เกือบ 100 ปีแห่งการเดินทางของ Mazda
2016 ไม่ได้เป็นปีที่สำคัญสำหรับอัลฟาเท่านั้น แต่ยังถือเป็นปีที่มีความสำคัญกับมาสด้าด้วยเช่นกันเพราะว่าผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้ได้เดินทางมาฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ มาจนครบรอบ 96 ปีของการก่อตั้งบริษัทแล้ว
คนที่ติดตามประวัติและความเป็นมาของบริษัทแห่งนี้คงทราบดีว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทแห่งนี้ไม่ได้มาจากชื่อมาสด้า แต่เกิดจากบริษัท โตโย คอร์ก โคเกียว จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 1920 ที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น และบริษัทแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นโตโย โคเกียวในปี 1927 โดยบริษัทเน้นไปที่การผลิตเครื่องมือเครื่องจักรสำหรับใช้อุตสาหกรรมหนัก ก่อนที่จะเริ่มหันมาสนใจในอุตสาหกรรมรถยนต์ในเวลาต่อมา
ปี 1931 โตโย โคเกียวเปิดตัวยานยนต์รุ่นแรกออกมาโดยใช้ชื่อมาสด้า-โก ซึ่งเป็นปิกอัพแบบ 3 ล้อ และมีส่งออกไปขายในตลาดจีนเมื่อปี 1932 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของบริษัท ยังไม่ได้เน้นไปที่การผลิตยานยนต์เป็นหลัก แต่ทว่ายังมีการผลิตเครื่องจักรหนักควบคู่ไปด้วย เช่น เครื่องเจาะหินที่ทางโตโย โคเกียวผลิตออกมาในปี 1935
เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกับผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ในช่วงนั้นซึ่งจะต้องแปรเปลี่ยนบทบาทมาผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งให้กับกองทัพ ซึ่งทางโตโย โคเกียวผลิตปืนไรเฟิลในตระกูล 30-35 ซีรีส์ และในช่วงก่อนที่สงครามโลกจะยุติลง โรงงานของโตโย โคเกียวก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากระเบิดปรมาณู ซึ่งถูกทิ้งลงมาที่เมืองฮิโรชิมา และทำให้โรงงานได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก่อนที่จะมีการฟื้นฟูกิจการและก่อสร้างใหม่ จนกระทั่งบริษัทสามารถผลิตยานยนต์ออกขายได้อีกครั้ง และมีการส่งออกปิกอัพแบบ 3 ล้อออกไปขายในประเทศอินเดียเมื่อปี 1949 และมีการผลิตปิกอัพแบบ 4 ล้อในชื่อ Romper เมื่อปี 1958
ชื่อนี้มีที่มา
ชื่อรถยนต์ของมาสด้ามาจากคำว่า อะฮูระ มาสด้า ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งอารยะธรรมยุคดั้งเดิมแห่งดินแดนเอเชียตะวันตก อะฮูระ มาสด้า ถือเป็นเทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา ความฉลาดเฉลียว และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเดียวกับที่เป็นสัญลักษณ์ของต้นกำเนิดอารยะธรรมตะวันออกและตะวันตก อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมการผลิตรถยนต์อีกด้วย คำดังกล่าวยังสื่อถึงความสงบสุขของมวลมนุษยชาติและการพัฒนาอุตสาหกรรมการ ผลิตรถยนต์ของโลก อีกทั้งยังพ้องเสียงกับชื่อของมร.จูจิโร่ มัทซึด้า ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาสด้าอีกด้วย
เริ่มต้นยุคยานยนต์ในปี 1960
แม้จะมีประสบการณืในการผลิตยานยนต์มาตั้งแต่ก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทว่ามาสด้าเพิ่งจะเริ่มรุกตลาดรถยนต์นั่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อปี 1960 กับรุ่น R360 ซึ่งมากับตัวถังคูเป้ 2 ประตู 2 ที่นั่ง เครื่องยนต์วางด้านท้าย และตัวรถมีน้ำหนักเบาเพียง 380 กิโลกรัมเท่านั้นเอง
