เข็มขัดนิรภัยอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ขาดไม่ได้
เข็มขัดนิรภัย นับเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสารไม่ให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรง ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อความปลอดภัยที่มีผู้เสียชีวิตถึงร้อยละ 70 นั่นเท่ากับว่าเข็มขัดนิรภัยมีประโยชน์มากจริงๆ แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าเราคาดเข็มขัดนิรภัยแบบผิดวิธีอาจทำให้เจ็บตัวได้
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับประเภทของเข็มขัดนิรภัยกันสักหน่อยเพราะในเมืองไทยมีใช้ 2 แบบหลักๆ ดังนี้
เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR หรือมีชื่อย่อว่า Emergency Locking Retractor เป็นเข็มขัดนิรภัยแบบรั้งตัวและดึงกลับอัตโนมัติ เมื่อเกิดการชนด้วยกลไกภายในที่เก็บสายเข็มขัด โดยจะมีชุดเฟืองที่ถูกออกแบบมาให้สามารถล็อกเฟืองได้ทันที เมื่อตัวล็อกสายเกิดการเปลี่ยนแปลงองศาจากการถูกดึงอย่างรุนแรง และจะค่อยๆ คลายเฟืองและสายให้อยู่ในสภาพปกติ โดยส่วนมากจะพบได้ในเข็มขัดนิรภัยแบบล็อก 3 จุด ที่เบาะนั่งคู่หน้า, เบาะนั่งริมหน้าต่าง รวมไปถึงเบาะนั่งตรงกลางด้านหลังของรถรุ่นใหม่ จะใช้เข็มขัดแบบล็อก 3 จุด ด้วยเช่นกัน
เข็มขัดนิรภัย แบบ ALR หรือมีชื่อย่อว่า Automatic Locking Retractor เป็นเข็มขัดนิรภัยแบบชุดดึงกลับที่สามารถล็อกได้โดยอัตโนมัติ ณ ตำแหน่งความยาวที่ต้องการ โดยจะทำการล็อกทันที เมื่อดึงสายอย่างรวดเร็ว หรือดึงยาวในระดับหนึ่ง คล้ายกับระบบ ELR แต่กลไกไม่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้ได้ความยาวของสายเข็มขัดที่ต้องการรัดอย่างเหมาะสม อยู่ทรงได้ดีกว่า ซึ่งส่วนมากจะพบได้ในแบบล็อก 2 จุด บริเวณแถวนั่งด้านหลังทั้งแบบพาดบ่ากับแบบพาดตัก
ข้อดีและประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัย
- ช่วยไม่ให้คนกระเด็นออกไปนอกตัวรถจากแรงกระแทกหรือแรงเหวี่ยง
- ช่วยกระจายแรงกระแทกที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ช่วยป้องกันศีรษะหรือร่างกายส่วนบนเหวี่ยงไปกระแทกกับพวงมาลัยหรือบริเวณแผงหน้ารถ เป็นต้น
- ช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวช้าลง เพื่อลดอาการบาดเจ็บ เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงได้
- ช่วยป้องกันสมองและกระดูกสันหลังจากอันตราย เพราะหากศีรษะได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อันตรายจากการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยกรณีเกิดอุบัติเหตุ
- แรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถที่วิ่งเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเท่ากับรถที่ตกจากที่สูง 14 เมตร หรือความสูงประมาณตึก 5 ชั้น
- คนที่อยู่ในรถ ถ้าไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจะเดินทางด้วยความเร็วเท่ากับรถ เมื่อรถชนและหยุดกะทันหัน ศีรษะ ใบหน้า และลำตัวของคนในรถจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับพวงมาลัย กระจกหน้ารถ หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ
- อวัยวะในร่างกาย เช่น ตับ ไต ลำไส้ สมอง หรือไขสันหลังจะเคลื่อนไหวเท่ากับความเร็วของรถ เมื่อรถชนหรือหยุด อวัยวะภายในจะกระแทกกันเอง ทำให้ตับ ไต ลำไส้ หรือสมองฉีกขาดได้
วิธีการขาดเข็มเข็ดนิรภัยที่ปลอดภัย
การใช้งานเข็มขัดนิรภัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก่อนอื่นเลยผู้นั่งต้องปรับเบาะให้อยู่ในท่าพร้อมขับหรือพร้อมเดินทาง คือ การตั้งพนักพิงที่ไม่เอนไปข้างหน้าหรือหลังมากเกินไป เพราะอาจทำให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบสายเข็มขัดนิรภัยบิดผิดรูปหรือไม่ (เพื่อป้องกันการบาดของสายถ้าเกิดอุบัติเหตุ)
ส่วนสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดผ่านหน้าตักหรือแนวสะโพก ให้อยู่ในแนวสะโพกพอดี แล้วดึงให้กระชับอย่าให้หลวมจนเกินไป เพราะอาจทำให้เรากระเด็นออกจากเบาะนั่งได้ วางแนวเข็มขัดให้พาดผ่านระหว่างกลางอก ถ้าเป็นรถที่สามารถปรับระยะสูง/ต่ำของเข็มขัดนิรภัยได้ควรปรับให้เหมาะสมกับสรีระ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น เข็มขัดนิรภัยจะได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยป้องกันไม่ให้หัวกระแทกและอันตรายที่จะเกิดกับกระดูกสันหลัง
สำหรับสตรีมีครรภ์ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยพาดผ่านร่องอกลงมาด้านข้างของช่องท้อง ไม่คาดทับบริเวณหน้าท้องโดยตรง โดยให้สายเข็มขัดนิรภัยอยู่เหนือต้นขา ใช้หมอนใบเล็กหรือผ้าขนหนูรองบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง จะช่วยลดแรงกดทับและการเสียดสีของเข็มขัดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ ปรับเบาะนั่งให้ห่างจากพวงมาลัยประมาณ 10 นิ้ว เมื่อประสบอุบัติเหตุจะช่วยลดการบาดเจ็บจากการกระตุกของเข็มขัดนิรภัย
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th