หอยนั้น สำคัญไฉน !!! ทำไม “กินแล้วแรง” 5 ข้อ รู้เฟื่องเรื่องเทอร์โบ
เครื่องยนต์ในปัจจุบัน จะได้ยินคำว่า “เทอร์โบ” ควบคู่ด้วยเสมอ โดยเฉพาะกับ “เครื่องยนต์ดีเซล” ที่ใช้อยู่ในรถกระบะ หรือ SUV สไตล์ Off Road ทั้งหลาย รวมไปถึงรถระดับ Premium ของค่ายยุโรปชั้นนำต่างๆ ที่เป็นไฟท์บังคับว่าต้อง “มีเทอร์โบจากโรงงาน” รวมไปถึงรถเครื่องเบนซิน ที่เน้นสมรรถนะสูง และตอนนี้ ไปถึงเหล่า Eco Car Phase 2 ที่ใช้เครื่องเล็กเพียง 1.0 ลิตร 3 สูบ เท่านั้นเอง แต่ก็ต้องอาศัยพลังจาก “หอยพิษ” ที่หน้าตาคล้าย Blower เป่าเตาหอยทอดนี้ทั้งสิ้น แล้ว “เทอร์โบ” มันมีดี ครั้งนี้ เราของเล่าแบบง่ายๆ ถึงทั้งข้อเสียและข้อเสียของมันกันครับ…
- เทอร์โบคืออะไร : มันคือ “อุปกรณ์อัดอากาศ” หน้าตาเหมือนหอยโข่ง แบ่งเป็นสองฝั่ง คือ ฝั่งไอดี และ ฝั่งไอเสีย ด้านในทั้งสองฝั่งมี “กังหัน” ที่ “ยึดติดด้วยแกนหมุนไปด้วยกัน” การทำงานของมัน จะอาศัย “แรงดันไอเสีย” มาผลักให้ใบพัดไอเสีย (Turbine) เริ่มหมุน แล้วมันก็จะพาใบพัดไอดีที่อัดอากาศเข้าห้องเผาไหม้ (Compressor) พอเร่งเครื่อง ใบพัดหมุนได้รอบ ก็จะเกิด “การอัดอากาศ” หรือ “บูสต์” (Boost) ทำให้กำลังเครื่องเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ความแรงมันได้จากตรงนี้แหละครับ…
- ลดขนาดเครื่องยนต์ให้เล็กลงได้ : เครื่องยนต์สันดาปภายใน ต้องการ “อากาศ” และ “ออกซิเจน” เข้าไปในการเผาไหม้ ยิ่งเผาไหม้แรงและหมดจด ก็จะยิ่งได้กำลังเครื่องยนต์ที่มาก แต่การที่จะได้กำลังมากนั้น เราต้อง “เพิ่มขนาดความจุของเครื่อง” ทำให้เครื่องใหญ่โตขึ้น น้ำหนักมากขึ้น ณ ตอนนี้ เครื่องยนต์ถูก “ลดขนาด” ให้เล็กที่สุด หรือ Downsizing เพื่อน้ำหนักเบา ประหยัดเนื้อที่ ประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วเอา เทอร์โบ เข้ามาช่วยในการเพิ่มพลังได้อย่างมากมาย ตอนนี้สังเกตได้ว่า แม้จะเป็นรถหรูหรา ต่างก็ใช้เครื่องยนต์ความจุน้อย ไม่ได้ใหญ่โตมโหระทึกเหมือนแต่ก่อน แต่สมรรถนะ “เหลือกินเหลือใช้” จริงๆ…
- เทอร์โบ แรง กินน้ำมัน ขับอันตราย จริงหรือ : ได้ยินกันมาแต่ยุคเก่า ติดเทอร์โบกินน้ำมัน มันก็จริงครับ เพราะถ้าจะให้มันแรง ก็ต้องเพิ่มเชื้อเพลิงมากขึ้น แต่ในสมัยนี้ เทคโนโลยีทุกอย่างสูงขึ้นมาก เทอร์โบมาช่วยแรง ทำให้เครื่องยนต์มีแรงบิดสูง ไม่ต้องเหยียบคันเร่งมาก แถมยังช่วยให้เผาไหม้หมดจด ประหยัด มลภาวะต่ำอีกด้วย ส่วนเรื่องที่ว่า เทอร์โบแรง อันตราย อันนี้พูดถึง “รถบ้านทั่วไป” ผมว่า “อยู่ที่สติของคนขับ” เครื่องแรงขึ้นก็อันตรายขึ้นเป็นปกติ จะเทอร์โบหรือไม่ก็ไม่เกี่ยว แต่ไม่ต้องคิดมาก รถทั่วไปมันไม่ได้แรงระดับ Super Car เขาผลิตมาให้คนทั่วไปใช้ได้ ไม่ต้องกังวล ไม่รู้สินะ ผมว่ามัน “ขับง่าย” ขึ้นอีกต่างหาก กดเบาๆ มันก็ไปพริ้วๆ ไม่เชื่อต้องลองเองเด้อ…
- เครื่องเทอร์โบไม่ทน: ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็ยังกลัว และได้ยินคำพูดตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาว่า เครื่องเทอร์โบไม่ทน พังง่าย อันนี้ต้องทำความเข้าใจนะครับ ว่าในสมัยก่อนที่ “ติดเทอร์โบกันเอง” อันนั้นจริงครับ เพราะเครื่องเดิมไม่ได้เผื่อมารับ ในสมัยนี้ก็ยังมี เครื่องธรรมดา ไปติดเทอร์โบ บูสต์บ้าพลัง ก็ไม่เหลือสิครับ แต่ถ้าเป็น “เครื่องเทอร์โบจากโรงงาน” ไม่มีปัญหา เพราะเขาดีไซน์มารองรับไว้แล้ว จึงใช้งานกันปกติยาวๆ เว้นแต่ !!! คุณไป “ซน” โมดิฟาย เพิ่มบูสต์ อายุการใช้งานมันก็สั้นลงเป็นธรรมดาครับ ว่าไม่ได้เพราะคุณไปทำผิดเงื่อนไขเอง…
- เครื่องเทอร์โบซ่อมแพง จุกจิก ยุ่งยาก : ถ้าพูดกันตามหลักความจริง มันก็ “จริง” เพราะอุปกรณ์มันเยอะขึ้น ดังนั้น การซ่อมบำรุงแบบหนักๆ มันย่อมแพงกว่าเครื่องธรรมดาแน่นอน น้ำมันเครื่องก็ต้องใช้เกรดสูงขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องกังวลครับ ถ้า “ใช้งานและดูแลรักษาแบบมนุษย์ปกติ”” ก็ไม่เห็นจะมีอะไรน่าหนักใจ เว้นแต่เจอพวก Teen หนัก ขับเทอร์โบแล้วมันส์ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นธรรมดา…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th