หลงทางเสียเวลา อุตส่าห์ให้ GPS พามาเกือบตกคลอง!!
กลายเป็นเรื่องตะลึง มึนงง กันไปตามๆ กัน เมื่อมีการแชร์ภาพรถตู้ระดับหรูขับพุ่งไปบนทางคนเดินริมคลอง ซึ่งไล่เรียงเรื่องราวได้ความว่า “ขับตามจีพีเอส” ที่นำทางจากถนนใหญ่มาถึงทางปูนเลียบคลองขนาดเล็ก ซึ่งเส้นทางนี้ทำเอาไว้สำหรับชาวบ้านละแวกนั้นเดินและขี่มอเตอร์ไซค์เลียบคลองนั้นๆ
หากดูจากภาพแล้วจะเห็นว่ามีรอยครูดไปบนพื้นปูนเป็นทาง ไม่ต้องสืบว่าใต้ท้องรถจะลายขนาดไหน แต่เดชะบุญโชคยังดีที่รถไม่ตกลงไปในคลอง และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะเกิดจากการขับมาด้วยความเร็วและไม่คุ้นชินทาง งานเลยเข้าเจ้าหน้าที่ในวันหยุด ต้องใช้เครนยกรถขึ้นมาบนฝั่ง แต่จะว่าไปแล้ว เรื่องแปลกๆ ที่เกิดจากจีพีเอส (GPS) เป็นต้นเหตุก็เกิดขึ้นหลายครั้งทั้งในไทยและต่างประเทศ แล้วทีนี้เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจีพีเอสจะไม่พาหลง (ทาง)
ทำความรู้จักกับจีพีเอส (GPS) กันก่อน GPS ย่อมาจากคำว่า Global Positioning System คือ ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก โดยอาศัยการคำนวณจากความถี่สัญญาณที่ส่งมาจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก ทำให้ระบบนี้รู้ตำแหน่งจุดที่สามารถรับสัญญาณได้ทั่วโลก ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาระบบมาตั้งแต่ปี 1957 โดยกองทัพเรือสหรัฐ มาจนถึงยุคปัจจุบันที่จีพีเอสมีบทบาทกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต และสามารถใช้งานจีพีเอสได้ทั้งจากภายในรถยนต์ แม้กระทั่งในสมาร์ทโฟนก็มีจีพีเอสให้ใช้งานในการบอกตำแหน่งและการนำทาง
แต่นำทางยังไงให้หลงทาง…เรื่องนี้จะโทษระบบอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นผู้ใช้ระบบจึงต้องใช้ให้เป็นและรอบคอบ อย่างในกรณีนี้บอกได้ว่า “ประมาท” ซึ่งการขับรถแล้วให้จีพีเอสนำทาง ผู้ขับรถต้องมองทางอยู่เสมอเป็นปกติ ซึ่งหากเจอทางที่แคบกว่าปกติ, ทางตัน, บอกให้เลี้ยวซ้าย แต่ทางเป็นเลี้ยวขวา ฯลฯ ผู้ขับต้องเอะใจอยู่แล้วว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ยิ่งเป็นทางปูนแคบๆ เลียบคลองแบบนี้ยิ่งต้องหยุดเช็คเส้นทางกันใหม่ ไม่ใช่พุ่งไปแบบนั้น แต่ในสถานการณ์ตอนนั้นไม่มีใครรู้ได้ว่าผู้ขับคิดอะไรอยู่ แต่ที่แน่ๆ ในฐานะของคนที่ขับรถโดยมีจีพีเอสนำทางเป็นประจำ บอกได้ว่าเรื่องนี้ประมาทจริงๆ
สรุปแล้วจีพีเอสพาหลงจริงหรือไม่…จีพีเอสไม่ได้พาหลง แต่จีพีเอสมักจะหาเส้นทางที่ใกล้ที่สุดเสมอ ซึ่งเวอร์ชั่นของจีพีเอสที่มีการอัพเดทข้อมูลเส้นทางที่ต่างกัน มีผลทำให้นำไปในเส้นทางที่ไม่ควรพาไปได้เช่นกัน หากใครใช้จีพีเอสในการนำทางเป็นประจำ จะเห็นว่าจีพีเอสมักจะหาเส้นทางไปยังจุดหมายที่ใกล้ที่สุดเสมอ และเมื่อขับไปผิดเส้นทางระบบจะปรับข้อมูลเส้นทางให้ใหม่แล้วนำทางไปในเส้นทางใหม่ที่ใกล้ที่สุดอีกครั้ง แต่ด้วยเวอร์ชั่นที่อาจจะไม่ได้อัพเดท ระบบ (อาจจะ) เลือกเส้นทางที่คำนวณได้ว่าเป็นเส้นทางเดินรถ เพราะรูปแบบเส้นทางในบ้านเรามีทั้งถนนใหญ่ ถนนเข้าซอย แล้วลัดเลาะเข้าซอยเล็กซอยน้อย ทำให้จีพีเอสคำนวณเส้นทางผิดก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน
แล้วจะเชื่อใจจีพีเอสได้หรือ…เชื่อใจได้สิ แต่!! ผู้ใช้งานจำเป็นต้องรู้จักการใช้งานของจีพีเอสอย่างถูกต้อง และมีข้อแนะนำคือ
1.หากต้องใช้จีพีเอสในการนำทาง ผู้ขับรถควรศึกษาเส้นทางก่อนเดินทางเสมอ โดยเฉพาะเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย
2.ศึกษาการใช้งานของจีพีเอสที่ติดตั้งอยู่ในรถให้เข้าใจ รวมทั้งการตั้งค่าการใช้งานต่างๆของจีพีเอสให้ถูกต้อง
3.หากพบเส้นทางที่ผิดปกติ ควรเปลี่ยนเส้นทางใหม่
4.หากอุปกรณ์จีพีเอสสามารถอัพเดทเวอร์ชั่นได้ ควรติดต่อผู้ให้บริการในการอัพเดทเสมอ
5.ควรใช้จีพีเอส ควบคู่ไปกับ “สมองและสองตา” เสมอ
ขอให้สนุกกับการขับรถ และจีพีเอสมีเอาไว้ “ใช้ให้เป็น” จะได้ “ไม่หลงทาง”
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th