วิธีเลือกจานเบรคให้เหมาะสม และปลอดภัย !!
วันนี้เรามารู้จักเจ้าจานเบรคกันดีกว่าว่า เพราะที่เห็นขายอยู่ในท้องตลาดบ้านเรามีหลากหลายรูปแบบเหลือเกิน แล้วแต่ละรูปแบบนั้นการใช้งานและประสิทธิภาพมันต่างกันอย่างไรเรามาทำความรู้จักกับจานเบรกกันก่อนว่ามีกี่ประเภทอะไรบ้างนะครับ
วิธีเลือกจานเบรค
1.Solid Disc หรือ จานเบรคแบบตัน
Solid Disc หรือ จานเบรคแบบตัน สามารถพบเห็นได้ในรถยนต์นั่ง รุ่นเก่าทั่วไปที่มีระบบดิสก์เบรคหน้า และรถยนต์รุ่นใหม่ดิสก์เบรคล้อหลัง ซึ่งโดยส่วนมากมักพบเห็นในรถยนต์นั่งที่จัดอยู่ในประเภท City Car เนื่องจากว่าจานเบรค ในรูปแบบของจานตันนั้น จะไม่มีช่องระบายความร้อนตรงกลางจาน แต่ด้วยความที่มันรับภาระไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องมีช่องระบายความร้อนตรงกลางจานครับ และท่านผู้ใช้รถอาจสงสัยว่า ต่อให้ภาระไม่มาก ก็มีความร้อนสะสมอยู่ดี? ใช่ครับ มันต้องมีความร้อนสะสมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ความร้อนสะสมตรงนั้น จะเป็นตัวช่วยให้ผ้าเบรคจับตัวได้ดี และเร็วขึ้น เพราะถ้าอุณหภูมิเย็นเกินไป ผ้าเบรคก็ไม่สามารถทำงานได้ดี โดยจานเบรคประเภทนี้จะเป็นจานแบบเนื้อเรียบ หรือหน้าสัมผัสแบบเรียบ
2.Ventilated Disc Brake หรือจานเบรคแบบมีครีบระบายความร้อน
เจ้าจานเบรคแบบนี้ก็จะอยู่ที่ระบบห้ามล้อคู่หน้า บางคันอาจจะมีใส่ในล้อคู่หลังด้วย หากรถยนต์คันนั้นมีระบบขับเคลื่อนล้อหลัง เพราะต้องรับภาระหนักเหมือนกัน เนื่องจากว่า เมื่อเกิดการเบรค น้ำหนักเกือบทั้งหมดของตัวรถจะถูกส่งไปยังหน้ารถ ซึ่งเมื่อมีน้ำหนักกดทับมากขึ้น ระบบเบรคก็ต้องทำหน้าที่หนักขึ้น ซึ่งนั่นก็ทำให้ระบบที่ล้อคู่หน้าย่อมต้องทำงานหนักไปโดยปริยาย และเมื่อระบบเบรคทำงานหนัก ก็จะยิ่งเกิดความร้อนสูงจึงต้องมีช่องว่างตรงจานเบรค ซึ่งมีลักษณะเหมือนเป็น เวน (Vane) หรือกันหัน ซึ่งเจ้าครีบตรงนี้ก็จะทำหน้าที่ ช่วยกวักอากาศเข้ามาทางดุมล้อ แล้วสลัดกระจายออกไปตามแรงเหวี่ยง ซึ่งก็จะทำให้ช่วยระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดความร้อนสะสมได้อีกด้วย และเช่นเดียวกับจานตันครับ ผิวสัมผัสของจานเบรกชนิดนี้ ก็จะเป็นพื้นสัมผัสเรียบเหมือนกัน
3.Slotted Disc Brake หรือจานเบรคแบบเซาะร่อง
จานเบรกลักษณะนี้ จะเป็นจานเบรคโดยทั่วไปที่เป็นVentilated Disc Brake หรือจานที่มีร่องระบายความร้อน และมาทำการเซาะร่องหรือ Slotted ที่ผิวหน้าสัมผัส (Surface) บนจานเบรคอีกทีหนึ่ง ซึ่งการเซาะร่องนี้จะมีประโยชน์ในเรื่องของการลดอุณหภูมิผิวหน้าสัมผัสของจานจานเบรค และผ้าเบรค เนื่องจากร่องที่อยู่บนจานเบรคจะทำหน้าที่เป็นเหมือน ไม้กวาด ซึ่งจะคอยปัดกวาดเนื้อผ้าเบรคที่เสื่อมสภาพ ผ้าที่ร้อนจนไหม้กลายเป็นเขม่าเบรค แล้วสลัดออกไปเพื่อผลัดให้ผิวผ้าเบรคที่ยังไม่เสื่อมสภาพขึ้นมาแทน เหตุที่ต้องมีการกวาดเนื้อผ้าเบรคส่วนที่ไหม้ออกไปก็เพราะ เนื้อผ้าเบรคส่วนนั้นได้เสื่อมสภาพไปแล้ว เมื่อเนื้อผ้าเบรคเสื่อมสภาพจากความร้อนก็จะทำให้เกิดก๊าซขึ้นมา และเจ้าก๊าซนี้ก็จะไปปกคลุมหน้าสัมผัสจานเบรคกับเนื้อผ้าเบรค ซึ่งร่องบนจานเบรคก็สามารถที่จะขจัดปัญหานี้ไปได้ ทั้งกวาดหน้าผ้าเบรคที่เสื่อมสภาพออกไป และยังสามารถสลัดก๊าซที่ปกคลุมพื้นผิวไปได้อีกด้วย พร้อมช่วยระบายความร้อนที่ผิวจานด้านนอกได้เร็วขึ้น จานแบบนี้รถซิ่งชอบใช้มากครับ
