เคฟล่าหรือคาร์บอนไฟเบอร์คืออะไร แท้ ไม่แท้ ดูอย่างไร รู้ไว้ได้ไม่โดนหลอก !!
ผมเชื่อว่าหลายท่านชื่นชอบการตกแต่งรถยนต์ของตนเองให้ดูมีเอกลักษณ์ไปในแนวทางที่ตนเองชื่นชอบ ทั้งเปลี่ยนล้อแม็ก ทำสี เอาไปโหลดเปลี่ยนเบาะเปลี่ยนเครื่องอันนี้ก็สุดแล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคนเลยว่าชอบแนวไหน และมีการตกแต่งอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากไม่ว่าจะยุคสมัยไหนนั้นก็คือการทำ เคฟล่า หรือ คาร์บอนไฟเบอร์
นับว่า มาแรงสวนสภาพเศรษฐกิจ ด้วยความที่มันดูแล้ว “แพง” และมีลวดลายอันโดดเด่นมากกว่า “สติกเกอร์” แบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และที่สำคัญมันเบา และ แข็งแรง ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ที่ชื่นชอบการตกแต่งรถ และขาซิ่ง ขาแรง ต้องการเพราะสมัยก่อนคาร์บอนไฟเบอร์จะมีใช้กันเฉพาะในอากาศยาน รถแข่งในรุ่นสูงๆ เช่น F1, Super Car จากยุโรป รวมไปถึงผลิตโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องรับแรง ยุคก่อนนั้น คาร์บอนฯ มีราคาแพงมากจึงไม่ค่อยมีใครใช้กันเยอะมากนักในรถแต่งหรือรถโมดิฟายทั่วไป แต่ในปัจจุบันมีความแพร่หลายมากขึ้น ร้านที่รับทำงานคาร์บอนฯ ก็มีมากขึ้น ราคาก็เลยถูกลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับ “เกรดงาน” และ “เกรดวัตถุดิบ”
ด้วยความที่เจ้า เคฟล่า หรือ คาร์บอนไฟเบอร์ ได้รับความนิยมและขายดีมาก จึงทำให้บางร้านหลอกขายลูกค้าโดยที่ใช้ของปลอมมาหลอกขายกันอยู่เกลื่อนตลาดเพราะราคาถูก วันนี้เรามา เผยกลลวง” ที่คน “ไม่รู้” แต่อาจจะ “เสียรู้” พวกไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า โดยเฉพาะคำโฆษณาโอเวอร์เกินจริงต่างๆ ที่ชอบเอามาหลอกคนที่ไม่รู้ให้จ่ายแพงแต่ได้ของห่วย
คาร์บอนไฟเบอร์ หรือ CarbonFiber หรือ CF ก็มีชื่อเรียกได้หลายอย่างนะ เช่น แกรไฟต์ (Graphite) ไฟเบอร์ หรือคาร์บอนแกรไฟต์ ก็ตามแต่ จะเป็นการนำแร่ผลึกคาร์บอนมาถักทอเป็นเส้นใย (Fabric) จำนวนมาก โดยเส้นใยคาร์บอนจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่แถวๆ 5-10 ไมครอน ซึ่งเล็กมาก ซึ่งเส้นใย 1 เส้นใหญ่ ที่เราเห็นด้วยตาเปล่า จะประกอบไปด้วยเส้นใยคาร์บอนเป็นจำนวน “หลายพันเส้น” หรือ “หลักหมื่นเส้น” แล้วแต่ความแข็งที่ต้องการ