มาสด้าเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบในการพัฒนาเทคโนดลยียานยนต์ และในอีก 1 ปีต่อมาพวกเขาก็เซ็นสัญญาความร่วมมือกับทาง NSU และ Wankel ในการสนับสนุนการพัฒนาเครื่องยนต์โรตารี่ ก่อนที่จะเปิดตัวปิกอัพขนาดกลางในชื่อ B1500 Series ออกมาในปีเดียวกัน
1962 มาสด้าเปิดตลาดเก๋ง 4 ประตูเป็นครั้งแรกด้วยรุ่นแคโรล (Carol) หรือ P360/P600 พร้อมเครื่องยนต์ 4 สูบ OHV 586 ซีซี พร้อมกับมีการตั้งไลน์ผลิตในประเทศเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกในปีนี้ ก่อนที่ในปีต่อมา มาสด้าจะขยายไลน์ผลิตของตัวเองออกไปยังแอฟริกาใต้ และสามารถทำยอดการผลิตยานยนต์ทุกแบบครบ 1 ล้านคันแรก
ช่วงปี 1963-1966 มาสด้าเปิดตัวผลผลิตใหม่ออกสู่ตลาดหลายรุ่น เช่น Familia Van (1963), E2000 (1964), Familia 800/1000 (1964) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์รถยนต์คอมแพ็กต์ Familia หรือ 323, Proceed (1965) ตามด้วย Bongo รถตู้ขนาดเล็กและ Luce ซีดานขนาดกลางในปี 1966 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่โรงงานผลิตรถยนต์นั่งแห่งแรกใน Ujina เมืองฮิโรชิมาเสร็จสิ้นการก่อสร้าง
มาสด้ากับการรุกตลาดรถยนต์ต่างแดนที่มีขนาดใหญ่และความสำคัญเกิดขึ้นในปี 1967 เมื่อมีการส่งรถยนต์ออกไปขายในยุโรปเป็นครั้งแรก พร้อมกับตั้งเครือข่ายจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย รวมถึงการเปิดตัวรถสปอร์ตเครื่องยนต์โรตารี่รุ่นแรกของตัวเองในชื่อ Cosmo Sports (110S) ออกมา
Cosmo Sports 110S ทำตลาดในช่วงปี 1967-1972 เป็นสปอร์ตเครื่องยนต์โรตารี่แบบ 2 โรเตอร์ 982 ซีซี 110 แรงม้า ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นโรตารี่รุ่นที่ 2 ซึ่งมีการผลิตกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 128 แรงม้า โดยเริ่มผลิตขายในปี 1968 ไปจนถึงปี 1972 โดยในปี 1969 มาสด้าเริ่มส่งสปอร์ตเครื่องยนต์โรตารี่รุ่นนี้ไปขายในตลาดนอกญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
เข้าสู่ปี 1970 มาสด้าฉลองยอดการผลิตครบ 1 ล้านคันให้กับรถยนต์รุ่น Familia พร้อมกับเปิดตัวรุ่น Capella หรือ RX-2 และเริ่มมีการส่งรถยนต์เข้าไปบุกตลาดสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการด้วยการก่อตั้ง Mazda Motor of America (MMA) ขึ้นมา และปราบความสำเร็จอย่างมากในการเจาะตลาดจนถึงขั้นมีการผลิตปิกอัพเครื่องยนต์โรตารี่ หรือ REPU Rotary Engine Pick-Up ออกมาขายเพื่อลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะในระหว่างปี 1974-1977 และมีการผลิตออกมาประมาณ 15,000 คัน
แม้น้ำมันแพง แต่มาสด้าก็ยังเดินหน้าลุยโรตารี่
ในปี 1972 มาสด้าฉลองการผลิตรถยนต์ครบ 5 ล้านคันและในปีต่อมาเริ่มบุกตลาดเยอรมันตะวันตก (ในขณะนั้น) และฉลองยอดส่งออกครบ 1 ล้านคัน พร้อมกับเริ่มประสบปัญหากับวิกฤตการณ์น้ำมัน หรือ Oil Crisis ที่ส่งผลโดยตรงกับมาสด้า
วิกฤตการณ์น้ำมันทำให้ผู้บริโภคหันมามองรถยนต์ที่มีความประหยัดน้ำมันกันมากขึ้น และถือว่าเครื่องยนต์โรตารี่มาแจ้งเกิดในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนัก เพราะจากเรื่องตรงนี้ทำให้มาสด้าประสบปัญหาในด้านยอดขายกับตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป
