ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 4 จ.สงขลา
คุณสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คุณไปรยา ลาภาโรจน์กิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้าสงขลา ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด และคุณคุณัญญา แก้วหนู กรรมการผู้จัดการ บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ร่วมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 4” ณ บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
“ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์”
เป็นกิจกรรมในโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่ได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง มาถ่ายทอดให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาล
ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความมั่นคง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงธุรกิจชุมชนต่างๆ และมีส่วนช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ มีการพัฒนาและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ อาทิ เช่น ประสิทธิผลในการผลิต คุณภาพสินค้า และต้นทุนสินค้าคงคลัง เป็นต้น
บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหมอนเพื่อสุขภาพที่ผลิตจากยางพาราธรรมชาติ 100% บริหารงานโดย คุณคุณัญญา แก้วหนู ด้วยแนวทางมุ่งเน้นการนำน้ำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่น้ำยางพาราของไทย ตลอดจนเป็นการสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น โดยธุรกิจฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการไคเซ็นภายใต้โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในปี พ.ศ. 2560 ภายใต้ความร่วมมือกับ
บริษัท โตโยต้าสงขลา ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด โดยโตโยต้าได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้าและหลักการไคเซ็น (การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” โดยร่วมศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมนำองค์ความรู้ของโตโยต้าเข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมืออาชีพ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สร้างการจ้างงานในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ได้นำองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าเข้าปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจตนเอง ดังนี้
- เพิ่มความสามารถในการผลิต โดยการปรับลดเวลาการผลิตต่อรอบ (Cycle time) ปรับปรุงมาตรฐานในกระบวนการตากหมอน อันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานที่สุด โดยเปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์แห้งเองตามธรรมชาติ เป็นการออกแบบห้องตาก ชั้นวางหมอน และรูปแบบการจัดวาง พร้อมติดตั้งระบบถ่ายเทอากาศเพื่อให้อากาศหมุนเวียนได้ดี ช่วยลดเวลาการตากหมอนลง จาก 21 วันต่อรอบ เหลือเพียง 5 วันต่อรอบ หรือเร็วขึ้น 76% ส่งผลให้ความสามารถในการผลิตเพิ่มจาก 700 ใบต่อเดือน เป็นกว่า 1,300 ใบต่อเดือน เพิ่มรายได้ต่อเดือนจาก 400,000 บาท เป็นกว่า 750,000 บาท สามารถบริหารต้นทุนในกระบวนการ (Work in process) อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีการแนะนำให้ธุรกิจใช้ “ระบบการมองเห็น” (Visualization board) ควบคุมกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถติดตามสถานะการผลิตและการส่งมอบได้อย่างแม่นยำ
- การบริหารต้นทุนวัตถุดิบและการลดของเสียในกระบวนการ สร้างมาตรฐานการใช้วัตถุดิบ โดยก่อนการปรับปรุง ธุรกิจตรวจพบน้ำยางล้นออกนอกแม่พิมพ์ จึงปรับมาตรฐานและปริมาณในการฉีดน้ำยางลงแม่พิมพ์ ช่วยลดปริมาณการสูญเสียวัตถุดิบ ทำให้สามารถลดต้นทุนจากการสูญเสียลง 10 บาทต่อการผลิตหมอน 1 ใบ (ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน) โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์
- การปรับปรุงการจัดการสินค้าคงคลัง ถ่ายทอดระบบ “การจัดการสินค้าคงคลังแบบโตโยต้า” โดยสอนให้ธุรกิจตรวจสอบมูลค่าสินค้าคงคลัง จัดแยกประเภทสินค้าตามการเคลื่อนไหว อายุสินค้า เพื่อหาแนวทางการจัดการสินค้าคงคลังอย่างเหมาะสม ช่วยลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้าคงคลังจาก 370,000 บาท เหลือ 230,000 บาท หรือคิดเป็น 38% ตลอดจนมีการออกแบบแผนผังการจัดวางสินค้า ระบบสต๊อกการ์ด และ ระบบ FIFO (First in – First out) เพื่อให้ธุรกิจสามารถบริหารคลังสินค้าได้อย่างมืออาชีพต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ส่งมอบโครงการแก่ บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ภายหลังการปรับปรุงเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 และได้ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พบว่าบริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ยังคงรักษาประสิทธิภาพของการดำเนินงาน สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับปรุงต่อยอดธุรกิจได้ด้วยตนเองตามหลักวิถีโตโยต้าอย่างต่อเนื่อง ขยายผลการสร้างมาตรฐานการดำเนินงานจนสามารถลดต้นทุนและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
รวมถึงบริหารงานได้ด้วยตนเองอย่างมืออาชีพ สามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา 100% ดังนั้น โตโยต้า และบริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 4” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจแก่วิสาหกิจชุมชนในภาคใต้ต่อไป
ปัจจุบัน โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ดำเนินการปรับปรุงธุรกิจชุมชนแล้วเสร็จจำนวน 23 แห่ง และได้ยกระดับสู่การเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” จำนวน 4 แห่ง ซึ่งในปี 2565 นี้ บริษัทฯ วางแผนที่จะเปิด ศูนย์การเรียนรู้ฯเพื่อให้ครบทั้ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้พันธกิจใหม่ของบริษัทฯ ในโอกาสการดำเนินงานในประเทศไทยครบรอบ 60 ปี เพื่อขับเคลื่อนความสุขสู่ผู้คนและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสังคมภายใต้
“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
โดย โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการถ่ายทอดแนวความรู้ในการปรับปรุงธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ ตลอดจนเฟ้นหานวัตกรรมทางความคิดใหม่ๆ มาปรับใช้กับโครงการฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มธุรกิจชุมชน นำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th