มหัศจรรย์ของ CF คือ ความแข็งแกร่ง น้ำหนักเบา มีมิติที่สวยงาม เป็นเสน่ห์ของมัน เป็นที่ต้องการของตลาดหลากหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะรถยนต์อย่างเดียว การทอขึ้นรูป เส้นใยคาร์บอนนับพันนับหมื่นเส้น เล็กระดับไมครอน นำมาทอเป็นเส้นใหญ่ที่เราสามารถจับต้องได้เพียงเส้นเดียว ความแน่นหนาก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นใยนั่นเอง มาพันกันเป็นกลุ่มเส้นใย แล้วก็นำมาทอ (Woven) เป็นผืนผ้า
สำหรับ “คุณสมบัติ” ของเส้นใย CF จะมีความแข็งแรงสูงกว่า เมื่อเทียบกับเส้นใยอื่นในพื้นที่เท่ากัน ต้านทานต่อแรงดึง (Tensile) สูง ทนต่ออุณหภูมิได้สูง มีอัตราส่วนการขยายตัวต่อความร้อนต่ำ พูดง่ายๆ ถ้ามันเจอความร้อนสูง ก็ยังสามารถทนได้โดยไม่ขยายตัวมากจนผิดเพี้ยนรูปไป ทนกับการกัดกร่อนจากสารเคมีได้สูง คายความร้อนได้เร็วมากๆ และไม่ติดไฟ
ด้วยเหตุนี้เอง CF ถึงถูกใช้เป็น “วัสดุพิเศษ” สำหรับการผลิตชิ้นงานที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษอย่าง อากาศยาน รถแข่ง จุดยึดโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องการทั้งความยืดหยุ่นและความแข็งแรงสูง ดังนั้น CF จึงเป็นของ “ราคาแพง” จริงๆ แล้ว CF ก็จะมีส่วนผสมของใยสังเคราะห์อย่างอื่นอีก เช่น พวก “โพลีเมอร์” แต่ถ้าเป็นแบบ CF แท้ๆ ก็จะยิ่งแพงไปอีก
คาร์บอนไฟเบอร์ VS คาร์บอนเคฟล่า
ในยุคแรกๆ จะนิยมเรียก CF ว่า “เคฟล่า” (Kevlar) แต่ตอนหลังก็จะเรียกว่า “คาร์บอนไฟเบอร์” จนเป็นกระแสสับสนและเถียงกันหน้าดำหน้าแดงว่า ตกลงมันเรียกอะไรกันแน่ แล้วที่ถูกของแต่ละประเภทมันคืออะไร เอางี้ ไม่ต้องเถียงกัน จะสรุปให้ฟังว่า “เคฟล่า” แท้ที่จริงแล้วมันคืออะไร KEVLAR นั้น จะเป็น “ชื่อการค้าจดทะเบียน” ในการเรียก “เส้นใยไฟเบอร์แบบสังเคราะห์” หรือ Synthetic Fiber ที่ผลิตขึ้นมาโดยบริษัท DuPont หรือ ดูปองท์ พัฒนาขึ้นมาโดย Ms. Stephanie Louise Kwolek ซึ่งเป็นนักเคมีชาวอเมริกัน ที่ทำงานให้กับบริษัท DuPont เริ่มมีใช้ในปี 1965 ซึ่งเคฟล่าจะเป็นเส้นใยสังเคราะห์ตระกูล “Aramid” น่าจะมาจาก “Aromatic Polyamide” ซึ่งเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ ลักษณะเฉพาะตัวของ Aramid คือ จะเป็นเส้นใยมีสี “ดำ-แดง, ดำ-เหลือง, ดำ-น้ำเงิน” และถ้าเปรียบเทียบกับ CF แล้ว Aramid จะได้เปรียบกว่าในด้านความแข็งแรงทนทาน ความยืดหยุ่น การทนความร้อนได้สูงกว่า นิยมนำไปใช้กับ “สิ่งที่ต้องการยืดหยุ่นสูง” เช่น อากาศยาน ซึ่งต้องทนแรงเสียดทานของอากาศในความเร็วสูง โครงสร้างสะพาน ชุดเกราะกันกระสุน ของแต่งรถยนต์ในส่วนที่ต้องการการยืดหยุ่น เช่น เบาะ ฝากระโปรง ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ Pure Aramid ถ้างานที่ไม่แพงมาก ใช้อยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง บางคนเอามาทำอย่างอื่นได้มากมาย เช่น เฟอร์นิเจอร์ ก็สวยดี แต่เรื่องความเบา CF จะได้เปรียบ เอาเป็นว่าสรุปเป็นอย่างๆ ได้ดังนี้
