เข็มขัดนิรภัย มีกี่แบบ
อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่มีในรถมานานรวมทั้งยังมีกฎหมายที่บังคับให้ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารใช้ในขณะเดินทางก็คือเข็มขัดนิรภัย โดยอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถนี้ที่คุ้นเคยกันจะมีลักษณะยึด 3 จุดดึงจากเสากลางของรถมายังจุดล็อกที่อีกฝั่งของเบาะบริเวณที่ท้าวแขนคอนโซลกลางสำหรับเบาะหน้า หรือดึงจากเสาหลังของรถมาล็อกบริเวณกลางเบาะของเบาะหลังสำหรับเบาะหลัง แต่จริงๆ แล้วเข็มขัดนิรภัยมีหลากหลายแบบ ซึ่งมีทั้งที่เลิกใช้ไปแล้วเพราะมีความปลอดภัยน้อยกว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ได้รับความนิยม รวมทั้งแบบที่มีความปลอดภัยมากกว่าแบบยึด 3 จุดซึ่งใช้กันรถสมรรถนะสูงหรือรถแข่ง ลองมาดูว่าเข็มขัดนิรภัยในรถมีแบบใดบ้าง
1 เข็มขัดนิรภัยแบบพาดตัก (Lap Belt)
เข็มขัดนิรภัยแบบพาดตักเป็นแบบเก่าแก่และพื้นฐานที่สุด โดยมีลักษณะยึด 2 จุดจากลักษณะของสายที่คาดจากฝั่งหนึ่งของเบาะนั่งข้ามเอวของผู้นั่งบนเบาะมายังอีกฝั่งของเบาะ จากลักษณะการยึดของเข็มขัดนิรภัยทำให้ไม่สามารถรั้งบริเวณลำตัว ไหล่ คอ และศรีษะของผู้อยู่ในรถเมื่อเกิดการชนได้ จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีการใช้เข็มขัดนิรภัยแบบนี้ในรถกับเบาะหน้ารวมทั้งที่นั่งทั้ง 2 ฝั่งของเบาะหลัง ยกเว้นที่นั่งตรงกลางเบาะหลัง
2 เข็มขัดนิรภัยแบบพาดไหล่ (Shoulder Belt)
ยังคงเป็นเข็มขัดนิรภัยที่มีลักษณะยึด 2 จุดอยู่จากลักษณะของเข็มขัดนิรภัยที่มีเฉพาะสายพาดเฉียงจากไหล่ด้านหนึ่งมายังจุดล็อกอีกฝั่งที่อยู่บริเวณสะโพก เป็นเข็มขัดนิรภัยที่สามารถให้ความปลอดภัยได้ดีเมื่อใช้ร่วมกับแบบคาดตักเพราะจะช่วยรั้งร่างกายส่วนบนเมื่อเกิดการชน แต่หากใช้เดี่ยวๆ จะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก เพราะตัวของผู้ใช้จะสามารถเลื่อนลงมาด้านล่างได้เมื่อเกิดการชนได้ จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีเข็มขัดนิรภัยแบบนี้ให้เห็นในรถ
3 เข็มขัดนิรภัยแบบยึด 3 จุด (3 Point Belt)
นี่คือเข็มขัดนิรภัยที่ใช้กันเป็นมาตรฐานในรถยนต์ปัจจุบัน เพราะจากลักษณะของสายเข็มขัดที่พาดเฉียงผ่านไหล่ หน้าอกรวมทั้งส่วนเอวของผู้อยู่ในรถ ซึ่งเป็นการรวมเข็มขัดนิรภัยทั้งแบบพาดตักและไหล่ไว้ด้วยกัน ทำให้เมื่อเกิดการชนเข็มขัดจะช่วยรั้งร่างกายทั้งหมดไว้ได้ และกระจายแรงจากการขยับของร่างกายไปทั้งที่หน้าอก กระดูกเชิงกราน และไหล่
4 เข็มขัดนิรภัยอัตโนมัติ (Automatic Seat Belt)
ในประเทศไทยอาจไม่คุ้นเคยกับเข็มขัดนิรภัยอัตโนมัตินัก แต่เคยเป็นเข็มขัดนิรภัยที่ได้รับความนิยมในอดีตในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งยังเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง โดยเข็มขัดนิรภัยอัตโนมัติจะมี 2 ส่วนคือส่วนสายพาดตักที่ผู้ขับรถจะต้องดึงมาคาดและล็อกเอง กับสายในส่วนพาดไหล่ที่ตัวสายพาดเฉียงระหว่างเสาหน้าด้านซ้ายหรือขวาของรถกับอีกฝั่งของเบาะที่จุดล็อกปกติของเข็มขัดนิรภัยบริเวณคอนโซลกลาง และเมื่อสตาร์ตรถสายเข็มขัดนิรภัยสำหรับพาดไหล่ก็จะเลื่อนจากเสาหน้ามายังเสากลางสำหรับพาดไหล่ของผู้ขับรถ อย่างไรก็ตามปัจจุบันไม่มีรถยนต์ใหม่ๆ ที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบนี้
5 เข็มขัดนิรภัยในตัวเบาะ (Belt in Seat)
ปกติแล้วเข็มขัดนิรภัยมักติดอยู่ที่เสาของรถแล้วล็อกกับบริเวณอีกฝั่งของเบาะบริเวณที่ท้าวแขนของคอนโซลกลาง แต่เข็มขัดนิรภัยในตัวเบาะซึ่งมีลักษณะยึด 3 จุดจะมีสายเข็มขัดอยู่ที่ตัวเบาะเลย โดยเคยมีการศึกษาว่าเข็มขัดนิรภัยลักษณะนี้จะให้การป้องกันได้ดีกว่าเมื่อรถเกิดพลิกคว่ำ หากคิดไม่ออกว่าเข็มขัดนิรภัยในตัวเบาะเป็นอย่างไร เข็มขัดนิรภัยแบบนี้จะถูกใช้ในเบาะนั่งสำหรับเด็กวัย 4 ถึง 8 ปี
6 เข็มขัดนิรภัยแบบยึด 5 จุด
แน่นอนว่าด้วยจำนวนจุดยึดที่มากขึ้นย่อมทำให้เข็มขัดนิรภัยแบบยึด 5 จุดมีความปลอดภัยกว่าเข็มขัดนิรภัยแบบอื่นก่อนหน้านี้ด้วย แต่ก็มาพร้อมกับการจำกัดการขยับร่างกายในขณะใช้มากขึ้นด้วย โดยทั่วไปเข็มขัดนิรภัยยึด 5 จุดจะใช้ในเบาะนั่งสำหรับเด็ก และรถแข่ง แต่ก็อาจมีเจ้าของรถบางคนที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยยึด 5 จุดกับรถของตนโดยใช้อุปกรณ์จากผู้ผลิตสำหรับปรับแต่งรถ
7 เข็มขัดนิรภัยยึด 6 จุด
เข็มขัดนิรภัยยึด 6 จุดจะเหมือนกับแบบยึด 5 จุด แต่เพิ่มสายที่ระหว่างขาทั้ง 2 ข้างขึ้นมาอีกสาย แน่นอนว่าเป็นเข็มขัดนิรภัยที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานเฉพาะในรถสมรรถนะสูงบางรุ่น และรถแข่ง โดยเข็มขัดนิรภัยแบบยึด 6 จุดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นหลังจาก Dale Earnhardt นักแข่งรถได้เสียชีวิตจากการชนแม้จะใช้เข็มขัดนิรภัยแบบยึด 5 จุดก็ตาม
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th