เกิด-ดับและกลับมาเกิด วัฏจักรของสปอร์ตแดนปลาดิบ
ในยุคหนึ่งของความรุ่งเรือง ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีการผลิตรถสปอร์ตออกสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคทศวรรษที่ 1980-1990 แต่อยู่ดีๆ มันกลับก็หายไปซะอย่างนั้น และหลายรุ่นที่เคยมีการผลิตก็สูญพันธุ์ไปจากตลาดเลยหลังจากที่ครบอายุ ไม่ว่าจะเป็น Mazda RX-7, Nissan Skyline GT-R และ Silvia, Honda Prelude หรือแม้แต่ Toyota Supra…เกิดอะไรขึ้น ?
คำถามนี้เคยถูกตั้งขึ้นโดยบรรดาผู้ที่ชื่นชอบรถสปอร์ตจากแดนปลาดิบ แต่ทว่าคำตอบที่แท้จริงของมัน กลับยังไม่มีการเฉลยออกมา แต่ถ้าพิจารณาจากบริบทรอบด้านแล้ว สาเหตุมันก็คือเรื่องของอุปสงค์และอุปทานของตลาดที่ส่งผลต่อยอดขาย เพราะรสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในญี่ปุ่นเอง บวกกับตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นจุดปล่อยของของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในยุคนั้นและอีกประเด็นคือ บริบทในเชิงเศรษฐกิจและความบอบช้ำของตัวผู้ผลิตเอง
อย่างในเคสของ Nissan และ Mitsubishi ซึ่งถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวมาตลอดจะพบว่า ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 คือ ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของทั้ง 2 ค่าย โดยเฉพาะ Nissan ซึ่งแทบล้มทั้งยืน เพราะตัวเลขติดลบจนยากที่จะเดินหน้าต่อไป และการเข้ามาของ The Cost Killer อย่าง Carlos Ghosn ทำให้โปรเจ็กต์ที่ ‘ฟุ่มเฟือย’ อย่างรถสปอร์ตถูกหั่นลงไปโดยที่ไม่สนใจกับ ‘ประวัติศาสตร์’ เพราะวินาทีนี้ คือ ทำอย่างไร บริษัทถึงจะอยู่รอดได้ ดังนั้นเขาจึงหั่นทั้งต้นทุน และรายจ่ายที่ไม่เหมาะสมออกไป
ตอนนั้นเราจึงได้เห็นการฆ่าตัดตอน Skyline รวมถึงตัวท็อปอย่าง GT-R และ Silvia หรือแม้แต่ Failady หรืออีกชื่อคือ Z-Car เพื่อให้บริษัทหันไปเน้นกับการพัฒนารถยนต์ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า เพราะการทำอะไรตามความรุ่มรวยของประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่มีทางที่จะพาคุณให้รอดพ้นเมื่อต้องเจอวิกฤต แถมอาจจะทำให้อยู่ในสภาพหนักกว่าเก่าด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม หลังจากมรสุมผ่านไป คราวนี้การหันกลับมามองหาอดีต หรืออะไรที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ก็สามารถทำได้แล้ว ซึ่งความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้สมควรจะได้กลับมาตั้งแต่ยุคกลางทศวรรษที่ 2000 ถ้าไม่เจอ 2 วิกฤตเข้าไป นั่นคือ ราคาน้ำมันที่แพง และ Hamburger Crisis ในสหรัฐอเมริกา
