น้ำมาปลากินมด หลังน้ำ “ลด” ดู “รถ” อย่างไร
ในช่วงนี้ ก็อาจจะมีเรื่อง “น้ำท่วม” เข้ามาหลอกหลอนกันอีก ซึ่งหลายที่ก็โดนผลกระทบไปพอสมควร รถที่จำเป็นต้องขับลุยน้ำอยู่เสมอๆ ก็จะมี “ผลกระทบ” ที่ตามมามากพอสมควร อยู่ที่ว่าจะลุยน้ำ “ลึก” และ “นาน” แค่ไหน ยิ่งลุยน้ำลึก หรือ ใช้ระยะเวลานาน ก็ย่อมมีผลกระทบมาก หลังจากที่น้ำลดเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว มันมีสิ่งที่ต้องทำ คือ “นำรถเข้าตรวจเช็ค” เพื่อตรวจสอบว่ามีสิ่งใดที่จะต้อง “จัดการ” บ้าง…
ตรวจเช็ค เปลี่ยนถ่ายของเหลว สารหล่อลื่นต่างๆ
การขับรถลุยน้ำ แน่นอนครับ น้ำสกปรกย่อมเป็นศัตรูกับเหล่าชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ ซึ่งมันอาจจะเล็ดรอดเข้าไปในชิ้นส่วนที่ต้องมี “น้ำมันหรือสารหล่อลื่น” แต่พอลุยน้ำแล้ว มันก็จะ “เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ” อย่างเช่น “น้ำมันเบรก” แนะนำว่าควรเปลี่ยนทันที เนื่องจากว่า มัน “ดูดความชื้น” ได้เร็วมาก และเมื่อมีความชื้น เวลาเบรกร้อน จะเกิดฟองอากาศในระบบเบรก และเกิดการขยายตัว ดันให้ลูกสูบเบรกทำงานโดยที่เราไม่ได้เหยียบแป้นเบรกใดๆ ทำให้ “เบรกติด” และอาจจะเกิดสนิมในระบบได้…
ส่วนน้ำมันอื่นๆ เช่น น้ำมันเครื่อง และ น้ำมันเกียร์ ก็ต้องเช็คหน่อย เพราะตอนลุยน้ำท่วมสูง โอกาสที่มันจะเล็ดรอดเข้าไปก็เป็นได้ ถ้ามีน้ำปนเข้าไปในน้ำมัน จะออก “สีนม” นั่นแหละรีบถ่ายให้ไว ก่อนที่จะเกิดปัญหาพังทั้งระบบ อีกอย่าง พวก “สารหล่อลื่น” พวก “จารบี” ที่เคลือบส่วนเคลื่อนไหวทั้งหลาย เช่น ลูกปืนล้อ, เพลาขับ, ช่วงล่าง, ระบบเบรก ฯลฯ ที่จะต้องแช่น้ำอยู่เสมอ พอโดนน้ำก็เสื่อมสภาพได้ง่ายกว่าปกติ ทำให้คุณสมบัติในการหล่อลื่น ลดแรงเสียดสีและแรงกระแทกหายไป ก็จะเกิดเสียงดัง การสึกหรอที่สูงกว่าปกติ อันนี้ควรจะต้องตรวจเช็คทุกจุดให้ละเอียด เพราะจารบีนั้นถูกกว่าค่าอะไหล่ที่จะต้องเปลี่ยนกันบานตะเกียง…
ล้างอัดฉีดใต้ท้องรถ
เวลาลุยน้ำ ก็จะมีพวกสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ลอยมาเพียบ เศษขยะ ใบไม้ อะไรก็ตามที่จะ “ติดอุปกรณ์ใต้ท้องรถเรา” เวลาลุยน้ำก็จะเก็บมาเป็นของฝาก (ที่ไม่อยากได้) กันเพียบ ควรจะล้างอัดฉีดใต้ท้องรถ เพื่อเอาสิ่งสกปรก ขี้ดิน ขี้ทราย และเศษสิ่งแปลกปลอมพวกนี้ออกไป เจอกันเยอะ ติดตามปีกนก ช่วงล่าง บางทีไปติดพันกับท่อไอเสีย เวลาร้อนๆ แห้งๆ ก็ “ไหม้” สิครับ หรือไม่ก็เข้าไปติดพันอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้เกิดการติดขัด เสียหาย ขึ้นมาได้…
ล้างสิ่งสกปรกออกจากระบบระบายความร้อน
กันชนหน้า เป็นด่านแรกที่จะต้อง “กวาดน้ำ” ก็จะมีพวกขยะต่างๆ ที่ลอยน้ำมา ไปติดที่ “แผงแอร์และหม้อน้ำ” ที่อยู่ด้านหน้ารถ ทำให้ “การระบายความร้อนแย่ลง” ความร้อนขึ้น แอร์ไม่เย็น บางทีระบบตัวรถไม่เป็นไรหรอก แต่ที่เป็นเรื่องเพราะเศษขยะ หรือ สวะ พวกนี้ไปติดบังอยู่ด้านล่างเต็มไปหมด มักจะเป็นจุดที่ไม่ค่อยได้สังเกตกันเสียด้วย ก็ควรจะหมั่นสังเกตและรีบเคลียร์ออกด้วยนะครับ…
ตรวจเช็คเรื่องน้ำเข้าในรถด้วยนะครับ
การลุยน้ำลึก ก็มีโอกาสเสี่ยงที่น้ำจะเล็ดรอดเข้ามาในพื้นห้องโดยสารเยอะขึ้น รถใหม่ๆ อาจจะไม่ค่อยมีปัญหา ผมใช้คำว่า “อาจจะ” นะครับ ก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้าลุยน้ำลึกจนใกล้ถึงจุดวิกฤตของรถคันนั้นๆ โอกาสที่น้ำจะเข้ารถก็มีเหมือนกัน ประมาทไม่ได้ เอาเป็นว่า ไหนๆ ก็ลองเปิดผ้ายางปูพื้นขึ้นมาดูสักหน่อย ว่าด้านใต้มีน้ำเข้ามาหรือไม่ เพราะถ้ามีน้ำขังแล้วปล่อยทิ้งไว้สักระยะ จะทำให้เกิดเชื้อรา กลิ่นไม่พึงประสงค์ ทิ้งไว้นานมันจะแก้ยากครับ…
จริงๆ แล้ว เรื่องการตรวจเช็คเหล่านี้ มันอาจจะดูเยอะ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะถ้า “ปล่อยเซอร์” เอาไว้ ไม่มีการตรวจเช็ค เกิดข้อผิดพลาดมาแล้วจะ “งานหยาบ” กลายเป็น “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ทางที่ดี “กันไว้ดีกว่าแก้” ครับ เพื่อรถที่รักของเราจะได้อยู่รับใช้เราไปนานๆ โดยเสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th