- CF : ได้เรื่อง “แข็ง เบา” ใช้กับชิ้นส่วนที่ต้องการความแข็งแรงสูง…
- Aramid : ได้เรื่องการ “ยืดหยุ่น” ที่มีมากกว่า ใช้กับชิ้นส่วนที่ต้องการการยืดหยุ่นสูง…
- KEVLAR มันเป็น “แบรนด์” ของ DuPont ส่วนเส้นใยนั้นเป็นตระกูล Aramid สังเคราะห์ขึ้นมาซึ่งต่างจาก CF ที่มาจากวัสดุทางธรรมชาติ…
- เส้นใย Aramid นี้ นอกจาก KEVLAR แล้ว ยังมีชื่อแบรนด์อื่นๆ อีก เช่น CONEX จากบริษัท TEIJIN มาจากเนเธอร์แลนด์ กับ ญี่ปุ่น (สงสัยจะสะเวิ้บกัน), ARAWIN จากบริษัท TORAY ของเกาหลี, NEW STAR จากบริษัท YANTAI TAYHO ของจีน หรือ KERMEL จากฝรั่งเศส เป็นต้น…
วิธีดูแท้ไม่แท้แบบง่ายๆครับ
- ปกติผู้ซื้อก็จะมีโอกาสได้เห็นชิ้นงานที่สำเร็จมาแล้ว สิ่งเดียวที่คุณจะใช้ประเมินได้ คือ “สายตา” อันนี้ต้องมีประสบการณ์กันหน่อย ต้องเคย “เห็นของแท้ ของดี ตัวจริง” แล้วจะรู้ ให้ดูความเรียบร้อยเป็นหลัก ถ้าของ “เกรดดี” งานสาน งานถักใย จะดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นแถวตรง สม่ำเสมอ สีสันไม่ดำๆ ด่างๆ การ “เหลือบแสง” จะดูสวยงาม มีมิติชัดเจนในตัวของมัน
- แต่ถ้าของ “เกรดต่ำ” เป็น “ผ้าคาร์บอนผสมวัสดุอื่นเยอะ” งานจะไม่เรียบร้อย ไม่สม่ำเสมอ ห่างๆ ถี่ๆ อะไรก็ว่าไป แต่โดยมากจะเจอ “สานห่าง” ลดคุณภาพ เอากำไรเยอะ เส้นใยก็โย้เย้ไปมาไม่น่าดู ขนาดก็ไม่เท่ากัน มิติการเหลือบแสงก็ไม่สวย พอเอาไป Lay น้ำยา งานจะมี Effect เยอะ ปูดๆ คลื่นๆ ไม่เนียน
- ผ้าปลอม ไม่มีความเป็นคาร์บอน อันนี้ต้องสังเกตุดีๆ ครับ มันจะไม่มีความเหลือบในเส้นใยจะดูทื่อๆไร้มิติ แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะมันดูได้ง่าย ดูยังไงก็รู้ว่ามันไม่ใช่
- ลองส่องกับแดดดู ถ้า CF งานแท้ๆ จะทึบแสง แต่ถ้าส่องแล้วโปร่งแสง แสดงว่าคุณภาพไม่ค่อยโอเค การทอสานใยไม่แน่นพอ สานแบบหลวมๆ ใช้ใยเกรดต่ำ ผสมไฟเบอร์หรือวัสดุอื่นเยอะ
- ถ้าอย่างแย่สุด คือ “สติกเกอร์ลายคาร์บอน” เดี๋ยวนี้ก็จะพยายามทำให้มีมิติเหมือนกับของจริง แต่ทำยังไงก็รู้ว่าเป็นแค่สติกเกอร์ ถ้ายังโดนหลอกอีกก็เลิกแต่งรถดีกว่าครับท่าน
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ณัฐพล เดชสิงห์ / GRANDPRIX ONLINE
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี /www.xo-autosport.com
ภาพ : xo-autosport.com
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th