สัมภาษณ์ Alexander Albon Angsusinha The Power of (Thai) Dream
‘สิ่งที่แปลกสำหรับผมนะ เวลาที่ผมใส่หมวกกันน็อค ผมจะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง มันทำให้อะดรีนาลินในตัวพลุ่งพล่านดี’
ผมจำคำพูดนี้ได้ขึ้นใจหลังจากการสัมภาษณ์ผ่านไปได้สักครึ่งทาง และสารภาพตรงๆ เลยว่าค่อนข้างชื่นชมในทัศนคติของผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ซึ่งนั่งอยู่ประจัญหน้ากับผม
ผมจำไม่ได้เลยว่าเมื่อตอนอายุ 23 ปีเท่ากับ Alexander Albon Angsusinha ที่เราเรียกกันติดปากว่า Alex Albon หรือ AA23 วิธีคิดของผมเป็นอย่างไรต่อมุมมองอะไรหลายอย่างในชีวิตทั้งในที่ทำงานหรือข้างนอก แต่ที่แน่ๆ ผมคงทนหรือนั่งยิ้มอย่างชิลล์แบบเขาไม่ได้แน่นอน ถ้าต้องอยู่ท่ามกลางแรงกดดันที่กดลงมาหรือต้องแบกอะไรสักอย่างอยู่บนบ่า
วันนั้นคือ 21 กันยายน ช่วงประมาณ 4 โมงเย็นตามเวลาท้องถิ่นของสิงคโปร์ ทีมนักข่าวชาวไทยที่ได้รับเชิญจากทางบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นั่งล้อมวงอยู่บนพื้นที่ Hospitality ของทีม Honda ซึ่งในปีนี้ (และปีหน้าอีกปี) สนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับ 2 ทีมพี่น้องนั่นคือ Red Bull Racing และ STR หรือ Scuderia Toro Rosso พวกเราได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับ Albon ซึ่งถือเป็นการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อหน้าสื่อมวลชนชาวไทยหลังจากที่ถูกดันขึ้นมาเป็นนักแข่งของทีม Red Bull Racing…เพียงแค่ 4 ชั่วโมงก่อนที่การควอลิฟายรอบแรกในการแข่งขัน Singapore Grand Prix 2019 จะเริ่มขึ้น
Albon มากับท่าทางสบายๆ และมีเวลาให้เราครึ่งชั่วโมง ซึ่งถือว่ามากโขสำหรับวันเสาร์ที่ถือว่าวุ่นวายเอาการสำหรับนักแข่งและทีมแข่ง เพราะถือเป็น Qualifying Sessions วันเริ่มต้นในการชี้ชะตาการแข่งขันในสนามนั้นๆ ของแต่ละทีม และพวกเขามีงานล้นมือ
เขายิ้มออกมา…ผมโล่งใจ
เพราะอย่างน้อย นั่นคือ การยิ้มแบบกว้างที่ผมรู้สึกได้ถึงความจริงใจ และความสบายๆ ที่อยู่ในตัวเขา ณ วินาทีนั้น และถ้าเขาเป็นคนที่แสร้งทำ ก็ต้องบอกเลยว่า เป็นการแสดงที่เนียนมาก เพราะเท่าที่เคยมีประสบการณ์มา ในช่วงเวลาที่นักแข่งเหล่านี้ยืนอยู่ท่ามกลางความเครียดรายล้อมตัว คุณไม่มีวันที่จะได้เห็นนักแข่งคนไหนยิ้มกว้างขนาดนี้ ถ้าก่อนหน้านี้เขาไม่ได้รับข่าวดีมากๆ อย่างเช่นเรื่องต่อสัญญากับทีมด้วยวงเงินก้อนโต
วันนั้น พวกเราเริ่มการสนทนาจากอะไรที่เบาๆ ด้วยคำถามเบสิกแทนที่จะเป็นการสัมภาษณ์แบบเอาเป็นเอาตายอย่างการที่เขาได้มาเป็นนักแข่งรถได้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่เขาตอบออกมานั้น เป็นการยืนยันถึงความสำคัญของการสนับสนุนของครอบครัว เพราะต้นทางของแรงผลักดันมาจากคุณพ่อที่คลุกคลีอยู่ในวงการแข่งรถ และทำให้เขาซึมซับสิ่งเหล่านี้เข้าไป ก่อนจะมาเริ่มการแข่งแบบจริงจังเมื่อตอนอายุ 11 ปี จนกระทั่งได้รับโอกาสในการแข่งรายการที่ใหญ่ขึ้น และสุดท้ายก็คือการแข่งขัน F1 ที่ปีนี้เขาเป็น Rookies ที่เริ่มต้นกับทีม STR ก่อนที่จะได้รับโอกาสขยับขึ้นมาแทนที่ Pierre Gasly ในทีม Red Bull เมื่อสนามที่ 13 ในประเทศเบลเยี่ยม โดยนักแข่งชาวฝรั่งเศสที่ถูกขยับลงไปขับแทนที่ Albon ในทีม STR
