ศูนย์วิจัย MOVE มจธ. ระดมความเห็นแก้ปัญหามลพิษทางอากาศสู่ยานยนต์ไร้มลพิษ 100%
ศูนย์วิจัย MOVE มจธ. จัดเสวนาออนไลน์ระดมความคิดเห็นการเเก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคการขนส่งโดย การใช้ยานยนต์มลพิษต่ำมาตรฐาน Euro 6 เเละยานยนต์ไร้มลพิษ 100% Zero Emission Vehicle (ZEV)
ภายใต้โครงการวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันด้วยยานยนต์ ไฟฟ้ายานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และยานยนต์ที่ได้มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 6 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในบรรยากาศ”
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงานเสวนาออนไลน์รับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันด้วยยานยนต์ ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และยานยนต์ที่ได้มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 6 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในบรรยากาศ” ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เเละกรมควบคุมมลพิษ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
การจัดเสวนาในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจในวงกว้าง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งสิ้นมีผู้เข้าร่วมเสวนามากกว่า 120 ท่าน และได้รับเกียรติจากคุณพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยในการนี้ได้กล่าวถึง “ประเด็นปัญหาของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาด้านฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษพบว่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตเมืองมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากภาคการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเผาไหม้ของยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล กรมควบคุมมลพิษจึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัย MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อศึกษาแนวทางการลดการระบายฝุ่น PM2.5 จากภาคการขนส่งทางถนนทั้งในระดับประเทศไทย และโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจากการระบายฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน”
ด้าน รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการฯ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวว่า “โครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนยานยนต์ที่ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันและอนาคตด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และ ยานยนต์ที่ได้ มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 6 เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อสอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีให้ การแก้ไข ปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศในพื้นที่วิกฤต และเพื่อมีเครื่องมือที่สามารถใช้ในการประเมินความสำเร็จของมาตรการ แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยการลดการปล่อยมลพิษจากยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล”
การเสวนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ของโครงการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาประมวลผลความเหมาะสมและความเป็นไปได้ด้านเทคนิคและประโยชน์ความคุ้มทุน (Cost-Benefit) ในการส่งเสริมใช้เทคโนโลยี BEV NGV และ Euro 6 ในการทดแทนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ทั้งสำหรับยานยนต์ใหม่ และยานยนต์ที่ใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์กรองฝุ่นละออง DPF (Diesel Particulate Filter) ที่สามารถลดฝุ่นละอองได้มากกว่า 85% โดยการเสวนารับฟัง ความคิดเห็นแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นการเสวนาประเมินปัจจัยที่มีผลกระทบกับการใช้เทคโนโลยี BEV NGV และ Euro 6 ด้วยวิธีวิเคราะห์ PESTEL (Political, Economic, Social, Technological, Environmental, Legal)
และส่วนที่ 2 เป็นการเสวนาวิเคราะห์ผลการลดการระบายฝุ่น PM2.5 ภายใต้ภาพฉายที่มีการใช้เทคโนโลยี BEV NGV และ Euro 6 มาทดแทนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ทั้งสำหรับยานยนต์ใหม่และยานยนต์ที่ใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในภาพฉายของผลการศึกษาเบื้องต้น คือ ภาพฉายที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การให้ยานพาหนะใหม่ที่จะจดทะเบียนเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle) 100% ในปี ค.ศ. 2035
ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นของโครงการฯ พบว่าภายใต้ภาพฉายของการดำเนินการตามนโยบายของประเทศไทยเรื่องการบังคับใช้เชื้อเพลิงดีเซลกำมะถันต่ำ 10 ppm แทน 50 ppm ปีพ.ศ. 2567 ร่วมกับการบังคับใช้มาตรฐานการระบายไอเสียยูโร 5/6 สำหรับยานยนต์ทุกประเภทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และการให้ยานพาหนะใหม่ที่จะจดทะเบียนเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle) 100% ในปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) สามารถลดการระบายฝุ่น PM2.5 จากภาคขนส่งทางถนนของประเทศไทย ได้ถึง 42% โดยเกิดปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ประมาณ 11.9 กิโลตัน ในปีพ.ศ. 2078 (ค.ศ. 2035) และลดลงได้ถึง 78% โดยเกิดปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ประมาณ 3.6 กิโลตัน ในปี พ.ศ. 2093 (ค.ศ. 2050) เมื่อเทียบกับภาพฉายตามสถานการณ์การดำเนินงานปกติ (BAU)
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th