เคล็ดลับการเดินทางเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็กในครรภ์
ข้อจำกัดของสตรีมีครรภ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงระยะเวลาของการตั้งครรภ์ รวมถึงอาการที่สามารถส่งผลกระทบในระหว่างการเดินทาง ได้แก่ อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดหลังและภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำซึ่งภาวะดังกล่าวนี้เกิดได้ทั้งจากทางพันธุกรรมและการนั่งอยู่กับที่นานๆ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอและหมั่นยืดขาเมื่อต้องเดินทางระยะไกล ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเดินทางโดยรถคุณแม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอย่างไรบ่าง
- ก่อนออกเดินทางคุณแม่ควรใช้เข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้องและจัดตำแหน่งสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดในแนวทแยงให้พาดอยู่ระหว่างหน้าอกลงไปตามแนวโค้งของท้อง โดยพาดสายเข็มขัดในแนวนอนให้อยู่เหนือต้นขาและกระดูกเชิงกราน หลังจากนั้นเสียบหัวเข็มขัดเข้ากับตัวล็อก และตรวจสอบอีกครั้งเพื่อไม่ให้สายเข็มขัดรัดแน่นมากจนเกิดความอึดอัดไม่สบายตัว อย่างไรก็ดี คุณแม่ควรป้องกันไม่ให้เข็มขัดนิรภัยขึ้นมาอยู่บริเวณหน้าท้องโดยเด็ดขาด
- ระหว่างการเดินทางไกล ควรจอดพักอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้คุณแม่ได้เคลื่อนไหวเท้าและหมุนข้อเท้าอย่างช้าๆ รวมถึงขยับนิ้วเท้า เนื่องจากการนั่งเป็นระยะเวลานานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จะทำให้เท้าและข้อเท้ามีอาการบวมได้ง่าย การได้แวะจอดพักเพื่อยืดเส้นสายหรือทำกายบริหารจะช่วยให้เลือดไหลเวียนลงสู่เท้าได้สะดวกมากยิ่งขึ้นและยังสร้างความผ่อนคลายทั้งแก่ตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ หากคุณแม่มีอาการปวดหลังในระหว่างการเดินทาง คุณแม่สามารถใช้หมอนอิงใบเล็กๆ หรือ ผ้าขนหนูพับทบกันวางหนุนหลัง เพื่อลดความเจ็บปวดและเพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นตลอดการเดินทาง
- สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในช่วงระยะไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล หากมีความจำเป็นต้องเดินทาง คุณแม่ควรนั่งที่เบาะหลังซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยมากที่สุด ในกรณีที่นั่งเบาะหน้า โปรดปรับตำแหน่งเบาะนั่งและพนักพิงไปด้านหลังมากที่สุด เพื่อป้องกันการกระแทกจากการทำงานของถุงลมนิรภัย
- ในทุกๆ การเดินทาง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรพกพาสำเนาระเบียนฝากครรภ์ติดตัวไปทุกที่ ซึ่งในสมุดจะรวบรวมข้อมูลจำเป็นต่างๆ ไว้ครบถ้วน ตั้งแต่ประวัติการตั้งครรภ์ ผลการรักษาไปจนถึงเบอร์โทรติดต่อฉุกเฉิน
- ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ประสบอุบัติเหตุเล็กน้อยและรู้สึกสบายดี ถึงอย่างไรก็ตามคุณแม่ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะครรภ์ของคุณแม่อาจได้รับการกระทบกระเทือนและมีความเสี่ยงของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption) และการคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) ได้
- อย่างไรก็ดี การเดินทางไกลไม่นับเป็นข้อห้ามสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นและปฏิบัติตามเคล็ดลับเบื้องต้นเพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดและให้การเดินทางเป็นไปอย่างสนุกสนาน หมดความกังวลใจสำหรับทุกคน
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th