ถึงตอนนี้ในหัวของผมคิดแย้งในใจขึ้นมาว่า มันจะดีหรือ ? เพราะผมกลัว (แทน) เขาว่า ถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนอยู่กับทีม Red Bull Racing ไม่เป็นไปตามที่หวัง และต้องถูกลดชั้นกลับมาเหมือนเดิม มันจะไม่กลายเป็นสิ่งที่ทำลายความมั่นใจและอนาคตของเขาหรอกหรือ ? ผมอาจจะกลัวไปเอง แต่เชื่อว่า Albon มองว่านี่คือโอกาสที่ต้องคว้าเอาไว้ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เขาเลือกที่จะวัดดวงกับโอกาสทองตรงนี้ และยอมรับกับผลของมัน (ถ้าไม่ได้ไปในทางที่ดีอย่างที่หวัง) ดีกว่าที่จะปล่อยให้หลุดลอยออกไป แล้วมานั่งเสียดายภายหลังเพราะไม่ได้ทำอะไรเลย
แน่นอนว่าการย้ายจากทีม STR มาอยู่กับ Red Bull Racing ในช่วงกลางซีซั่น ประเด็นไม่ได้อยู่แค่เรื่องการปรับตัวของนักแข่งในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังมีหลายเรื่องที่ต้องจัดการ แต่ Albond ก็ย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นทีมไหน เขาต้องปรับตัวตามการทำงานตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่รูปแบบและขั้นตอนในการทำงานทั้งหมด ทีม F1 ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายกัน และทุกคนในทีมต้องทำงานกันอย่างมืออาชีพอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การสร้างรถแข่งเพื่อให้สอดรับกับสรีระของนักแข่ง เพราะหลายคนให้ความเห็นว่า Albon สูงเกินไปที่จะเป็นนักแข่ง F1 (ตัวเขาสูง 186 เซ็นติเมตร) เรียกว่าสูงที่สุดสำหรับนักแข่งทั้ง 20 คนในซีซั่นนี้เลย จึงทำให้เขาค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะอาจจะกังวลในเรื่องหัวที่โผล่สูงและส่งผลในเรื่องแอโรไดนามิกของตัวรถ
ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยนะกับข้อสงสัยนี้ แต่กังวลในจุดที่ว่าการย้ายทีมแบบกลางซีซั่น ทำให้การสร้างรถแข่งให้กับ Albon ไม่ได้ถูกเตรียมเอาไว้ตั้งแต่แรกมากกว่า และรถที่เขาใช้น่าจะเป็นการดัดแปลงจากรถแข่งของ Gasly ที่มีความสูงเพียงแค่ 177 เท่านั้น ดังนั้น ทำให้การขับอาจจะลำบากหน่อย โดยเฉพาะการงอแขนและท่านั่ง ซึ่ง Albon ก็พูดในเรื่องของประเด็นนี้เหมือนกัน
ส่วนเรื่องน้ำหนักน่าจะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า ตามตรรกะที่ว่าตัวสูงน้ำหนักก็ต้องเยอะ เพราะนักแข่งก็เหมือนกับจอกกี้ขี่ม้าที่ต้องการคนน้ำหนักเบา เพื่อเอาส่วนต่างของน้ำหนักไปใช้กับตัวรถให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่กับกฎข้อใหม่ของ FIA มีการปรับให้เอื้อประโยชน์ต่อทีมที่มีนักแข่งตัวใหญ่น้ำหนักเยอะ ปัญหานี้เลยไม่ส่งผลมาก เพราะมีการเพิ่มจำนวนน้ำหนักนักแข่งบวกกับรถขึ้นจากเดิมอีก 7 กิโลกรัม
นั่นหมายความว่า น้ำหนักน้อยสุดของนักแข่งบวกกับเบาะนั่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 80 กิโลกรัม ดังนั้น ใครที่รวมกันแล้วได้น้ำหนักต่ำกว่านี้ จะต้องมีการถ่วงน้ำหนักในคอกพิทตามส่วนต่างที่เกิดขึ้น ดังนั้นเรื่องของนักแข่งตัวใหญ่และมีน้ำหนักเยอะจึงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป
ตลอดเวลาของการสัมภาษณ์เราแทบไม่ให้เขาหยุดพักเลย อารมณ์ประมาณ 7 รุม 1 กันเลยทีเดียว เพราะคำถามต่างๆ ถูกยิงออกมาเป็นชุดเพื่อให้คุ้มกับเวลาที่เขาสละมาให้ ทั้งเรื่องความต่างของรถแข่ง เพราะเขาได้มีโอกาสสัมผัสแชสซีส์ของรถแข่งทั้ง 2 ทีมที่ใช้เครื่องยนต์เดียวกันของ Honda และ Albon ก็บอกอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ต่างกันมากเท่าไร ตรงนี้ผมคิดต่อว่าอาจจะเป็นเพราะนี่คือทีมพี่น้อง ดังนั้น การพัฒนาก็น่าจะเป็นแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันละกัน โดยอาจจะมีเพียงแค่บางจุดของรถแข่งทั้ง 2 คันที่แตกต่างกันออกไป
