เบรกเรื่องจำเป็นที่ต้องรู้
ระบบห้ามล้อหรือที่เรียกว่าเบรกคือส่วนสำคัญในการควบคุมรถ ลองนึกดูสิว่าถ้ากำลังขับรถอยู่แต่เบรกไม่ทำงานหรือทำงานไม่เต็มที่จะเกิดอะไรขึ้น ไม่ชนก็ลงข้างทางดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการขับรถเราต้องตรวจสอบเบรกเสมอว่าพร้อมใช้งานขนาดไหน จะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
อาการที่เบรกมีปัญหา
1.เบรกมีเสียงครูดเสียงดัง อาการนี้เกิดจากผ้าเบรกหมดหรือผ้าเบรกมีปริมาณเหลือน้อยกว่า 1.6 มิลลิเมตร ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นคือการเสียดสีของแผ่นเหล็กตัวเตือนที่อยู่บริเวณผ้าเบรก แต่ถ้ายังใช้ต่อคราวนี้จะเป็นแผ่นเหล็กเสียดสีกันแทนเพราะผ้าเบรกที่มีอยู่หน้าแผ่นเหล็กได้หมดลงแล้ว นอกจากนี้หินที่หลุดเข้าไปในช่องว่างระหว่างผ้าเบรกกับจานเบรกก็ทำให้เกิดเสียงได้ ถ้าเราไม่รีบดูแลถึงขั้นต้องเจียรจานเบรกใหม่
2.เบรกแล้วรถมีอาการเอียง นั้นบ่งบอกว่าเบรกรถกำลังมีปัญหาให้ตรวจเช็คประสิทธิภาพการสึกหรอของชุดคาลิปเปอร์เบรกที่มีแรงกดในแต่ละฝั่งว่ามีแรงกดเท่ากันหรือไม่ สาเหตุของสารหล่อลื่นเครื่องยนต์ก็เป็นปัญหานะบางทีน้ำมันอาจกระเด็นมาโดนจานเบรกทำให้เกิดอาการจานเบรกลื่นได้
3.เหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกสั่นสู้เท้า สาเหตุจากจานเบรกเกิดการคดบิดตัว เนื่องจากถูกใช้งานรุนแรงกินไป หรือกรณีที่รถผ่านการลุยน้ำจานเบรกที่ร้อนจัดเวลาเจอน้ำมักจะบิดตัวได้ง่าย ผ้าเบรกสึกหรอไม่เท่ากัน อาการนี้เกิดได้ทั้งระบบดิสเบรกและดรัมเบรก
4.เบรกแข็ง อาการแบบนี้เรียกกันว่า “เบรกตื้อ” คือ เวลาเหยียบเบรกแล้วเบรกไม่ค่อยอยู่ต้องออกแรงเหยียบมากๆ ซึ่งสาเหตุมีหลายสาเหตุ เช่น แรงดูดสุญญากาศของหม้อลมน้อย เนื่องจากปั้มดูดไดชาร์จเสียหรือผ้าในหม้อลมรั่ว วาล์ว PVC หรือ Combo Vale เสีย หรือสายลมรั่ว
5.เบรกลึก สาเหตุเกิดจากลูกยางแม่ปั้มเบรกบนสึกหรอหรือบวม จึงทำให้แรงดันเบรกลดลง จนต้องออกแรงเบรกมากขึ้น บางครั้งต้องเหยียบเบรกซ้ำ ๆ กัน หลาย ๆ ทีถึงจะใช้งานได้
น้ำมันเบรกเรื่องสำคัญที่ต้องหมั่นตรวจเช็ค
“น้ำมันเบรก” ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้กำหนดชื่อมาตรฐานไว้คือ “DOT” (Department of Transportation) โดยกำหนดจุดเดือดของน้ำมันเบรก “DOT” 3 ต้องมีจุดเดือดไม่ต่ำกว่า 205 องศาเซลเซียส “DOT” 4 ต้องมีจุดเดือดไม่ต่ำกว่า 230 องศาเซลเซียส และ“DOT” 5 ต้องมีจุดเดือดไม่ต่ำกว่า 260องศาเซลเซียส
คุณสมบัติของ “น้ำมันเบรก”ที่ดี
