“ลมยาง” เดอะ ซีรีส์ EP.1 พื้นฐาน 5 ข้อ กับการเติมลมยางที่ “ถูกต้อง”
เรื่องที่ “ไม่เป็นเรื่อง” แต่จะ “เป็นเรื่อง” ทันที เมื่อเกิดการเข้าใจผิด ปล่อยปละละเลย โดยเห็นว่า “ก็ไม่น่าจะมีผลอะไรนี่หว่า” คุณทราบไหมละครับ ว่าแค่ “แรงดันลมยาง” นี้ ที่เป็นเรื่องสุดเบสิกจริงๆ จนหลายคนคิดว่า “จะเอามาพูดทำไม” และคงได้อ่านกันบ่อยมากๆๆๆๆๆๆ แล้ว แต่ว่า บนโลกนี้ก็ย่อมมี “ผู้ที่ยังไม่รู้เหตุผลอันแท้จริง” อยู่เสมอ เพราะคนใช้รถมือใหม่ก็เกิดขึ้นทุกวันๆ หรือแม้แต่มือเก่า แต่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือบางคนก็ “ไม่ใส่ใจ” รถมีก็ใช้ๆ ไป ช่างมัน เกิดเรื่องก็เดือดร้อนกันไป แบบนี้ก็ยังมีอยู่ หน้าที่ของเรา คือ “ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย สร้างความกระจ่างให้กับผู้ใช้รถทุกระดับ” มันเลยเกิดเป็น “ลมยาง เดอะซีรีส์” ขึ้นมา เพราะมันมีผลกระทบมากมายจริงๆ แบบไม่น่าเชื่อ…
Intro
ครั้งแรก ขอเริ่มกันจาก “พื้นฐานในการเติมลมยางที่ถูกต้อง” กันก่อน เพราะมันจะต่อยอดไปเรื่องต่อๆ มา บอกเลย มันส์แน่…
- อ้างอิงค่าแรงดันลมยางจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รุ่นนั้นๆ เป็นหลัก : จุดเริ่มต้นคือตรงนี้ เพราะทางวิศวกรคำนวณแล้วว่า “แรงดันนี้เหมาะสมสำหรับรถที่เขาผลิตออกมา” ด้วยน้ำหนักรถ โครงสร้าง รูปแบบช่วงล่าง จำนวนที่นั่งผู้โดยสาร รายละเอียดมันเยอะมากๆ รถแต่ละแบบ จะไม่มีทางเหมือนกันเลย แม้ว่าจะเป็น “รถรุ่นเดียวกัน” แต่มี “รุ่นย่อย” ที่ใช้ขนาดล้อและยางต่างกัน แรงดันลมยางก็ไม่เท่ากัน ต้องดูดีๆ ในสติกเกอร์ที่ทางโรงงานติดมาให้ จะมีบอกขนาดยางอยู่ คุณใช้ขนาดไหนก็เติมตามนั้นได้เลย อันนี้ผมขออ้างอิงกับ “รถสแตนดาร์ด” ล้อเดิม ยางขนาดเดิม เป็นหลักนะครับ เพราะรถแต่งที่เปลี่ยนขนาดล้อและยางใหม่ จะมีเงื่อนไขทำให้แรงดันลมยางเปลี่ยนแปลง รวมไปถึง “ลมยางแข็งหรืออ่อนเกินไป” จะสร้างหายนะให้กับเราได้อย่างไร จะขอพูดถึงใน EP ท้ายๆ ครับ…
- วัดลมยาง ตอน “ยางเย็น” จะแม่นยำสุด : ต่อจากข้อตะกี้ ค่าแรงดันลมยาง ควรจะต้องวัดตอน “ยางเย็น” เช่น คืนนี้กลับบ้าน จอดรถ ตื่นมาก่อนออกจากบ้าน เราสามารถวัดลมยางตอนนั้นได้เลย เหตุที่ตรงนั้นได้ค่าแม่นยำสุด เพราะเมื่อรถวิ่งไปแล้ว ยางเกิดการเสียดสีกับถนน จากการขยับตัว กระแทก รับน้ำหนักการหมุน โมเลกุลของอากาศเสียดสีกัน ทำให้เกิด “ความร้อน” และทำให้ “แรงดันลมยางเพิ่มขึ้น” จะเข้าในเคสที่คุณ “ขับรถไปเติมลมยางข้างนอก” จะปั๊มหรือศูนย์บริการยางอะไรก็ตามแต่ “ให้เติมเพิ่มจากค่าปกติประมาณ 2 ปอนด์” (กรณีขับในเมืองแบบปกติ) เช่น สเป็กเดิมให้เติม 28 ปอนด์ ก็เติมเป็น 30 ปอนด์ พอยางเย็นลง แรงดันลมยางก็จะลดระดับลงมาปกติ…
