อยากมีใบขับขี่ต้องทำอย่างไรบ้าง
ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับขี่ เพราะใบอนุญาตขับขี่คือเอกสารสำคัญทางราชการที่ยืนยันว่าคุณสามารถใช้รถได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน สำหรับคนที่กำลังจะทำใบอนุญาตขับขี่เรามีข้อแนะนำมาฝาก
ขั้นตอนการทำใบขับขี่
จองคิวอบรม
ไม่ต้องไปสียเวลายืนต่อคิวแต่เช้ามืดและลุ้นว่าคิวจะเต็มหรือไม่ เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกได้พัฒนาระบบออนไลน์การจองคิวเพื่อสอบใบขับขี่ขึ้นมา เพียงแค่เปิดหน้าเว็บไซต์ http://ebooking.dlt.go.th/ebooking/ แล้วกรอกข้อมูลลงไปเท่านั้น ก็สามารถนัดคิวอบรมได้เลย เมื่อได้คิวแล้วคุณจะต้องเข้าอบรมทั้งหมด 5 ชั่วโมง
ขั้นตอนระบบการจองคิว
-เข้าไปที่เว็บไซต์ http://ebooking.dlt.go.th/ebooking/
-กรอกประวัติ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก
-เลือกประเภทใบอนุญาต/ หลักสูตร/ จังหวัด/ สำนักกรมการขนส่งจังหวัด รวมทั้งเลือกวัน เดือน และปีที่ต้องการจองคิว หากว่างจะแสดงเป็นหมายเลขห้องอบรม และจำนวนที่นั่งว่าง
ทั้งนี้ ในวันสอบใบขับขี่จริงจะต้องไปก่อนเวลานัด 30 นาที มิเช่นนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์และต้องทำการจองใหม่
เอกสารที่ต้องยื่นในการสอบ
บัตรประชาชนฉบับจริง พร้อมสำเนาหนึ่งชุด
ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกินหนึ่งเดือน (เฉพาะผู้ขอรับใบขับขี่ใหม่ ใบขับขี่ส่วนบุคคลชั่วคราวขาดเกิน 1 ปี และ 3 ปี รวมทั้งใบขับขี่ส่วนบุคคลขาดเกิน 3 ปี) สามารถขอได้จากโรงพยาบาล หรือคลินิกการแพทย์
ใบขับขี่ใบเดิม (ถ้ามี)
ใบรับรองการอบรม (สำหรับผู้เข้าอบรมนอกกรมขนส่งฯ) โดยคุณสามารถจองคิวอบรมได้ด้วยตัวเองที่กรมขนส่งทางบก และโทรศัพท์ Hotline 1584 หรือ ขั้นตอนการจองห้องอบรมขอรับใบอนุญาตขับรถ
ทดสอบร่างกาย
ในการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย จะแบ่งการทดสอบเป็นดังนี้ การทดสอบการมองเห็นสีที่จำเป็นในการขับรถ การทดสอบสายตาทางลึก
การทดสอบสายตาทางกว้าง และทดสอบปฏิกิริยาเท้า (ความสามารถในการใช้เบรกเท้า)
อบรม 5 ชั่วโมง
การอบรมในแต่ละรอบนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคเช้า เริ่ม 9.30 – 12.00 น. และภาคบ่ายเริ่ม 13.00 – 15.30 น. โดยเจ้าหน้าที่จะให้ความรู้เรื่องป้ายจราจร สัญญาณจราจร และเปิดวิดีโอต่าง ๆ ทั้งภาพการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง คลิปการขับรถปลอดภัย เป็นต้น
สอบข้อเขียน
ในการสอบข้อเขียนจะทำผ่านระบบ Electronic Examination จำนวน 50 ข้อ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยเนื้อข้อสอบจะอยู่ในเนื้อหาที่เราอบรมมาใน 5 ชั่วโมง คือ หมวดกฎหมายจราจร, หมวดกฎหมายรถยนต์และรถจักรยานยนต์, หมวดเครื่องหมายจราจร, หมวดมารยาทและจิตสำนึก และหมวดการบำรุงรักษารถ และต้องตอบให้ถูกอย่างน้อย 45 ข้อ หรือ 90% ของข้อสอบ เพื่อที่จะผ่านการประเมิน ถ้าสอบไม่ผ่านในครั้งแรกก็สามารถลงสอบได้ในครั้งต่อไป
สอบปฏิบัติตามท่าบังคับ
ท่าที่ 1 ขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง
ให้ขับรถในช่องเดินรถที่ระยะ 12 เมตร เดินหน้า 1 ครั้ง และถอยหลัง 1 ครั้ง โดยต้องไม่ขับชนหรือเบียดเสาหลัก ที่ตั้งวางเรียงกันทั้งซ้ายและขวา และอย่าให้เครื่องยนต์ดับในขณะทดสอบอยู่
ท่าที่ 2 ขับรถเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า
ด้านซ้ายของตัวรถต้องจอดขนาน และห่างจากขอบทางไม่เกิน 25 ซม. โดยจอดให้ล้อหน้าและหลัง ล้อทับเส้นสีที่กำหนด กันชนหน้ารถต้องไม่เกินจุดหยุดรถข้างทางและห่างจากเส้นหยุดรถไม่เกิน 1 เมตร
ท่าที่ 3 ขับรถถอยเข้าซอง
ให้ขับรถถอยหลังเข้าจอดและออกจากช่องว่างด้านซ้าย เปลี่ยนเกียร์ได้ไม่เกิน 7 ครั้ง ต้องไม่ชนหรือเบียดเสาในพื้นที่ที่กำหนด ตัวรถต้องขนานกับขอบทางหรือเสาหลักด้านซ้าย กระจกข้างต้องไม่ล้ำออกมาเกินเส้นที่กำหนด
เสร็จขั้นตอน ชำระค่าธรรมเนียม
-ค่าธรรมเนียมขอมีบัตร 5 บาท
-ค่าทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 200 บาท
-ค่าทำใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 100 บาท
-ค่าถ่ายรูปเป็นบัตรสมาร์ตการ์ด 100 บาท
สำหรับผู้ที่ทำใบขับขี่รถยนต์ มียอดชำระ 305 บาท ส่วนผู้ที่ทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์ มียอดชำระ 205 บาท
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th