เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังมา เตรียมชาร์จรถอย่างไรให้ปลอดภัย
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) นำโดยคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ คุณวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายเเผนยุทธศาสตร์ เเละผู้อำนวยการโครงการ EGAT ProVenture การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย (กฟผ.), คุณธนาเศรษฐ์ บุญเรศธนะพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), คุณนิธิ อาจองค์ ผู้อำนวยการกองธุรกิจระบบไฟฟ้า 1 การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), คุณกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบพลังงาน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), คุณธีรภัทร เเต่รุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เเละการตลาด บริษัท เอบีบี อีเลคทริฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, คุณกิตติ ศานต์พิริยะ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด
พร้อมด้วย ผู้ดำเนินรายการ คุณวิรันดา วัฒนดำรง เเละ คุณธมลวรรณ ชลประทิน กรรมการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จัดงานเสวนาออนไลน์ผ่านระบบซูมเเละเฟสบุคไลฟ์ ในหัวข้อ “เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังมา เตรียมชาร์จรถอย่างไรให้ปลอดภัย” โดยในงานเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ ได้มีการพูดคุยในประเด็นการจัดเตรียมระบบไฟฟ้า หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดต่างๆ ในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการทำธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างไรให้ปลอดภัย และคุ้มค่าแก่การลงทุน
เริ่มการบรรยาย ด้วยคุณวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายเเผนยุทธศาสตร์ เเละผู้อำนวยการโครงการ EGAT ProVenture การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “ภาพใหญ่ระดับประเทศ แรงงานไทยก็จะต้องเปลี่ยนทักษะในการทำงานตามไปด้วย เพื่อรักษาความสามารถการเป็นผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่ของโลก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทางรัฐบาลกำลังคิด คือมากกว่าที่จะทำอย่างไรให้คนมาใช้ เเต่ต้องคิดให้ครบทั้ง Ecosystem ส่วนของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเอง มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใช้ชื่อว่า EleX By EGAT ที่เปิดให้บริการร่วมกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ อย่างปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า สถานที่ต่างๆ รวมถึงการสนับสนุน Logistics Fleet ให้เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมกันนี้ยังมีเเอปพลิเคชัน ที่ชื่อ EleXA ที่เป็นเเอปพลิเคชัน บอกถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า ของ EGAT และของทุกรายที่ผู้ใช้สามารถเพิ่มเข้ามาได้ ให้เห็นว่ามีจุดไหนบ้างเเละสามารถชำระเงินได้เลยทันที ผ่านระบบเเอปพลิเคชัน
รวมถึง platform บริหารจัดการหลังบ้านที่พร้อมเชื่อมโยงหรือให้บริการแก่ผู้ประกอบการทุกรายแล้ว และยังเป็นผู้จำหน่ายและติดตั้ง Home Charger ยี่ห้อ EGAT Wallbox อีกด้วย กฟผ. พร้อมจัด E-mobility Solution ร่วมกับ partner ให้แก่ผู้สนใจทุกคน ขอเพียงมาพูดคุยกัน เพราะเราต้องการเพื่อนร่วมเดินทางเปลี่ยนผ่านภาคขนส่งที่สะอาดขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และเพิ่มความสามารถแข่งขันประเทศไปด้วยกัน”
ต่อมาคุณธนาเศรษฐ์ บุญเรศธนะพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ให้ข้อมูลว่า “ปัจจุบันทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ทั่วประเทศไปเเล้วมากกว่า 42 สถานี มีแผนจะเปิดให้ครบ 263 สถานี ภายในปี 2566 ปัจจุบันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการอีกด้วย ผ่านเเพลตฟอร์ม PEA Volta ที่ประชาชนสามารถค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า เเละสั่งการชาร์จ ชำระเงิน ที่จบ ครบ เสร็จในเเอปพลิเคชันเดียว
ในส่วนของความคุ้มค่าของการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้น ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ชี้เเจงตัวเลขการลงทุนว่า สถานีเเบบ DC (50 kW) ลงทุนประมาณสถานีละ 1 ล้านบาท ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการ กลุ่มสถานีบริการน้ำมัน เเละ ห้างสรรพสินค้า ส่วนสถานีเเบบ AC (7 kW) ต้องลงทุนประมาณสถานีละ 7 หมื่นบาท เหมาะกับโรงเเรมหรือที่พักต่างๆ โดย ทั้ง 2 สถานีอัดประจุไฟฟ้า สามารถคืนกำไรเเก่ผู้ลงทุนได้ภายใน 5 ปี ถ้ามีจำนวนรถไปใช้บริการมากพอ”
ด้าน คุณนิธิ อาจองค์ ผู้อำนวยการกองธุรกิจระบบไฟฟ้า 1 การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กล่าวว่า กฟน. มีพันธกิจหลักในการจัดหาและจำหน่ายกระเเสไฟฟ้าในกับประชาชนในพื้นที่ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ในส่วนการสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า กฟน. มีความพร้อมในทุกๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องระบบการจ่ายไฟฟ้า และตั้งเป้าหมายไว้ว่าโครงสร้างการจ่ายไฟของ กฟน.จะต้องรองรับการจ่ายไฟให้กับยานยนต์ไฟฟ้า ราว 6.6 ล้านคัน ได้ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมา กฟน.ได้มีการรวบรวมข้อมูลอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในกิจการของ กฟน. พบว่ามีอัตราค่าไฟฟ้าประมาณ 70 สตางค์ต่อกิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3 บาท ต่อกิโลเมตร กฟน. ยังคงยึดมั่นเป้าหมายหลักขององค์กร คือ การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในทุกๆด้าน ในส่วนอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟน.มีประกาศไปล่าสุด หรืออัตราค่าไฟแบบ Low Priority ซึ่งคิดค่าพลังงานไฟฟ้าในอัตรา 2.6369 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบสถานีอัดประจุไฟฟ้าไม่ต้องรับภาระค่าไฟฟ้าสูงในช่วงเริ่มประกอบกิจการ โดยผู้ประกอบการเดิมหรือใหม่ต้องยื่นเรื่องขอใช้อัตราค่าไฟแบบ Low Priority จาก กฟน.ก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์นี้ ส่วนประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะไม่ได้สิทธิ์การใช้อัตราค่าไฟดังกล่าว