ประเด็นแรกเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เพราะ ‘ม้าต้องกินหญ้า’ ดังนั้น รถสปอร์ตที่ดี เครื่องยนต์ต้องสมรรถนะสูงและดี ซึ่งหมายถึงการกินน้ำมัน โดยที่ตอนนั้นความคิดที่จะ Downsizing เครื่องยนต์ และใช้เทอร์โบเป็นตัวช่วยยังเป็นแค่ทางเลือกเท่านั้น และเมื่อบวกกับราคาน้ำมันทำสถิติ New Height เป็นว่าเล่นจนกระทั่งทะลุ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงนั้น บรรดาโปรเจ็กต์ที่ควรจะกลับมาในตอนนั้น เช่น Honda NSX หรือ Toyota Supra ต่างก็ถูกพับเข้ากระเป๋าจนหมด ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะแค่รถสปอร์ตญี่ปุ่นเท่านั้น ยังรวมถึงรถยนต์ระดับหรูหราจากฝั่งยุโรปด้วย
และบังเอิญประเด็นนี้มาเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการที่ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเจอปัญหาเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้รถสปอร์ตที่ถูกมองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย (เพราะบรรดาแบรนด์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่พยายามเอารถสปอร์ตรุ่นเก่ากลับมาเอาทำใหม่ภายใต้แนวคิด ยกระดับให้กลายเป็น Super Car คลาส Premium มากกว่าการเป็นรถสปอร์ตทั่วไปเหมือนกับเมื่อก่อน)
ผลคือ ทุกอย่างชะงัก และรอเวลาที่เหมาะสมกลับมาอีกครั้ง
จากการพิจารณาทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ คุณจะไม่มีทางได้เจอกับรถสปอร์ตญี่ปุ่นในแบบที่มันเป็นมาในอดีต…นั่นหมายความว่าอยู่ในระดับราคาที่จับต้องได้ และเป็นมิตรกับนักขับรุ่นใหม่ๆ ที่มีทุนทรัพย์ไม่มากนัก
เพราะทุกแบรนด์ต่างหวังใช้ชื่อเป็นที่ตำนานและการมีประสบการณ์ร่วมของนักขับในยุคนั้น เข้ามาเป็นตัวสร้างจุดเด่นให้กับตัวรถ พร้อมกับยกระดับชื่อเสียงของแบรนด์และเทคโนโลยีให้บรรดารถสปอร์ตเหล่านี้เป็นเรือธงของบริษัท
ดูอย่าง Nissan GT-R ที่กลับมาโดยไม่อ้างอิงกับสายพันธุ์ Skyline เปิดตัวในตลาดญี่ปุ่นด้วยราคาเฉียดๆ 10 ล้านเยน ทั้งที่เมื่อก่อนรุ่นท็อปอย่าง Skyline GT-R ราคาอยู่แค่ 5-6 ล้านเยนเท่านั้น และถ้าเทียบตำแหน่งทางการตลาดแล้ว Fairlady หรือ Z-Car ในตอนนั้น มี Positioning ที่สูงกว่าด้วยซ้ำ เพราะเป็นรถสปอร์ตตั้งแต่เกิด ไม่ใช่เป็นการต่อยอดจากตัวถัง Coupe ของรถยนต์นั่งครอบครัวเหมือนกับ Skyline GT-R แต่ด้วยชื่อเสียง ความนิยม และอะไรหลายอย่าง ก็เลยทำให้ ณ ปัจจุบัน สถานะของทั้ง 2 รุ่นนี้กลับกัน
หรือแม้แต่ NSX ที่ขายทั้งชื่อ Honda และ Acura ก็ขยับทั้งราคา เทคโนโลยี รวมถึงภาพลักษณ์เพื่อให้เทียบเท่ากับแบรนด์รถสปอร์ตชั้นนำของโลกอย่าง Porsche ซึ่งนั่นทำให้ราคาของ NSX ขยับสูงขึ้นไปอีกและแนวทางนี้ก็คงจะชัดเจนกับการกลับมาของ RX-Series จากค่าย Mazda ที่มีข่าวว่าจะเปิดตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือแม้แต่ Supra จากค่าย Toyota ด้วยเช่นกัน ที่จะพัฒนาบนพื้นฐานของต้นแบบรุ่น FT-1 Concept
จะขาดก็คงจะเป็น Mitsubishi ที่ตอนนี้เจอทั้งมรสุมเรื่องการหมกเม็ดอัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง และวิกฤตในการบริหารบริษัท คงเป็นเรื่องยากที่เราจะได้เห็น 3000GTO กลับมาสู่ตลาดอีกครั้ง…
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th