เทคนิคง่ายๆใน การขับรถขึ้น – ลงเขา ใครๆก็ทำได้
ใกล้ปีใหม่เข้ามาทุกที ผมเชื่อว่าหลายต่อหลายท่านมีแผนที่จะขับรถเที่ยวต่างจังหวัดกันสถานที่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่นี้ก็คงจะหนีไม่พ้นภูเขา ยอดภู ยอดดอย ต่างๆ เพื่อไปชมความงดงามของทะเลหมอก ชมดอกไม้สีสันสดใส พร้อมสัมผัสลมหนาวกัน และนักท่องเที่ยวส่วนมากเลือกที่จะขับรถยนต์ส่วนตัวขึ้นเขากัน หลายท่านที่มีทักษะในการขับดีอยู่แล้วก็คงไปได้แบบสบายหายห่วง แต่มือใหม่หัดขับละเราจะขับขึ้นเขาหรือทางลาดชันได้มั้ย วันนี้เรามีเทคนิคดีๆใน การขับรถขึ้น-ลงเขา อย่างไรให้รอดและปลอดภัย มือใหม่ก็ขับขึ้นได้สบายหายห่วง ต้องยอมรับครับว่าในปัจจุบันรถยนต์เกียร์ธรรมดาเราไม่ค่อยจะได้สัมผัสเท่าไหร่จนเด็กสมัยใหม่ขับเกียร์ธรรมดากันไม่เป็นแล้ว เพราะไอ้เจ้ารถยนต์สมัยใหม่ในปัจจุบันนี้ มันดันเป็นเกียร์ ออโต หรือไม่ก็ CVT ซะส่วนมาก ทีนี้เราจะมีวิธีขับอย่างไรให้ขึ้น-ลงเขาอย่างปลอดภัย เราตามไปดูกันครับ
ผมบอกไว้ตรงนี้เลยว่ารถยนต์ไม่ว่าจะเครื่อง 2000 1500 หรือ1200 ซีซี ก็ขับขึ้นเขาได้หมดละครับ เพียงแต่พละกำลังมันต่างกันก็เท่านั้น เพราะรถยนต์อีโคคาร์เครื่องยนต์ 1200 ซีซี ในปัจจุบันแรงบิดเยอะใช่เล่นนะครับ รถยนต์อีโคคาร์เครื่องยนต์ 1200 ซีซี ขับขึ้นเขาที่ลาดชันมากๆก็อาจจะเหนื่อยหน่อยครับ ขึ้นได้แน่แต่ช้าหน่อย เพราะรถยนต์พวกนี้ออกแบบมาให้วิ่งในเมืองซะส่วนมาก เอาเป็นว่าถ้าจะขับรถยนต์อีโคคาร์ขึ้นเขาก็สามารถทำได้แล้วกัน ครั้งนี้เราจะไม่พูดถึงเครื่องยนต์ แต่เราจะมาบอกเทคนิคในการขับขึ้น-ลงเขากันครับ
เรามาดูเทคนิคง่ายในการขับขึ้นเขากันครับ
- ให้ใช้เกียร์ D หรือ D2-D1 ขึ้นอยู่กับความชันน้อยหรือมาก โดยให้ใช้เกียร์ D2-D1 ในการขับขึ้นเขาลงเขา และเปลี่ยนไปใช้เกียร์ D บ้าง เมื่อรถอยู่ในทางราบ หลายท่านซัดเกียร์ D อย่างเดียวเลยขึ้นได้ครับ แต่มันอันตรายนิดนึง
- เลี้ยงคันเร่งไว้ เหยียบคันเร่งตามระดับความชัน พยายามให้รอบเครื่องอยู่ประมาณ 2000-3500 ควบคุมไม่ให้เกิน 4500 นะจ๊ะ อย่าไปเค้นเครื่องยนต์มากนักเครื่องยนต์จะทำงานหนักเกินไป
- ใช้ความเร็วเพียง 50-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือช้ากว่านี้ ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องแข่งกับใคร ถ้ารถหลังรีบก็ให้ชิดซ้ายเพื่อเปิดทางให้เขาแซงไปก่อน ปลอดภัยไว้ก่อนถึงเหมือนกันนะจ๊ะ
- คุมระยะรถให้ห่างคันหน้าประมาณ 30-50 เมตร เพราะการเว้นระยะจะเผื่อไว้ในกรณีที่รถคันหน้าเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ขึ้นไม่ไหว หรือรถตายกลางทาง คุณจะได้มีโอกาสหลบเลี่ยงได้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญการเว้นระยะจะทำให้คุณมีโอกาสเร่งรถขึ้นเขาได้สบายมากขึ้นด้วย
- เมื่อต้องขับรถโค้งต่อเนื่องรูปตัว S มองให้ไกลไว้ เมื่อแน่ใจว่าทางสะดวกไม่มีรถสวน จากนั้นเสียบตัดโค้งในแนวการขับให้เป็นเส้นตรงมากที่สุด จะได้ไม่เมารถ (แต่ถ้าจะทำแบบนี้ผู้ขับต้องมีความชำนาญนิดนึงนะครับ)
- การขับในทัศนวิสัยที่ไม่ดี หรือเป็นทางโค้งแคบที่มีสันเขาบังสายตา ควรเข้าโค้งแบบธรรมดา และต้องบีบแตรส่งสัญญาณก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันรถที่วิ่งสวนมา
เมื่อขึ้นแล้วก็ต้องลง มาดูกันว่าการขับรถลงเขามีเทคนิคอย่างไร
- ให้ใช้เกียร์ D หรือ D2-D1 เช่นเดียวกันตอนขึ้นเขา และห้ามใส่เกียร์ว่าง ‘N’ ลงเขาเด็ดขาด เพราะจะทำให้รถไหลลงด้วยความเร็วสูง อันตรายสุดๆๆ ที่สำคัญอย่าลืมควบคุมความเร็วของรถให้สัมพันธ์กับเกียร์ด้วยนะ
- ห้ามย้ำเบรค หรือเลียเบรคค้างนานๆ เพราะจะทำให้ผ้าเบรคไหม้ คุมรถไม่อยู่ หรือ “เบรคแตก” ได้ ให้แตะเบรคเบาๆเป็นช่วงๆให้รู้สึกว่ารถชะลอความเร็วลงแค่นั้นพอ
- ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรเหยียบคันเร่ง แต่ปล่อยให้รถลงมาเองด้วยเกียร์ D/D1-2 (ถ้ากลัว หรือไม่ชำนาญ)
- ก่อนเข้าโค้งหักศอกแล้วลาดลง ให้แตะเบรคลดความเร็วลงมาที่ 40-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเข้าโค้งง่ายๆเร็วเกินควบคุมรถไม่อยู่เดี๋ยวหลุดโค้งตกเขานะ
การขับรถขึ้น-ลงเขาสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องคิดไว้เสมอคือความปลอดภัย และต้องมีสติตลอดเวลาที่นั่งหลังพวงมาลัย จังหวะในการเร่งแซงก็เช่นกันถ้าผู้ขับมองแล้วว่าไม่ทัน หรือฉิวเฉียด ผมว่ารอก่อนดีกว่า ช้าแต่ชัวร์ จะได้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เที่ยวปีใหม่ให้สนุกนะครับ
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ข้อมูลบางส่วน :moneyguru.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th