- เช็คลมยางสม่ำเสมอ : คงไม่ถึงขนาดต้องเช็คทุกวันก็ได้ครับ แต่อย่างน้อย “สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง” หรืออย่างมาก “ไม่ควรเกินสองสัปดาห์ต่อหนึ่งครั้ง” เพราะการวัดแรงดันลมยางสม่ำเสมอ จะทำให้ “รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง” รวมไปถึง “ความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้” เช่น ลมยางล้อใดล้อหนึ่งเกิด “อ่อนผิดปกติ” ก็แสดงว่าอาจจะมีการรั่วซึม ขับไปทับของแหลม ของมีคมต่างๆ ที่เราไม่ทันสังเกต จะได้ไม่ขับบดไปจนยางแบน สร้างปัญหาตามมาให้ได้มาก…
- ควรจะมี “เกจ์วัดลมยาง” ที่มีมาตรฐานติดรถไว้ : จริงอยู่ ว่าเดี๋ยวนี้มีปั๊มใหม่ๆ เปิดเพิ่มขึ้นเยอะแยะ จะมี “ตู้เติมลมยางระบบดิจิตอล” จะเอาแรงดันเท่าไรก็กดได้เลย ถือว่าค่อนข้างแม่นยำนะครับ แต่ว่า…เมื่อใช้งานไปย่อมมีการ “คลาดเคลื่อน” ตามอายุ เพราะปกติตู้เติมลมในปั๊มน้ำมันก็จะถูกใช้งานหนักอยู่แล้ว จริงๆ ทางผู้ครอบครองตู้เติมลมนี้ จะต้องมีการ “ปรับค่า” (Calibrate) ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะปรับจริงไหม การวัดแรงดันลมยางอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ เพราะเคยทดสอบด้วยตัวเอง บางที่เพี้ยนกันถึง 4 – 5 ปอนด์ เติมในคันเดียวกันนี่แหละ !!! 4 ล้อ ไม่เท่ากัน ความแตกต่างขนาดนี้ รับรองมีผลกับการขับขี่ที่แย่ลงแน่ๆ เหมือนคุณ “นั่งเก้าอี้ขาไม่เท่ากัน” นะครับ เพราะฉะนั้น ควรซื้อเกจ์วัดแรงดันลมยางที่มีคุณภาพดีสักหน่อย พวกศูนย์ขายอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ (Car Accessories) ชั้นนำก็ยังมีขายอยู่ เอาไว้ Recheck และวัดเป็น “ค่ามาตรฐานของตัวเอง” จะดีที่สุดครับ…
แค่การวัดแรงดันลมยางที่ใครเห็นว่าง่ายๆ ไม่เห็นจะต้องอะไรมากมายเลย แค่ 5 ข้อ ที่เล่ามา เป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้นนะครับ ซึ่งมันมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย แต่ไม่ยากเกินที่จะทำตาม เพื่อประสิทธิภาพการขับขี่ และ การถนอมยางให้ใช้ไปได้นานๆ ใน EP ต่อๆ ไป ก็จะเจาะเรื่องที่เกี่ยวกับลมยาง อันเป็นประโยชน์และน่าสนใจกับผู้ที่ใช้รถทุกท่านครับ…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th