4.Drilled Disc Brake Rotor หรือจานเบรคแบบเจาะรู
Drilled Disc Brake Rotor หรือจานเบรคแบบเจาะรู จานเบรคลักษณะนี้ก็เช่นเดียวกันกับจานเซาะร่องครับ คือนำจานที่เป็น Ventilated Rotor มาทำการเจาะรู บนจานเบรค โดยรูที่เจาะนี้ก็จะอยู่บนผิวหน้าสัมผัสของจานเบรค ส่วนที่ต้องสัมผัสกับผ้าเบรค จานแบบเจาะรูนี้ให้ประสิทธิภาพได้คล้ายๆกับจานเบรคแบบเซาะร่อง หรือ Slotted Rotor แต่การเจาะรูลงไปบนจานเบรกจะมีส่วนที่เพิ่มเติมมาคือ สามารถระบายความร้อนของจานเบรกได้เร็วกว่า เนื่องจากว่า รูบนจานเบรคนั้น ก็จะเป็นช่องที่ให้อากาศสามารถไหลเวียนมาได้ดีกว่า ดังนั้นการนำพาความร้อนออกไปย่อมเร็วกว่าแน่นอน
สรุป ท่านผู้ใช้รถลองนึกภาพตามนะครับ ว่าสมมุติเรามีเหล็กตันๆ 1 แท่ง การจะระบายความร้อนให้เหล็กนั้นอุณหภูมิทั่วทั้งแท่ง ย่อมเป็นไปได้ช้า เพราะอากาศที่มีนำพาความร้อนสามารถสัมผัสได้แค่บริเวณพื้นผิวของแท่งเหล็กเท่านั้น ไม่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปถึงข้างในแท่งเหล็ก จึงไม่สามารถนำพาความร้อนจากภายในออกมาได้หมด แต่การเจาะรูนั้น ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง เนื่องจากลักษณะ Vent หรือช่องลมภายในจานเบรกนั้น จะมีช่องว่างระหว่างร่องระบายอากาศ ซึ่งหากเนื้อตรงส่วนนั้นถูกเจาะให้ทะลุ และหายไป ก็จะทำให้โครงสร้างของจานเบรกไม่แข็งแรงเหมือนเดิม และอาจส่งผลให้เกิดอาการ “จานคด จานดุ้ง” ได้ง่ายๆ เนื่องจากปัญหาของโครงสร้างไม่แข็งแรงเหมือนเดิมและนี่แหละครับ คือรูปแบบลักษณะของจานเบรกที่มีปรากฏให้เห็นได้ในรถทั่วๆไป รวมไปถึงรถยนต์แข่งขันด้วย
ข้อแนะนำ ไม่ควรดัดแปลงจานเบรกปกติมาทำการเจาะรูตามโรงกลึงทั่วๆไป เพราะจะมีปัญหาตามมา เช่นจานเบรคเสียสมดุลย์ ส่งผลวิ่งแล้วพวงมาลัยสั่น จานเบรคมีโอกาส ร้าวแตก คด โก่งงอ ไม่ปลอดภัยและอันตรายอย่างยิ่ง
เรามาดูกันว่าเราจะเลือกจานเบรคอย่างไรจึงจะถูกต้อง และปลอดภัยกับการขับขี่
อันดับแรกควรดูสเปคของจานเบรคให้ถูกต้องกับรุ่นที่ใช้ ว่าเป็นจานชนิดไหน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่าไหร่ มีรูสำหรับยึดติดกี่รู มีความหนาเท่าไหร่ ถ้าจะให้ดีควรเลือกแบบที่มีค่าความหนาต่ำสุดระบุไว้ด้วยครับ เพราะช่างจะได้ทราบว่าเมื่อไหร่ควรจะต้องเปลี่ยนจานเบรค
ต่อมาก็ต้องดูว่าจานนั้นๆ ได้รับการถ่วงสมดุลมาแล้วหรือไม่ เนื่องจากจานเบรคต้องมีการหมุนเมื่อทำงานหากจานไม่สมดุล ก็จะหมุนไม่ราบรื่นและมีการแกว่งตัวทำให้เกิดอาการเบรคสั่นได้ครับ วิธีเลือกจานเบรค
สุดท้ายอาจจะลองพิจารณาว่านอกจากสเปคปกติแล้ว มีจานเบรคแบบไหนที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เราได้มากขึ้นบ้าง เช่น มีเนื้อเหล็กที่เหนียว และทนความร้อนได้ดีกว่าธรรมดา หรือ มีการเซาะร่องเจาะรูเพื่อช่วยระบายความร้อน เป็นต้นครับ แต่อย่าลืมว่า ระบบเบรคที่ติดรถของท่านมานั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ขับขี่และผ่านการทดสอบมาอย่างเต็มที่แล้วก่อนที่จะนำมาจำหน่าย การดัดแปลงหรือการปรับสเปคในส่วนของระบบเช่นขยายจาน เปลี่ยนคาลิปเปอร์ อาจส่งผลต่อความปลอดภัยได้และควรปรึกษาช่างผู้ชำนาญเท่านั้นครับ
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : TRW THAILAND
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th