เป็นตัวกลางถ่ายทอดกำลังจากแป้นเบรก สู่ ระบบเบรกได้ดี มีความหนืดที่เหมาะสม ทุกช่วงอุณหภูมิ ทั้งร้อน-เย็น ไม่เป็นอันตรายต่อลูกยาง และชิ้นส่วนที่เป็นโลหะในระบบเบรก เป็นสารหล่อลื่นที่ดีเพื่อป้องกันการสึกหรอของชิ้นส่วนที่เสียดสีกัน ภายในระบบเบรก มีจุดเดือดสูงและไม่ระเหยได้ง่าย
ในการดูแลเรื่องน้ำมันเบรกแนะนำให้เปลี่ยนถ่าย “น้ำมันเบรก” ทุก 1 ปี เพื่อป้องกันการกัดกร่อนจากสนิม ที่เกิดจากความชื้นสะสมในกระบอกสูบเบรก รวมถึงไล่ความชื้นที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบรก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำมันเบรกเสื่อมได้
น้ำมันเบรกเสื่อมได้อย่างไร ในเมื่อยังใสอยู่
ถ้าคุณตรวจเช็คปริมาณน้ำมันเบรกที่อยู่ในตัววัดระดับแล้วเห็นว่ายังมีความใสอยู่ อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นนะเพราะรถบางคันใช้มานานน้ำมันเบรกยังใสอยู่เลย แต่รู้หรือไม่ว่าน้ำมันเบรกมีอายุการใช้งาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถครั้งนี้เราจะมาแนะนำเรื่องการเสื่อมของน้ำมันเบรกจะได้ดูแลกันอย่างถูกวิธี
ปัจจัยที่ทำให้ “น้ำมันเบรก”เสื่อมสภาพ มีดังนี้
ความร้อน อันเนื่องมาจากการเบรกกะทันหัน หรือเบรกบ่อยๆ ภายใต้ความเร็วสูง จะส่งผลให้ “น้ำมันเบรก” ซึมซับความร้อนเอาไว้ หากระบายสู่ส่วนอื่นไม่ทันจนถึงจุดเดือดสูงสุด “น้ำมันเบรก” ก็จะระเหยกลายเป็นไอในกระบอกสูบเบรก ซึ่งในช่วงนี้จะทำให้ไม่มีแรงดันที่จะไปกระทำต่อลูกสูบเบรก ให้ไปดันผ้าเบรก ส่งผลให้เกิดอาการเบรกหาย-เบรกลึก-เบรกไม่อยู่ หรือที่เรียกว่า “เบรกแตก” ดังนั้นจุดเดือดของ “น้ำมันเบรก” จึงมีความสำคัญมาก ต่อประสิทธิภาพระบบเบรก
ความชื้น “น้ำมันเบรก” น้ำมันเบรกเป็นสารที่ดูดซับความชื้นจากอากาศได้ดี แถมยังสามารถผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ และเมื่อความชื้นเข้ามาปะปนอยู่ใน “น้ำมันเบรก” ส่งผลให้มีจุดเดือดลดต่ำลง ยิ่งประเทศไทยจัดเป็นเขตที่มีความชื้นสูง จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้เปลี่ยนถ่าย “น้ำมันเบรก” ทุก 1 ปี เพื่อไล่ความชื้นที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบรก และยังเป็นการป้องกันการกัดกร่อนจากสนิม ที่เกิดจากความชื้นสะสมในกระบอกสูบเบรก ซึ่งเป็นต้นตอทำให้ลูกยางเบรกเป็นรอยและรั่วในที่สุด
ข้อแนะนำ
