เอทานอลผสมน้ำมันเชื้อเพลิงเอามาผลิตเจลล้างมือได้หรือไม่
โดยมีการยกประเด็นในเรื่องที่ว่าทำไมบริษัทน้ำมันถึงไม่ส่งเอทานอลที่ใช้ในการผลิตแก๊สโซฮอล์มาใช้ในการผลิตแอกอฮอล์ และ เจลล้างมือ ในช่วงนี้ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก
นั่นก็เลยทำให้เกิดคำถามว่า เอทานอลผสมน้ำมันเชื้อเพลิงเอามาผลิตเจลล้างมือได้หรือไม่ ?
ต้องบอกอย่างนี้ก่อนว่า แอลกอฮอล์ มีหลายชนิด แม้จะมีชื่อเรียกเหมือนกัน แต่ใช้ไม่เหมือนกัน โดยแอลกอฮอล์สำหรับใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงนั้นเรียกว่า “เอทานอลแปลงสภาพ” มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร และต้องมีการแปลงสภาพด้วยน้ำมันก่อนขนส่งออกจากโรงงาน ตามประกาศกรมสรรพสามิต
แอลกอฮอล์ประเภทนี้จะถูกใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ชนิดต่างๆ และเป็นสารเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อีกทั้งยังมีน้ำมันเบนซินเป็นส่วนผสม จึงไม่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ เพราะเอทานอลที่ผู้ค้าน้ำมันซื้อออกจากโรงงานผู้ผลิตเอทานอลต้องได้รับการแปลงสภาพ (Denature) ตามกฎหมาย ด้วยการผสมน้ำมันเบนซินก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการควบคุมของรัฐ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่สามารถนำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการบริโภคและเชิงทางการแพทย์
ดังนั้น ตามประกาศกรมสรรพสามิตว่า จะต้องมีการแปลงสภาพด้วยน้ำมันก่อนขนส่งออกจากโรงงาน แอกอฮอล์ประเภทนี้จึงไม่สามารถนำมาใช้งานได้ เพราะมีถูกผสมน้ำมันแล้วตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งก็สอดคล้องกับคำประกาศของปตท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกเรียกร้องให้ส่งเอทานอลในคลังน้ำมันของตัวเองออกมาช่วยในการผลิตเจลล้างมือ
สำหรับเอทานอลที่นำมาใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์ในทางการแพทย์นั้น จะต้องไม่ถูกผสมโดยน้ำมันเพื่อให้ได้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นพอที่จะฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ได้ โดยความเข้มข้นที่นิยมใช้จะอยู่ในช่วง ร้อยละ 60-90 โดยปริมาตร เช่น แอลกอฮอล์ ที่มีส่วนผสมของเอทานอล ร้อยละ 80 โดยปริมาตร และ ไอโซโพรพานอล ร้อยละ 5 โดยปริมาตร จะสามารถยับยั้งไวรัสที่มีเยื่อหุ้มได้ ผู้ที่สามารถซื้อเอทานอลเพื่อนำไปทำเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายด้วย
อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุครั้งนี้ ทางด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานโดยอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ได้ทำหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2563 ไปถึงอธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังเพื่อแจ้งให้พิจารณาอนุญาตนำเอทานอลไปผลิตเจลล้างมือได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสถานการณ์เร่งด่วน และมีปริมาณเอทานอลสำรองเพียงพอในการใช้ในภาคพลังงานและเพียงพอสำหรับผลิตเจลล้างมือได้ โดยขอให้กรมสรรพสามิตมีการรายงานสรุปปริมาณที่อนุญาต เพื่อ กระทรวงพลังงาน จะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตเอทานอลให้สมดุลต่อไป
สำหรับกำลังการผลิตปัจจุบันของโรงงานเอทานอลที่นำมาใช้กับภาคพลังงาน มีทั้งสิ้น 26 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 6.3 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่มีการใช้เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 4.4 ล้านลิตรต่อวัน โดยยังมีปริมาณเอทานอลส่วนเกินจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคพลังงานเหลือมาผลิตเป็นแอลกอฮอล์เข้าสู่ระบบเพิ่มมากกว่า1 ล้านลิตรต่อวันเพียงพอที่จะดูแลประชาชนในการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
“กระทรวงพลังงานและกรมสรรพสามิต ได้ร่วมมือกันปลดล็อคครั้งนี้ในการนำเอทานอลส่วนเกินจากโรงงาน 26 แห่งที่มีอยู่มาป้อนให้กับผู้ผลิตเจลล้างมือ โดยขั้นตอนผู้ผลิต เจลล้างมือ หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเดิมจะต้องให้กระทรวงพลังงานจัดสรรแล้วจึงไปแจ้งกรมสรรพสามิตต่อไปก็ไม่ต้องมาแจ้งกระทรวงพลังงานโดยสามารถไปติดต่อยังกรมสรรพสามิตโดยตรงจุดเดียว แต่กรมสรรพสามิตจะมีการรายงานสรุปปริมาณที่อนุญาตเพื่อติดตามปริมาณเอทานอลให้สมดุลกับพพ.เท่านั้น ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าของจะทยอยออกมา” นายสนธิรัตน์กล่าว
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th