จากเดิมที่โรตารี่มีวางอยู่ในรถยนต์หลายรุ่น แต่ในเมื่อสภาพเปลี่ยนไปทำให้มาสด้าต้องหันมาผลิตเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียงออกมาทดแทน และแม้ว่าเครื่องยนต์โรตารี่จะกินน้ำมันและไม่เหมาะสมกับบรรยากาศโดยรวมมากนัก แต่ทางมาสด้าก็ยังกัดฟันผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 1975 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เริ่มผลิตรถยนต์ในเมืองไทย มาสด้าก็เปิดตัวเจนเนอเรชันที่ 2 ของ Cosmo ซึ่งมีทั้งแบบเครื่องยนต์ 4 สูบและโรตารี่ให้เลือก
อีก 3 ปีต่อมาในปี 1978 ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองยอดผลิตเครื่องยนต์โรตารี่ครบ 1 ล้านบล็อกทางมาสด้าก็เปิดตัวสปอร์ตโรตารี่รุ่นใหม่ออกมาแบบไม่เกรงกลัวราคาน้ำมัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์ RX-7 Savanna โดยในปัจจุบันมาสด้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวที่มีการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่ในการทำตลาด และเพิ่งฉลองครบรอบ 40 ปีของการทำตลาดเมื่อปี 2007 ซึ่งต่อจาก RX-7 แล้ว รถสปอร์ตแบบ 4 ประตูของมาสด้าอย่างรุ่น RX-8 คือตัวแทนที่สานต่อตำนานเครื่องยนต์โรตารี่
ในปี 1980 Familia เจนเนอเรชันที่ 5 กลายเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่สามารถคว้ารางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีของญี่ปุ่น หรือ JCOTY 1980-1981 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และในปี 1981 มีการฉลองครบรอบการผลิต 5 ล้านคัน และก่อตั้งบริษัทใหม่ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ชื่อว่า Mazda (North America), Inc. ขึ้นมา
ยุคที่มีพันธมิตรชื่อฟอร์ด
จริงอยู่ที่เรารู้จักรถยนต์ในชื่อของมาสด้า แต่ทว่าตัวบริษัทนั้นกลับไม่ใช่ชื่อนี้ เพราะว่ามาสด้าเริ่มมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Mazda Motor Corporation หรืออ่านตามภาญี่ปุ่นว่า Matsuda Kabushiki-gaisha เหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อปี 1984 นี้เอง และในปีต่อมาก็มีการฉลองยอดการผลิตรถยนต์ครบ 10 ล้านคัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในปี 1979 เกิดความเปลี่ยนแปลงกับบริษัท เมื่อฟอร์ด มอเตอร์เข้ามาซื้อหุ้นจำนวน 7% ขณะที่ในปีเดียวกันนี้ บริษัทฉลองยอดขายครบ 1 ล้านคันในตลาดอเมริกาเหนือและยอดการผลิตครบ 10 ล้านคัน
การเข้ามาของฟอร์ดทำให้รถยนต์ของทั้ง 2 บริษัทมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น และเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1980 ฟอร์ดก็เพิ่มจำนวนหุ้นที่ถือในมาสด้าอีกกว่า 20% และใช้มาสด้าเป็นฐานในการผลิตรถยนต์สำหรับขายในตลาดทั่วโลก ซึ่งในช่วงนั้น เราจะพบว่ารถยนต์และปิกอัพของฟอร์ดและมาสด้าหลายรุ่นคือคันเดียวกัน ต่างกันแค่ชื่อและโลโก้ รวมถึงรายละเอียดบางจุดเท่านั้น
