ขับๆ รถแล้วเกิดปัญหาฉุกเฉิน ทำอย่างไรดี
เหตุฉุกเฉินหรือปัญหาในระหว่างการขับขี่ ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าคิดจะขับรถ เรื่องพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง เพียงแต่ว่าในขณะที่เกิดเหตุฉุกเฉิน สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีอย่างยิ่งคือ ‘สติ’ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือถ้าอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็น่าจะช่วยบรรเทาระดับความรุนแรงลงได้ไม่มากก็น้อย รวมถึงยังเป็นการพาตัวเองและเพื่อนร่วมรถให้รอดพ้นจากอันตรายเหล่านี้
- เบรกแตก
เป็นคำที่ถูกใช้บ่อยถึงความบกพร่องของระบบเบรกที่ทำให้ไม่สามารถหยุดได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารถจะเสียหายจนหยุดไม่ได้เลย เพราะสำหรับในรถยนต์นั่งแล้ว ระบบเบรกมักจะถูกแบ่งออกเป็น 2 วงจร เพื่อความปลอดภัย หากวงจรหนึ่งบกพร่องเสียหาย ก็ยังเหลืออีก 1 วงจรเอาไว้จัดการหยุดรถ เพียงแต่ประสิทธิภาพในการหยุดคงลดลงอย่างมาก โดยอาจจะเหลือเพียงครึ่งเดียวจากระดับปกติ
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เบรกแล้วไม่อยู่ และอาจจะต้องใช้เบรกมือและการลดตำแหน่งเกียร์เพื่ออาศัย Engine Brake เข้าช่วย โดยใช้วิธีเหยียบแป้นเบรกในน้ำหนักที่พอเหมาะ หากเบรกจมลึกลงไปก็ให้ถอนเท้าออกแล้วเหยียบลงไปใหม่ ย้ำสลับกันไปอย่างนั้น โดยที่ค่อยๆ ลดตำแหน่งเกียร์ลงต่ำทีละตำแหน่ง และถ้ายังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดดี ก็สามารถดึงเบรกมือค้างขึ้นแล้วรีบปล่อยลง สลับๆ กันหลายๆ ครั้ง เพื่อลดความเร็ว จากนั้นก็นำรถเข้าจอดที่ข้างทางในตำแหน่งที่ปลอดภัย
- เครื่องดับกลางอากาศ
อาจจะเป็นเพราะความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งของเครื่องยนต์ทั้งในส่วนระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเมคานิกอย่างสายพานราวลิ้นขาด ทำให้เครื่องยนต์อยู่ดีๆ ก็ดับไปซ่ะอย่างนั้น ของอย่างนี้ไม่ต้องตกใจ โดยเฉพาะหลายคนที่กดเบรกแล้วปรากฏว่ากดไปได้แค่ทีหรือ 2 ทีแป้นเบรกก็แข็งโป้กขึ้นมา ไม่สามารถกดลงไปได้อีก
ทางออกคือ ต้องมีสติ แล้วใช้ทางออกเหมือนกับเวลาเบรกแตก เพียงแต่คราวนี้ต้องพึ่งแค่การลดตำแหน่งเกียร์กับการดึงเบรกมือเข้าช่วย พร้อมกับเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อบอกให้รถคันอื่นทราบ ซึ่งถ้าแล่นมาด้วยความเร็วไม่มาก สัก 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และการจราจรบนถนนไม่แน่นมาก ก็คงไม่ใช่เรื่องยากในการนำรถเข้าจอดข้างทาง
- ลากรถอย่างไรดี
บ่อยครั้งที่รถเสียกลางทาง แล้วไม่สามารถซ่อม ณ จุดเกิดเหตุได้ การลากจูงเพื่อพาไปยังอู่ซ่อมจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามมา สำหรับคนที่มีนิยมความสบายด้วยการโทรเรียกผู้ให้บริการรถลากจูง ก็หมดปัญหาไป เพราะทางผู้ให้บริการจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย แต่สำหรับคนที่ไม่มีเบอร์ หรืออาจจะไม่มีโทรศัพท์ งานนี้ก็คงต้องพึ่งความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทาง หรือแท็กซี่
อุปกรณ์ที่ควรมีติดรถเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นรถเก่าหรือรถใหม่ป้ายแดงคือ สายลากจูง เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องเป็นฝ่ายลากหรือถูกลากเมื่อไร ดังนั้นควรมีเอาไว้ก่อนย่อมดีกว่า ส่วนการลากควรใช้ความเร็วไม่สูงมาก ประมาณ 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากรถยนต์สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ แต่ไม่สามารถขับเคลื่อน ก็ควรสตาร์ทเอาไว้ เพื่อที่จะได้ใช้ระบบเบรกได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่เครื่องยนต์ไม่ติด ก็ควรใช้เบรกมือเข้าช่วยในการลดความเร็ว
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การทำป้ายบอกเพื่อนร่วมทาง โดยแปะเอาไว้ที่ท้ายรถของคันที่ถูกลาก รวมถึงการนำผ้าหรือเชือกที่มีสีสันสะดุดตานำมาผูกเอาไว้ที่สายลากจูงเพื่อป้องกันไม่ให้มอเตอร์ไซค์มุดเข้ามา หรือเตือนให้คนเดินถนนทราบ เป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการสะดุดสายลาก
หากต้องลากเป็นระยะทางไกลๆ เกิน 50 กิโลเมตร ควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้น้ำมันเกียร์และเฟืองท้ายได้ระบายความร้อน และเป็นการลดความเสียหายให้กับชิ้นส่วนเหล่านี้
- เมื่อรถตกน้ำ
เป็นอีกเหตุการณ์ที่ต้องใช้สติในสการสยบอาการหวาดวิตก เมื่อรถตกลงไปในนำอาจจะเป็นแม่น้ำ คลอง หรือแอ่งน้ำลึก สิ่งที่ควรทำคือ ปลดเข็มขัดนิรภัยออก จากนั้นอย่าออกแรงใดๆ เพื่อสงวนการใช้อากาศหายใจซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนจำกัด และเมื่อน้ำเข้ามาในรถให้ยกส่วนศีรษะให้สูงเหนือระดับน้ำที่ค่อยๆเพิ่มขึ้น แล้วจึงปลดล็อกประตู
ทางออกเดียวสำหรับปัญหานี้คือ การไขกระจก หรือทุบกระจกให้น้ำไหลเข้าในรถเพื่อปรับความดันในรถและนอกรถให้เท่ากันมิฉะนั้นท่านจะเปิดประตูรถไม่ออกเพราะน้ำจากภายนอกตัวรถจะดันประตูไว้ และเมื่อความดันใกล้เคียงกันแล้วให้ผลักบานประตูออกให้กว้างสุดแล้วออกจากห้องโดยสารของรถได้