เทคนิคการขับรถขึ้นลง “คอสะพาน” ขับอย่างไร ให้ “เนียน” ถนอมทั้งรถและคน
เรื่องบางเรื่อง ที่หลายคนอาจจะมองข้าม โดยเฉพาะ “เรื่องใกล้ตัว” นี่แหละ ในการขับรถ ต้องอาศัยความ “ละเอียด” ถึงจะเรียกว่า “ขับเป็น” นุ่มนวล ปลอดภัย ไม่ใช่แค่ “ขับได้” ให้รถเคลื่อนที่ไปได้เฉยๆ เท่านั้น ดังนั้น เรื่องเทคนิคการขับรถ จึงมีส่วนสำคัญที่เราอยากจะมอบให้แฟนๆ ทุกท่าน ทุกวัย ทุกเพศ นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ก็จะส่งผลให้สามารถยกระดับความสามารถในการขับรถ “อย่างถูกต้อง” ไม่ใช่เรื่องยากเลยนะครับ เพียงแต่ “ใส่ใจ” ครั้งนี้ จะแนะนำการขับรถขึ้นลงคอสะพานอย่างไร ให้ “นุ่มนวล” คนนั่งไม่เสียวหัวหรือเสียวสันหลัง รถก็ไม่กระเด็นกระดอนจนเสียอาการ หรือ เสียหาย กันครับ…
เบาเถอะโยมมมม
คาถาแรกเลย เมื่อเราขับรถมาเจอคอสะพาน ตามธรรมเนียมมนุษย์แล้ว ควรจะ “ชะลอความเร็วลง” ด้วยการผ่อนคันเร่ง แต่ถ้าคอสะพานสูง หักชันค่อนข้างมาก “แตะเบรกอย่างนุ่มนวล” อย่าเบรกกระทันหันนะครับ คันหลังจะสอยท้ายยู่เข้าให้ คือ “คุณต้องประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าก่อน” ไม่ใช่วัดดวงไปใกล้ๆ แล้วตกใจเบรก หรือปล่อย “เหินฟ้าๆๆๆๆๆ” ไปเลย รถก็จะกระโดดลอย คนในรถก็หัวโหม่งเพดาน โดยเฉพาะคนนั่งหลัง พอลงมาก็ “กระแทก” ความแรงตามความเร็ว ยิ่งเร็วโอกาสเสียหายยิ่งเยอะ บางคันมาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ เหาะลงมา “โครมมมมมมมมม” เล่นเอา โช้คแตก ช่วงล่างคด อาจจะลามไป “แคร้งค์น้ำมันเครื่องแตก” หากหัวทิ่มกระแทกแรงจริงๆ ก็มีเยอะนะ โดยเฉพาะ “สายโหลด” ทั้งหลาย…
อย่าเบรกในจังหวะกำลังขึ้นและลงคอสะพาน
ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ การเบรกที่ควรทำ อย่างที่บอกไป คือ “เบรกก่อนขึ้นคอสะพาน” อย่าไป “เบรกระหว่างขึ้นลงคอสะพาน” เนื่องจากจังหวะที่รถเริ่มลอยตัว ล้อก็จะเริ่มลอยขึ้น การยึดเกาะถนนจึง “ด้อย” ลง ถ้าเราไปเบรกแรงๆ ในจังหวะนี้ จะเกิดอาการ “ล้อล็อก” ได้ง่าย แม้จะมี ABS ก็ตาม ถ้าใครเคยทำแบบนี้ จะได้ยินเสียงยาง “เอี๊ยด” รถก็จะเสียจังหวะ และ “หัวทิ่มหัวตำ” หรือ “ไถล” อย่างที่หลายคนอาจจะเคยเจอกับตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก…
เบรกให้เสร็จ แล้ว “แตะคันเร่ง” ไปต่อ
หลังจากที่เบรกชะลอความเร็วแล้ว จังหวะที่รถกำลังจะขึ้นคอสะพาน ให้ “แตะคันเร่ง” เลี้ยงอย่างนุ่มนวล เพื่อรักษาสมดุลย์ การแตะคันเร่ง จะทำให้ “รถมีแรงส่ง” ล้อที่ขับเคลื่อนก็จะมี “แรงยึดเกาะ” จากการหมุนของล้อ จะเกิด “แรงขับลงพื้น” ทำให้รถไปต่อได้อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง ไม่แนะนำให้ “ปล่อยคันเร่ง” หรือ “เหยียบคลัตช์” (ในรถเกียร์ธรรมดา) เพราะเท่ากับเรา “ตัดกำลังรถ” ล้อก็จะ “ปล่อยฟรี” การยึดเกาะก็น้อยลง ขาลงก็ทำแบบเดียวกัน ถ้าเราประคองความเร็วอย่างเหมาะสมมาแล้ว ก็ยกคันเร่งนิดหน่อย พอพ้นคอสะพานแล้วก็แตะคันเร่งไปต่อ ทำให้เป็น Routine แบบนี้ อันนี้เว้นแต่เจอคอสะพาน “หักมุมนรก” จริงๆ อันนั้นก็ค่อยๆ แตะเบรกปล่อยให้มันไหลข้ามไปช้าๆ นุ่มๆ แล้วกัน…
จะสังเกตว่า แม้จะเป็นการขับรถข้ามคอสะพานแบบที่เราพบอยู่ทุกวันก็จริง แต่มันก็มี “รายละเอียด” ในการขับที่ต้องอาศัย “ประสบการณ์” และ “ขั้นตอนวิชาความรู้” คอยหมั่นสังเกตด้วยตัวเอง อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องยาก ลองศึกษาและฝึกปฏิบัติดู จนประสาทสั่งการแบบอัตโนมัติ คุณจะสามารถขับรถผ่านทุกสถานการณ์ได้แบบไม่ยากเย็นเลย…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th