชนะขาด คือ “สามารถกั้นห้องแก๊สกับห้องน้ำมันได้อย่างอิสระ” และยัง “ระบายความร้อนได้ดีกว่า” ทำให้การตอบสนองของโช้คอัพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการขับด้วยความเร็วต่อเนื่อง หรือ การลุยหนักๆ ที่โช้คอัพต้องทำงานหนัก จะเห็นได้ชัด…
โช้คอัพแบบ สตรัทปรับเกลียว : อันนี้จะออก “แนวซิ่ง” โดยโครงสร้างพื้นฐานก็เหมือนกัน แต่มัน “สามารถปรับความสูงต่ำได้ตามใจชอบ” เสื้อสตรัทโช้คอัพ จะมี “ชุดขันเกลียว” ถ้าเป็นรุ่นเก่า จะใช้วิธีการ “ขันที่เบ้าสปริง” แต่จะมีข้อเสีย คือ กรณีที่ปรับรถสูงขึ้น สปริงจะถูกบีบ ทำให้แข็งกระด้าง ตอนหลัง จึงมีการผลิตแบบ “ปรับที่กระบอกโช้คอัพได้เลย” โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับระยะของสปริง ไม่ว่าจะปรับสูงต่ำขนาดไหน โช้คอัพก็ยังตอบสนองได้เหมือนเดิม จึงเป็นแบบที่นิยมในตอนนี้ สำหรับ ข้อเสีย ก็คงพอมี เพราะ “ราคาค่อนข้างสูง” (จริงๆ ตอนนี้จะมีรุ่นราคาถูกลงแล้ว) เอาเป็นว่า ถ้าไม่ได้ต้องการจะโหลดเตี้ย เน้นขับเดิมๆ ใช้งาน ก็ไม่จำเป็นครับ ไปซื้อโช้คอัพเกรดสูงขึ้นแบบใส่กับสปริงเดิมได้ก็พอ…
โช้คอัพแบบมี Sub Tank : เป็นของแต่งแบบระดับสุดยอด ไอ้ตัว Sub Tank หรือ “ซับแทงค์” ก็จะมี “กระบอกสำรอง” เพิ่มแยกออกมาต่างหากอีก หลักการของมันก็คือ “ต้องการเพิ่มห้องสำรองน้ำมัน” เราไม่สามารถขยายขนาดกระบอกโช้คอัพให้โตเกินไปได้ ก็เลยต้องแยกกระบอกต่างหาก เมื่อมีน้ำมันสำรองเยอะขึ้น พอโช้คอัพทำงานหนักๆ และ ร้อนมากๆ น้ำมันจะเกิดอาการ “เฟด” (Fade) เสียค่าความหนืดไป อีกอย่าง มันสามารถไล่ “ฟองอากาศ” ให้ไปอยู่ใน Sub Tank ไม่เหลืออยู่ในกระบอกโช้คอัพเลย อาการเฟดก็จะเกิดได้น้อยลงและยากขึ้น ทำให้การขับขี่มีความเสถียร อีกประการที่สำคัญ คือ พวกวาล์วต่างๆ เพิ่มจำนวนและ Step การทำงานได้เยอะ ทำให้สามารถ “ปรับการทำงานได้หลากหลาย” เพราะชุดวาล์วจะแบ่งอยู่ทั้งใน โช้คอัพ และ ซับแทงค์ ถ้าจะทำให้มันรวมในโช้คอัพอย่างเดียวมันจะวุ่นวาย ก็เลยแยกออกมาดีกว่า เลยเป็นเหตุให้สร้าง ซับแทงค์ ขึ้นมา ข้อเสีย คือ “แพงแน่ๆ” เพราะชิ้นส่วนมันเยอะ จึงไม่เหมาะกับรถที่ขับใช้งานทั่วไปเป็นหลัก จะเหมาะกับรถสมรรถนะสูง และ “รถแข่ง” มากกว่า เว้นแต่ว่า “ตังค์เหลือ” และ “แต่งไว้คุย” นั่นก็ตามสบายท่านเลยจ้า…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th