แม้จะต่างกันเล็กน้อยแต่ผลที่ได้ต่างกันลิบลับเมื่อดูจากผลงานในสนามแข่งที่ผ่านมา ซึ่ง Albon มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างมากเมื่อนั่งประจำอยู่หลังพวงมาลัยของรถแข่งทีม Red Bull ซึ่ง 4 สนามที่ผ่านมา เขายังไม่เคยหลุดจากอันดับที่ 6 เลย ทั้งที่มีข้อจำกัดในเรื่องของตัวรถที่ตัวเขาบอกมาว่านั่งขับไม่ค่อยสบายเท่าไร
แน่นอนว่าคำถามสำคัญที่ทุกคนสงสัยก็คือ ตัว Albon มีความกดดันขนาดไหนกับสภาพแวดล้อมของทีมที่เปลี่ยนไปจาก STR ซึ่เขาต้องอยู่กับสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดเพราะในปีนี้ Red Bull Racing ก็หวังที่จะทำผลงานที่ดีขึ้นเพื่อกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนกับช่วงที่มี Sebastian Vettel อยู่ในทีม
‘สิ่งที่แปลกสำหรับผมนะ เวลาที่ผมใส่หมวกกันน็อค ผมจะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง มันทำให้อะดรีนาลินในตัวพลุ่งพล่านดี และผมสามารถรับมือกับเรื่องลักษณะนี้ได้’
เมื่อบวกกับคำถามก่อนหน้าที่ตัวเขาเองชื่นชอบและค่อนข้างชำนาญในการขับบน Street Circuit มากกว่า งานนี้ ผมยิ่งรู้สึกใจชื้นขึ้นมา เพราะที่สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ก็เป็น Street Circuit แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกที่เขาได้มีโอกาสสัมผัส แต่ความมั่นใจระดับนี้ก็ทำให้ผมเชื่อว่าเขาน่าจะมีผลงานที่ดี (สุดท้าย Albon จบการแข่งขันในอันดับที่ 6 อันดับเดียวกับที่เขาออกสตาร์ท)
อีเวนท์นี้น่าจะจบลงแบบไม่มีคำถามอะไรที่เป็นพิเศษกว่านี้อีกแล้ว แต่สุดท้ายคุณพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฎิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เกิดสะกิดนักข่าวข้างๆ ให้ถามถึงที่มาของสายต่างๆ ที่รัดอยู่บนข้อมือขวาของเขา ซึ่งพวกเราไม่เคยสังเกตเลยว่ามันคืออะไร
แน่นอนว่า Albon หัวเราะลั่น พร้อมกับตอบอย่างยิ้มๆ ว่า ‘เป็นเครื่องราง (ที่เป็นสายผูกข้อมือคล้ายสายสิญจน์) ที่แม่กับน้องสาวผมมักจะส่งมาให้ ถ้าอยู่ที่อังกฤษ บ้านผมจะอยู่ใกล้วัดมาก และแม่ของผมมักจะนำเครื่องรางนี้มาให้ผูกข้อมือ เพื่อความโชคดี พร้อมกำชับว่าห้ามตัดนะ วันไหนผมไปแข่งไกลๆ ไม่ได้กลับบ้าน พวกเขาก็จะเก็บเอาไว้ให้ ผมก็ใส่มาตลอดตั้งแต่ต้นปี’
เอาจริงๆ นะ ผมอยากที่จะถามอะไรที่มันเด็ดๆ โดนๆ ตามสไตล์นักข่าวที่มักจะชอบนึกประเด็นอะไรแปลกๆ ไม่เหมือนใคร แต่สารภาพตามตรงว่า ณ ตอนนั้น ผมคิดว่าตัวเองควรวางสิ่งนี้ลง และเลือกถามคำถามที่สร้างความสบายใจ ไม่รู้สึกลำบากใจในการที่จะต้องตอบ เพราะบางคำถาม แม้คนถามอาจไม่คิด แต่มันอาจไปสะกิดอะไรบางอย่างในใจของผู้ถูกถามอย่างไม่รู้ตัวได้
แน่นอน ผมไม่อยากทำให้วันดีๆ ของ Albon ต้องขุ่นมัวเพราะเรื่องทำนองนี้หรอก ผมอยากเห็นธงไทยโบกสะบัดบนโพเดี้ยมในสนามนี้ และเขาคือคนเดียวที่จะทำสิ่งนี้ให้เป็นจริง ดังนั้น งานของผมจึงดูเล็กลงไปถนัดใจเลยเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาต้องแบก…ความฝันของคนไทยเกือบทั้งชาติ
ขอบคุณ : บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับทริปการเดินทางสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ 2019 และการสัมภาษณ์ Alex Albon ในครั้งนี้
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th