เจาะลึก “เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ” นักแข่งไทยสู่ระดับโลก
เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ ศึกจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์เอเชีย นับว่าเป็นเกมส์การแข่งขันที่มีความสําคัญอย่างมากในการพัฒนาวงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ในทวีปเอเชีย ถือเป็นบันไดก้าวสําคัญของนักบิดชาวไทยในการก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ และต่อยอดไปจนถึงการแข่งขันในระดับโลก
นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 การแข่งขัน เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ สามารถดึงให้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในเอเชีย เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ ค่ายสองล้ออย่าง ฮอนด้า, ยามาฮ่า, คาวาซากิ และ ซูซูกิ ต่างร่วมใจกันส่งนักบิดจากทีมโรงงานของแต่ละประเทศเข้าร่วมการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันรายการนี้ได้หวนกลับมาจัดที่ประเทศไทยอีกครั้ง หลังผ่านไปกว่า 16 ปี และนี่เป็นความสําเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของกีฬามอเตอร์สปอร์ตเมืองไทย ด้วยการถือกําเนิดของสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ พร้อมๆ กับการยอมรับในมาตรฐานการจัดการแข่งขันในระดับโลก
ส่งผลให้ 2 ปีที่ผ่านมา เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ มีขึ้นในเมือง ไทยถึง 3 สนาม ได้แก่ 1 คร้ังในปี 2014 ก่อนที่ฝ่ายจัดการแข่งขันจะเลือกใช้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีก 2 ครั้งในปี 2015 พร้อมกับเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี ของ เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ อีกด้วย ขณะที่ในปี 2016 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 2 ครั้ง ในสนามที่ 2 วันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ และสนาม 6 ซึ่งเป็นสนามปิดฤดูกาลในวันที่ 3-4 ธันวาคม
เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ เปรียบเสมือนเวทีแห่งการวัดคุณภาพรถจักรยานยนต์ของค่ายผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ เนื่องจากรถที่ใช้สําหรับการแข่งขันแต่ละรุ่น จะต้องมีจําหน่ายตามท้องตลาดจริงๆ หรือที่เรียกกันว่า โปรดักชั่น ไบค์ (Production Bike) นั่นเอง โดยมีการแบ่งรุ่นสําหรับการแข่งขันในปัจจุบัน ดังนี้ ซูเปอร์สปอร์ต 600 ซี.ซี., เอเชีย โปรดักชั่น 250 ซี.ซี. และ อันเดอร์โบน 130 ซี.ซี. และแน่นอนว่านักบิดของแต่ละทีมถูกส่งเข้าแข่งขันในนามตัวแทนของแต่ละประเทศ รวมถึงนักบิดจากประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันรุ่น เอเชีย ดรีม คัพ (Asia Dream Cup) และ ซูซูกิ เอเชียน ชาลเลนจ์ (Suzuki Asia Challenge) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสานฝันและยกระดับให้นักบิดในเอเชีย พัฒนาตนเองสู่การแข่งขันที่สูงขึ้นและหากพวกเขาทําได้ ผู้สนับสนุนพร้อมจะผลักดันสู่การแข่งขันระดับสูงสุดอย่าง เวิลด์ จีพี (World GP) นั่นเอง
การแข่งขันรายการนี้ได้รับการติดตามจากแฟนมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกและสามารถดึงนักบิดระดับโลก อย่าง ยูกิ ทากาฮาชิ นักบิดชาวญี่ปุ่น ซึ่งในอดีตเคยร่วม แข่งขันโมโตจีพี และ โมโตทู มาแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ ยังเป็นการรวมนักบิดชั้นนําของประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ ไทย, ญี่ปุ่น, จีน, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลลิปปินส์, อินเดีย, ศรีลังกา, สิงคโปร์ และ อีกหลายประเทศ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งด้วยรูปแบบการแข่งขันที่สามารถต่อยอดไปสู่การแข่งขันระดับโลกได้