ส่วน คุณกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบพลังงาน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท เดลต้า มีความเกี่ยวข้อง ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ที่มี 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ หนึ่ง- คืออุปกรณ์ On-Board ที่ทางบริษัทได้ผลิตสำหรับใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า อย่างเช่น โมดุลชาร์จไฟ อุปกรณ์แปลงไฟ ส่วนที่สอง คือ Off-Board คือ เครื่องอัดประจุไฟฟ้าประเภทต่างๆ
ในอนาคต ผู้ประกอบการเจ้าของสถานีชาร์จจำเป็นต้องคำนึงถึง ความสะดวกในการดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะตามมาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เเละปัจจุบัน บริษัท ได้ผลิต ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม On-Board เพื่อการส่งออกโดยมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทยเเล้ว เเต่ในส่วนของผลิตภัณฑ์ Off-Board ทางบริษัทก็มีเเผนที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตเช่นกันในอนาคต
คุณธีรภัทร เเต่รุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เเละการตลาด บริษัท เอบีบี อีเลคทริฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูล เกี่ยวกับบริษัท เอบีบี ว่า “เอบีบีคือผู้นำระดับโลกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เอบีบีผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องอัดประจุไฟฟ้า มีโซลูชั่นการชาร์จไฟฟ้าอย่างครบถ้วน รวมถึงโซลูชั่นอย่าง e-house ที่สามารถนำไปใช้งานได้ลดความยุ่งยากในการออกแบบห้องไฟฟ้า
โดยสามารถนำไปติดตั้งในพื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว อีกทั้งได้นำเอาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร (IOT) มาอำนวยความสะดวกในการใช้งานรวมถึงการดูแลรักษา สามารถติดตั้งใช้งานทั้งภายในบริเวณที่พักอาศัย โรงเเรม อาคารและห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมันและสถานีรถยนต์ไฟฟ้าประจำทาง ปัจจุบันเอบีบีมียอดขายเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 400,000 เครื่องในกว่า 85 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นเครื่องชาร์จเร็ว DC มากกว่า 20,000 เครื่อง และเครื่องชาร์จ AC 380,000 เครื่อง
สำหรับในอนาคตทางเอบีบีได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2025 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ 150 กิกะวัตต์ ในปี 2050 ผู้คนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เเละภายในปี 2040 ยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกจะมีสัดส่วนมากกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด”
คุณกิตติ ศานต์พิริยะ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด คือผู้ให้บริการ สถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่รู้จักกันคือ EA Anywhere ซึ่งทางบริษัท EA มีเป้าหมายในการทำธุรกิจพลังงานสะอาด ตั้งเเต่ไอโอดีเวล ธุรกิจโซล่าร์เซลล์ ไปจนถึง ยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าประจำทาง เรือไฟฟ้า รวมไปถึงธุรกิจเเบตเตอรี่ ซึ่งคุณกิตติ ได้ให้คำเเนะนำเพิ่มเติมเเก่ประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับการติดตั้ง ชาร์จเจอร์สำหรับบ้านพักอาศัย ซึ่งต้องคำนึงถึง ขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า, ประเภทของปลั๊กชาร์จ, ขนาดของ On-Board Charger, การเลือกชาร์จเจอร์ เเละ การเลือกจุดตั้ง ที่อุปกรณ์เเต่ละประเภทล้วนมีความเเตกต่างทางวัตถุประสงค์ของการใช้ สำหรับผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าทุกคน ที่จะได้รับสายชาร์จไฟฟ้าเเบบ IC-CPD ที่มาพร้อมกับรถ คุณกิตติไม่เเนะนำให้ชาร์จไฟฟ้าผ่านสายไฟประเภทนี้ ทิ้งไว้เป็นเวลานาน หรือใช้งานเป็นประจำ
ด้านนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ กล่าว “การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเเรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราได้เป็นอย่างดี เเละเเต่ละท่านในวันนี้ ที่มาจากเเต่ละหน่วยงาน ทุกท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการปูทาง ด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ส่วนในเรื่องการบำรุงรักษายานยนต์ไฟฟ้านั้น ค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับยานยนต์สันดาปทั่วไป ที่ต้องตรวจเช็คทุกปี ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงไปเท่าตัว เพราะไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เเละมีความจำเป็นในการตรวจเช็คตามระยะทางน้อยกว่ายานยนต์สันดาปทั่วไป ปกติเเล้ว ยานยนต์ไฟฟ้าจะมีการตรวจเช็คราว 2 ปี ต่อครั้ง โดยรวมค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาจึงลดลงเป็นอย่างมาก”
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th