รู้ไหมไฟ Pop-up หายไปไหน ?
ในยุคหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ ไฟหน้าแบบ Pop-Up หรือแบบกระเด้งขึ้นมาเมื่อมีการเปิดไฟหน้ารถ คือ เทรนด์และแฟชั่นยอดนิยมที่ไม่ได้ระบาดอยู่แค่ตลาดรถสปอร์ตเท่านั้น แต่ยังลุกลามเข้าสู่ตลาดรถยนต์นั่งด้วย ซึ่งเราจะเห็นว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 ไล่ไปจนถึงต้นทศวรรษที่ 1990 นื่คือเทรนด์สุดสปอร์ต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น
แต่อยู่ดีๆ มันหายไปได้อย่างไร ?
ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่าไฟหน้าแบบ Pop-Up ถือเป็นสไตล์หนึ่งของการออกแบบรถยนต์ที่ได้รับความนิยม และถูกรวมอยู่ในกลุ่มไฟหน้าที่เราเรียกว่า Hidden Headlamp ซึ่งในแวดวงการออกแบบรถยนต์ บางครั้งไฟหน้าอาจจะไม่ได้โผล่ออกมาเป็นดวงๆ ให้เห็นเหมือนกับปัจจุบัน แต่ซ่อนตัวอยู่อย่างกลมกลืนกับตัวถัง และจะส่องสว่างขึ้นมาเมื่อมีการเปิดใช้ เช่น Pontiac GTO รุ่นปี 1968 หรือ Dodge Charger รุ่นแรก เป็นต้น
จากหลักฐานที่มีการสืบสาวลงไป ว่ากันว่ารถยนต์รุ่นแรกที่ใช้ไฟหน้าแบบ Pop-Up คือ Cord 810 ที่เปิดตัวย้อนหลังไปในปี 1936 แต่ในการใช้งานตอนนั้นต้องอาศัยแรงงานของคนขับในการเปิดขึ้นเอง จนกระทั่งในปี 1938 GM ได้เปิดตัวต้นแบบที่เรียกว่า Y-Job นั่นก็เลยทำให้แวดวงของไฟหน้าสไตล์นี้มีการพัฒนาขึ้นด้วยการใช้ระบบไฟฟ้าเข้ามาควบคุม
ไฟหน้าแบบ Pop-Up ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา และมาฮ็อตสุดๆ ในทศวรรษต่อมา โดยมีรถยนต์หลายต่อหลายรุ่นในตลาดหันมาใช้ไฟหน้าแบบนี้ ซึ่งเมื่อมองในแง่ของความสวยงามและความแปลกใหม่แล้วถือว่า ได้คะแนนเต็มสิบ เช่นเดียวกับเรื่องของหลักอากาศพลศาสตร์ หรือ Aerodynamic ที่ผู้ออกแบบสามารถสร้างสรรค์รถยนต์ให้ความเพรียวลม โดยวที่ไม่ต้องกังวลกับตำแหน่งของไฟหน้ามากนัก เพราะสามารถออกแบบส่วนหน้าของตัวถังให้ลาดเทได้ตามความต้องการ (แต่เมื่อเปิดไฟหน้าขึ้นมาใช้งาน กลายเป็นคนละเรื่องเลย)
จริงๆ แล้วในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา มีการห้ามไม่ให้ใช้ไฟหน้าแบบนี้อีก เนื่องจากเหตุผลในด้านความปลอดภัย เพราะอย่างที่เกริ่นในพารากราฟข้างต้น พอนักออกแบบคำนึงถึงแต่เรื่องของความเพรียวลม ทำให้การติดตั้งไฟหน้าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และส่งผลต่อเนื่องไปยังความปลอดภัยในการขับขี่ ซึ่งในบางผู้ผลิตที่ต้องการรุกตลาดที่นี่ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงรถยนต์ของตัวเอง เช่น ยกตัวถังให้มีความสูงจนได้ระดับที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนั้น ในบางประเทศ เช่น ยุโรป ที่มีการทดสอบชนจะมีการทดสอบในส่วนของการชนคนเดินถนนด้วย เพื่อดูว่ารถยนต์รุ่นนั้นๆ ถูกออกแบบตัวถังด้านหน้าที่เอื้อประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อคนเดินถนนมากน้อยแค่ไหน และไม่ต้องห่วงว่ารถยนต์หรือรถสปอร์ตที่ใช้ไฟหน้าแบบ Pop-Up จะได้คะแนนในส่วนนี้ต่ำ หรือตกเลยก็มี เพราะมีชิ้นส่วนที่แหลมๆ ของกรอบไฟโผล่ขึ้นมา ซึ่งนั่นก็เป็นการบีบกลายๆ ในการทำให้ผู้ผลิตรถยนต์เริ่มหันมามองเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายคือ ส่วนหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญที่สุด และอาจจะมากกว่าเหตุผลข้างบน เห็นจะเป็นเรื่องของ ‘ต้นทุน’ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับไฟหน้าแบบปกติแล้ว ไฟหน้าแบบ Pop-Up มีชิ้นส่วนที่ซับซ้อน และมากกว่าระบบไฟหน้าปกติ แล้วมีเหตุผลอะไรที่ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องมาเพิ่มต้นทุนในส่วนนี้ ดูอย่าง Honda NSX รุ่นแรกเมื่อมีการไมเนอร์เชนจ์ก็เปลี่ยนมาเป็นไฟกรอบธรรมดา เช่นเดียวกับ Mazda RX-7 รหัส FD3S
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านร่วมกับเรื่องต้นทุนที่แพงกว่า ยุ่งยากกว่าทั้งในเชิงผลิต และการดูแลรักษา บวกกับเหตุผลอีกยิบย่อยที่ดูแล้วจะเป็นลบมากกว่าบวก จึงไม่น่าแปลกใจที่ไฟแบบ Pop-Up จะหายไปจากตลาดรถยนต์ โดยว่ากันว่ารถยนต์รุ่นสุดท้ายที่ใช้ไฟแบบนี้คือ Chevrolet Corvette C5 และ Lotus Esprit ที่เลิกผลิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในปี 2005
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th