เมื่อมีนักบิดจากหลากหลายประเทศ แฟนๆ ความเร็วจากทุกประเทศที่กล่าวมานั้น ย่อมติดตามการแข่งขันอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งฤดูกาล รวมถึงแฟนชาวไทยที่ให้ความสนใจ เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการแข่งขันมีขึ้นในเมืองไทยถึง 3 ครั้ง ในช่วง 2 ปีท่ีผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันจากเมืองไทยไปทั่วโลก หลายประเทศในทุกๆ ทวีป กว่า 30 ประเทศ รวมถึงเมืองไทย และสิ่งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับฝ่ายจัดการแข่งขัน รายการ เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ คือ จํานวนผู้ชม ที่เดินทางเข้าชมการแข่งขันที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ซึ่งใน 5 คร้ังที่ผ่านมาน้ัน มีผู้ชมชาวไทย และชาวต่างชาติตบเท้าเข้าชมการแข่งขันเฉลี่ย 30,000 คน (รวม 3วัน) ในสุดสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าบรรดาสนามอื่นๆ ของรายการนี้กว่าร้อยละ 90
ปัจจุบันวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดและ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการแข่งขันจักรยานยนต์นั้น ประเทศไทยได้สร้างนักบิดที่มีชื่อเสียงมากมายทั้งในระดับเอเชีย และสามารถก้าวขึ้นสู่การแข่งขันในระดับโลกได้
ในแง่ของการยกระดับความสามารถของนักบิดไทย การแข่งขัน เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ ถือเป็นเวทีในการพัฒนาและชี้วัด ความสามารถเด็กไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้เห็นแล้วว่าทีมแข่งจากประเทศไทย และนักบิดไทยสามารถต่อสู้กับนักบิดชั้นของของ เอเชียได้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซีย ส่งนักบิดที่ผ่านการแข่งขัน รายการนี้ ขึ้นไปสู่การแข่งขันระดับโลกถึง 3 คน ได้แก่ ฮาฟิซ ซยาริน, อาซลัน ชาห์ และซัควาน ไซดี้ ซึ่งนักบิดเหล่านั้นสามารถ ติด 1 ใน 15 ของรุ่น โมโตทู ในรายการ โมโตจีพี ได้ ซึ่งในอนาคตอาจมีโอกาสได้เห็นนักบิดไทยต่อยอดไปจนถึงระดับเดียวกันนี้ หากได้รับการฝึกฝน และได้รับการสนับสนุนให้ได้แข่งขันอย่าง ต่อเนื่อง และแน่นอน เมื่อการแข่งขันรายการนี้กลับมาแข่งขันในเมืองไทยอีกครั้ง จะสามารถช่วยกระตุ้นให้ค่ายผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในไทย สามารถยกระดับความสําคัญในการผลักดันเด็กไทยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการก้าวเดินแบบถูกทิศทางในการพัฒนากีฬามอเตอร์สปอร์ตในเมืองไทยนั่นเอง
ในที่ผ่านมานักแข่งไทยได้สร้างชื่อเสียงมากมายในรายการนี้ โดยเฉพาะ มุกข์ลดา สารพืช ที่สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักบิดผู้หญิงคนแรกที่สามารถ คว้าแชมป์ในรุ่น เอเชีย ดรีม คัพ เหนือนักบิดชาย รวมถึง นครินทร์ อธิรัฐภูวภัทร และ อภิวัฒน์ วงศ์ธนานนท์ ที่คว้ารองแชมป์และ อันดับ 3 ของเอเชีย ในรุ่น เอเชีย โปรดักชั่น 250 ซี.ซี. มาครองได้ มาติดตามกันว่าในปี 2016 นักกีฬาจากประเทศไทยจะทำผลงานได้ดีแค่ไหน
สำหรับการแข่งขัน เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ 2016 สนาม 2 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ติดตามชมและเป็นกำลังใจให้กับนักบิดชาวไทยที่จะก้าวขึ้นสู่ระดับโลกผ่านการแข่งขันรายการนี้ต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลโดย ทีมประชาสัมพันธ์ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์
เรื่อง: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th