ในปี 2002 ฟอร์ดเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นมาสด้าอีกครั้ง และคราวนี้เพิ่มตัวเลขอีกกว่า 5% ทำให้โดยรวมแล้วฟอร์ดถือหุ้นในมาสด้ารวม 33.4% การผนึกกำลังของฟอร์ดกับมาสด้าได้รับการยอมรับว่าเป็นคู่หูที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาด ซึ่งจากรายงานของ Businees Week เผยว่า มาสด้าสามารถประหยัดเงินจำนวน 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3,000 ล้านบาทต่อปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และในทางกลับกันทางฟอร์ดก็ประหยัดเงินด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2008 เมื่อฟอร์ดต้องฟื้นฟูกิจการตามแผนการที่วางเอาไว้ และมีการลดต้นทุนในหลายๆ ด้าน การขายหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ในมาสด้าก็คือวิธีหนึ่ง ซึ่งในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2008 ทางฟอร์ดประกาศที่จะขายหุ้นจำนวน 20% ที่ตัวเองถืออยู่ในมาสด้าออกไป และเหลือเก็บเอาไว้แค่ 13.4%
หลังจากข่าวนี้ถูกประกาศออกมาได้เพียงวันเดียว ทางด้านมาสด้าควักเงินจำนวน 184 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 6,200 ล้านบาทในการซื้อหุ้นจำนวน 7% กลับคืนมา ขณะที่หุ้นที่เหลือถูกแบ่งขายไปให้กับกลุ่มนักลงทุนในญี่ปุ่นที่สนใจซึ่งก็รวมถึง Denso, Sumitomo Corp. และ Itochu Corp. ซึ่งเหตุผลของการขายก็คือ การระดมเงินสดเตรียมเอาไว้สำหรับใช้ในแผนฟื้นฟูกิจการของฟอร์ด
สร้างกระแสสปอร์ตเปิดประทุน
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 มาสด้าตอบรับกับความต้องการของลูกค้าทั่วโลกด้วยยานยนต์รูปแบบใหม่ในแบบสปอร์ตเปิดประทุน 2 ที่นั่งขนาดเล็กหรือที่เรียกกันว่าโรดสเตอร์ออกมาทำตลาด โดยในญี่ปุ่นเปิดตัวเมื่อปี 1989 ด้วยรูปทรงที่สวยแบบเรียบๆ แต่โฉบเฉี่ยว และตอบสนองการขับขี่ที่สนุกสนานเร้าใจ
ในบ้านตัวเองมาสด้าขายด้วยชื่อโรดสเตอร์ แต่สำหรับตลาดโลกจะเปลี่ยนมาเป็น MX-5 ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อในการทำตลาดว่ามิอาตะ (Miata) ซึ่งรุ่นแรกในรหัส NA เป็นรถสปอร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในช่วง 10 ปีที่อยู่ในตลาดระหว่าง 1989-1997 ทำยอดขายได้มากกว่า 400,000 คันทั่วโลกสำหรับรุ่นปัจจุบันเป็นรหัส NC เปิดตัวขายมาตั้งแต่ปี 2005
ความนิยมที่มีต่อ MX-5 ของลูกค้าทั่วโลกดูได้จากยอดขายซึ่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1992 มาสด้าทำยอดผลิตของ MX-5 รวม 250,000 คันโดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นนับตั้งแต่เปิดตัว และขยับเป็น 500,000 คันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1999 ตามด้วย 750,000 คันในเดือนมีนาคม 2004 และล่าสุด 800,000 คันในเดือนมกราคม 2007 และคาดว่าตัวเลขในการผลิตจนถึง ณ ปัจจุบันน่าจะครบ 1 ล้านคันแล้ว
ยุคใหม่ของชื่อรุ่นรถยนต์
เมื่อเข้าสู่ยุค 2000 มาสด้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในเรื่องการเรียกขานชื่อรุ่นรถยนต์ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักในตลาด เรารู้จักชื่อของแฟมิเลียหรือ 323 เช่นเดียวกับคาเปลล่า หรือ 626 กันมานาน แต่ในตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
การเปลี่ยนแปลงมีขึ้นในกลางปี 2002 เมื่อมาสด้าเปิดตัวรถยนต์ครอบครัวรุ่นใหม่ออกมาทำตลาดในญี่ปุ่นกับชื่ออาเทนซา (Atenza) เพื่อทำตลาดแทนที่ชื่อคาเปลล่าที่อยู่ในตลาดมานานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ส่วนในตลาดที่ใช้ชื่อว่า 626 ก็เปลี่ยนมาเป็นชื่อสั้นๆ ว่า 6
แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องกับซับคอมแพ็กต์ใหม่ที่เปิดตัวในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเฉพาะชื่อสำหรับขายในตลาดโลก เพราะในญี่ปุ่นยังใช้ชื่อเดมิโอเหมือนเดิม ส่วนในตลาดนอกญี่ปุ่นเปลี่ยนมาเป็น 2 ส่วนแฟมิเลีย หรือ 323 ก็มีการเปลี่ยนแปลงตามมา โดยใช้ชื่อแอกเซลา (Axela) สำหรับตลาดบ้านตัวเอง และ 3 สำหรับตลาดโลก
นอกจาก 3 รุ่นนี้แล้ว มาสด้ายังนำตัวเลขมาใช้กับมินิแวนที่แชร์พื้นฐานเดียวกับ 3 อย่างรุ่นพรีมาซีอีกด้วย โดยในตลาดญี่ปุ่นใช้ชื่อเดิม แต่ตลาดโลกเปลี่ยนมาเป็นรหัส 5 ส่วนรถยนต์รุ่นอื่นๆ ก็ยังทำตลาดด้วยชื่อเดิม
พัฒนาการของโลโก้
ตราสัญลักษณ์ของมาสด้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา และกว่าที่จะเป็นโลโก้ตัว M อย่างในปัจจุบัน ที่ดูคล้ายปีกโดยเริ่มนำมาใช้ในปี 1997 จนถึงปัจจุบัน ก็มีการปรับปรุงกันหลายครั้งเหมือนกัน
แรกเริ่มเดิมทีในช่วงยุคเริ่มต้น โลโก้ของมาสด้าจะใช้ตัว m เล็กอยู่ในวงกลม โดยถูกนำมาใช้ในช่วงระหว่างปี 1962-1975 หลังจากนั้นในช่วงปี 1975-1992 เกิดสุญญากาศเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ของมาสด้า ซึ่งไม่มีโลโก้ที่ชัดเจนในการทำตลาด แต่ก็มีการนำตัวอักษรภาอังกฤษของคำว่า Mazda มาออกแบบใหม่ให้เป็นตัวเหลี่ยม และนำมาใช้กับรถยนต์รุ่นต่างๆ
ในช่วงระหว่างนี้ เฉพาะรถยนต์ของมาสด้าที่ขายอยู่ในญี่ปุ่นจะมีความแตกต่างออกไป โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 มาสด้าแบ่งเครือข่ายจำหน่ายออกเป็น 3 ส่วนในการดูแลรับผิดชอบการขายรถยนต์รุ่นแปลกๆ ที่ไม่ใช่รุ่นหลัก คือ Autozam รับผิดชอบรถยนต์ไซส์เล็กที่หยิบยืมมาจากค่ายซูซูกิ, Efini หรือแองฟินิ สำหรับรถสปอร์ตอย่าง RX-7, MS-6 รวมถึงรถยนต์อเนกประสงค์อย่างรุ่น MPV และปิดท้ายกับ Eunos สำหรับรถยนต์ระดับหรู ซึ่งรถยนต์ที่ถูกขายผ่านเครือข่ายเหล่านี้จะใช้ชื่อเครือข่ายแทนที่ชื่อแบรนด์มาสด้า รวมถึงโลโก้ก็จะแตกต่างออกไปตามแต่ละเครือข่ายจำหน่ายด้วย
ขณะที่รถยนต์รุ่นหลัก เช่น มาสด้า 323, 626 มาสด้าก็มีโลโก้หลักเตรียมเอาไว้ให้ โดยในปี 1991 กับสัญลักษณ์วงรีวางในแนวนอนและมีรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดอยู่ข้างใน ซึ่งเป็นตัวแทนของดวงอาทิตย์และเปลวเพลิง
แต่สัญลักษณ์นี้ก็ใช้อยู่แค่ปีเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อเข้าสู่ปี 1992 มาสด้าจะมีการปรับปรุงโลโก้นี้อีกครั้ง เนื่องจากว่าสัญลักษณ์นี้มีลักษณะคล้ายกับโลโก้ของเรโนลต์เกินไป ทางมาสด้าก็เลยปรับปรุงให้วงรีมีรูปทรงโค้งมนเป็นวงกลมมากขึ้น ขณะที่สี่เหลี่ยมข้างในก็ถูกลบมุม และเพิ่มความโค้งมน โดยสัญลักษณ์นี้ถูกใช้อยู่ในระหว่างปี 1992-1996
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้แค่ช่วงสั้นๆ เพราะเมื่อถึงกลางทศวรรษที่ 1990 มาสด้าก็ยกเลิกแนวทางการทำตลาดในลักษณะนี้ และปล่อยให้ชื่อเหล่านี้เป็นแค่เครือข่ายจำหน่ายต่อไป โดยรถยนต์รุ่นต่างๆ ก็กลับมาใช้แบรนด์มาสด้า เช่นเดียวกับโลโก้ใหม่ที่เป็นตัว M ในวงกลม ก็เริ่มใช้เมื่อปี 1997 จนถึงปัจจุบัน เพื่อแสดงออกให้เห็นถึงความทุ่มเทของบริษัทในการที่ต่อยอดความเจริญเติบโตและการ พัฒนา อันเป็นที่มาของการสร้างตราสินค้า “เอ็ม” ของมาสด้า ซึ่งหมายถึงความตั้งใจที่จะสยายปีกให้กว้างเพื่อที่จะบินไปให้สูงขึ้น เรื่อยๆ
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th