หัวเชื่อน้ำมันเครื่อง จำเป็น หรือไม่สำหรับเครื่องยนต์
หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง (Oil Additives) เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ที่ขายกันเกลื่อนอยู่ในท้องตลาด ตามร้านขายน้ำมันเครื่อง ในห้าง ขายบนอินเตอร์เน็ต ศูนย์บริการพวก one stop service แม้กระทั้งศูนย์บริการมาตรฐานของค่ายรถแบนรด์ดังก็ยังมี อันนี้หนักเลยครับเวลานำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ เพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เรามักจะโดนยัดเยียดน้ำยาหัวเชื้อต่างๆเหล่านี้มาให้อยู่ในรายการเสมอ สำหรับคนที่พอรู้เรื่องรถยนต์บ้างก็จะบอกว่าไม่เอาไม่ต้องใส่ เพราะราคามันก็ไม่ได้ถูกนะครับ ขวดละพันกว่าบาทเลย แต่ถ้าคนที่ไม่รู้อะไรเลยเรื่องรถยนต์ทางเซลส์บอกต้องใส่ครับ ใส่แล้วรถยนต์จะดีขึ้นไปล้างคราบสกปรก ภายในเครื่องยนต์ ก็จะให้ใส่ลงไป วันนี้เรามาดูกันว่าไอ้เจ้าหัวเชื้อน้ำมันเครื่องมันคืออะไร มันดีจริงหรือไม่ และจำเป็นต้องใส่มั้ย
หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง ต่างๆในท้องตลาดจะอ้างว่า เมื่อใส่แล้วทำให้ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น เพิ่มกำลังเครื่องยนต์ เพิ่มการปกป้องของเครื่องยนต์ ลดแรงเสียดทาน ช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่อง ฟังดูแล้วมันช่างน่าซื้อซะเหลือเกิน ถ้ามันปกป้องเครื่องยนต์แบบนั้นได้จริง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของน้ำมันเครื่องกันก่อนเลยครับ โครงสร้างของน้ำมันเครื่องนั้น จะประกอบไปด้วยสารทั้งหมด 2 ตัว ก็คือ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oil) และ สารเติมแต่ง (Additives) โดยที่น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oil) จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณสมบัติหลักของน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดครับ ส่วนสารเติมแต่งนั้น ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวน้ำมันเครื่องอีกต่อหนึ่ง ซึ่งแต่ละยี่ห้อ-แต่ละเจ้า เค้าก็จะมีสูตรของสารเติมแต่งที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้น้ำมันเครื่องสามารถตอบสนองกับการใช้งานของลูกค้า ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ปกติแล้ว น้ำมันเครื่องที่เราคุ้นเคยแบ่งได้ทั้งหมด 3 ชนิดได้แก่ น้ำมันเครื่องธรรมดา (Conventional Oil), น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ (Synthetic Oil) และ น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi-synthetic Oil)
หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง (Oil Additives) ก็คือสารตัวเดียวกันกับ สารเติมแต่ง (Oil Additives) ที่ถูกใส่มากับน้ำมันเครื่องอยู่แล้วเช่น สารทำความสะอาด” (Detergents) ที่ช่วยลดการสะสมตัวของสิ่งเจือปนในน้ำมันเครื่อง ชะล้างเม็ดฝุ่นและผงเหล็กจากพื้นผิวเครื่องยนต์เพื่อลดสึกหรอ ,สารป้องการความเป็นกรด” (Anti-acids) ที่ช่วยปรับให้น้ำมันเครื่องไม่เป็นกรดมากเกินไปจนเกิดการกัดกร่อนกับเครื่องยนต์ระยะสั้นได้ ,สารปรับแต่งความหนืด” (Viscosity Modifiers) ที่ช่วยทำให้น้ำมันเครื่องรักษาความหนืดที่ดีที่สุดไว้แม้จะทำงานในอุณหภูมิและความดันสูง
การเติมหัวเชื้อที่มีสูตรเดียวกันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือนะครับ ไม่รู้สึกเลยก็ว่าได้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ครับเพราะในปัจจุบันน้ำมันเครื่องส่วนใหญ่มีการพัฒนาไปมากแล้วใส่สารเติมแต่งมาแล้วเกือบทุกยี่ห้อ เพราะฉะนั้น หัวเชื้อน้ำมันเครื่องจึงไม่มีความจำเป็นเลยก็ว่าได้ แต่ในกรณีที่ว่าคุณไปซื้อน้ำมันเครื่องที่ไม่ได้ใส่สารปรุงแต่งมา หรือใส่มาแล้วยังมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน การเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง ก็เป็นการเพิ่มคุณสมบัติบางประการที่ไม่ได้มาพร้อมกับน้ำมันเครื่อง อันนี้ก็อาจจะช่วยได้และเห็นผลบ้าง (แต่น้ำมันเครื่องแบบนี้ยังมีอยู่อีกหรือเปล่าไม่รู้นะครับ ฮาฮา )
อย่างไรก็ตามถ้าคุณยังอยากจะเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง ก็ควรเลือกยี่ห้อที่ได้มาตรฐานนะครับ ย้ำต้องได้มาตรฐาน เพราะถ้าคุณไปซื้อยี่ห้อที่ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่เห็นขายอยู่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต บางยี่ห้อที่ไม่มีมาตรฐาน หรือไม่มีการผ่านการทดสอบใดๆเลย ไม่มีที่มาที่ไป ก็มีโอกาสที่มันจะทำให้เครื่องยนต์ของคุณค่อยเสื่อมลง และพังได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่ใส่สาร PTFE ในปริมาณที่มากเกินควร หรือที่รู้จักกันในชื่อ เทฟล่อน ที่เค้าเอาไว้เคลือบกระทะนั่นแหละครับ มันจะลื่นมาก ด้วยความลื่นของมันนี่แหละ ที่ทำให้มันไม่สามารถเกาะอยู่ตามชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ แต่ชิ้นส่วนที่ถูกเคลือบนั้นจะเป็นชิ้นส่วนที่ไม่เคลื่อนที่ซะส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นท่อทางเดินน้ำมันเครื่อง รวมไปถึงกรองน้ำมันเครื่อง งานเข้าซิครับเคลือบกรอง เคลือบท่อก็ตันซิครับ
สรุป ว่าการเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่องลงไปไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก แถมถ้าเติมสารกระตุ้นในปริมาณที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้หัวเชื้อไปทำปฏิกิริยากับสารเติมแต่งซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติทางเคมีบางประการของน้ำมันเครื่อง และนำมาซึ่งปัญหาเกี่ยวกับระบบหล่อลื่นและการระบายความร้อน แต่ถ้าคุณอยากจะเติมจริงๆควรเลือกสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีการรับรอง รับประกัน มีส่วนผสมบอกอย่างละเอียดข้างกล่อง ทุกสินค้ามีข้อดี-ข้อเสีย ต้องศึกษาก่อนตัดสินใจนะครับ
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ข้อมูล : http://www.johsautolife.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th