อย่าเติมน้ำมันเบรกคนละเกรดผสมกัน หากต้องการเปลี่ยนยี่ห้อ-เกรด ให้เปลี่ยนถ่ายของเก่าออกจากระบบให้หมดก่อน โดยทั่วไปผู้ผลิตรถยนต์จะกำหนดให้ใช้น้ำมันเบรก ”DOT” 3 หรือ ”DOT” 4 และ90% จะเติม ”DOT” 3มาจากโรงงาน แต่เมื่อเปลี่ยนถ่ายสามารถใช้ ”DOT” 4หรือ”DOT” 5 ซึ่งมีจุดเดือดสูงกว่าได้ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ในระบบเบรก ควรเปลี่ยนถ่าย “น้ำมันเบรก” ทุก ๆ 1 ปี
หม้อลมเบรกสิ่งที่เรามักลืม
หม้อลมเบรกมีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยผ่อนแรงในการเหยียบเบรกทำงานด้วยระบบสุญญากาศ เมื่อเครื่องยนต์ทำงานจะดูดเอาอากาศเพื่อใช้ในการจุดระเบิดผ่านท่อไอดีและท่อที่เชื่อมต่อไปยังหม้อมลมเบรกด้วย ส่งผลทำให้ภายในหม้อลมมีสภาวะเป็นสูญญากาศ ซึ่งเป็นตัวช่วยผ่อนแรงในการเหยียบเบรกของเราให้นุ่มนวล และถ้าหม้อลมเบรกเกิดการชำรุดความนุ่มนวลของเบรกจะหายไปจะเกิดความกระด้างมากขึ้น ส่งผลให้ระบบเบรกทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ
การตรวจเช็คหม้อลมเบรก
เหยียบเบรกให้สุดแล้วปล่อย 5-6 ครั้ง แป้นเบรกจะแข็งดันเท้าขึ้นมา จากนั้นให้เหยียบเบรกค้างเอาไว้แล้วสตาร์เครื่องยนต์ถ้าแป้นเบรกต่ำลงตามแรงเยียบเบรกที่ค้างไว้ แสดงว่าหม้อลมเบรกยังเป็นปกติ แต่ถ้าแป้นเบรกไม่ต่ำลงหรือสูงขึ้น แสดงว่าผิดปกติ ควรรีบนำเข้าแก้ไขโดยด่วน
การดูแลรักษาระบบเบรก
เริ่มต้น คือ ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องปีละครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบเบรกเกิดสนิม ควรใช้ให้ตรงกับมารตราฐานที่ผู้ผลิตกำหนด เช่น DOT3 จะไม่สามารถนำน้ำมันเบรก DOT อื่นมาผสมได้ หรือนำน้ำมันอื่นมาเติมแทน เพราะจะทำให้ลูกยางเบรกเกิดอาการบวมได้ เช็คระยะห่างผ้าเบรกในระบบดรั้มเบรก ระยะห่างระหว่างผ้าและจานเบรกที่มากขึ้น จะสังเกตได้จากการเหยียบเบรกจะต่ำลงและการดึงเบรกมือที่สูงขึ้น ตรวจสอบระดับน้ำมันเบรกถ้าต่ำลงถอดจานเบรกออกมาทำความสะอาดและปัดฝุ่น จากนั้นจึงจัดตั้งให้ระยะผ้าเบรกให้ชิดขึ้น การล้างและเปลี่ยนชุดซ่อมเบรกควรได้รับการเปลี่ยนชุดซ่อมอย่างน้อย 2-4 ปีต่อครั้ง เช่น ลูกยางแม่ปั้มเบรก ลูกยางลูกสูบเบรก และยางกันฝุ่น ส่วนรถที่ถูกนำไปลุยน้ำมาต้องรีบตรวจสอบทันที เพราะน้ำที่หลุดรอดเข้าไปในกระบอกเบรกและแม่ปั้มเบรก จะทำลายลูกสูบเบรกทำให้เกิดสนิม เป็นตามด และทำให้เกิดอาการเบรกติด หรือน้ำมันเบรกรั่วซึม
ข้อแนะนำคือไม่ควรทำเองถ้าเราไม่ใช่ช่าง เรื่องเบรกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนควรให้ผู้ชำนาญไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการ หรือ ร้านซ่อมเฉพาะทาง เป็นคนดูแลจะดีกว่า
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th