เปลี่ยนรถตู้โดยสารให้เป็นรถมินิบัสแบบนี้ดีมั้ย?
คิดอยู่แล้วว่าจะต้องมีประเด็นดราม่าเรื่อง รถตู้โดยสาร เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อวานนี้ 1 ตุลาคม 2561 กลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประกาศขู่หยุดวิ่งรถ! เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกไม่อนุมัติขยายอายุใช้งานของรถตู้โดยสารที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 10 ปี ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยของกรมการขนส่งทางบก ส่งผลให้วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป จะมีรถตู้โดยสารต้องหยุดให้บริการถึง 1,800 คัน หากยังฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ซึ่งรถตู้ที่ประท้วงหยุดวิ่งรถ เป็นรถตู้โดยสารหมวด1 ที่จะส่งผลกระทบมากที่สุดจำนวน 819 คัน รวม 17 เส้นทางคือ อนุสาวรีย์ชัยฯ-มีนบุรี, อนุสาวรีย์ชัยฯ-บางพลี, อนุสาวรีย์ชัยฯ-พระราม 2, อนุสาวรีย์ชัยฯ-ปากเกร็ด, อนุสาวรีย์ชัยฯ-บางบัวทอง และอนุสาวรีย์ชัยฯ- รังสิต และอีกเส้นทางคือ คิวรถตู้มีนบุรี จะมีรถหยุดวิ่ง 500 คัน แน่นอนว่าข่าวนี้สร้างความกังวลให้กับผู้โดยสารเป็นอย่างมาก..เอาเป็นว่าประเด็นเรื่องของการบริหารจัดการยกให้เป็นภารกิจของกรมการขนส่งทางบก แต่สำหรับผู้โดยสารอย่างเราๆ ท่านๆ จะหาทางออกอย่างไร แล้วจะมีทางเลือกแบบไหนให้บ้าง Grandprix Online มีตัวอย่างรถมินิบัสที่ผู้ประกอบการได้วางแผนผลิตขึ้นมาเพื่อนำมาทดแทนรถตู้โดยสารสาธารณะเอาไว้แล้ว และถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการอีกด้วย
รถที่พูดถึงนี้คือ รถจากค่ายรถฝีมือคนไทยอย่าง “ไทยรุ่ง” นั่นเอง นอกจากจะผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ “ทรานฟอเมอร์” สไตล์รถตรวจการณ์ที่หลายคนชื่นชอบ ยังได้ผลิตและออกแบบรถมินิบัส เพื่อนำเสนอไปยังผู้ประกอบการเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนจากรถตู้โดยสารมาใช้รถมินิบัสแทน
โดย Thairung Minibus เป็นรถมินิบัสแทนรถตู้ ใช้แชสซีและเครื่องยนต์ ISUZU Super Common Rail Direct Injection Turbo Intercooler รุ่น 4HK1-TCN ขนาด 5.2 ลิตร (5,193 ซีซี) แรงม้าสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 2,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 404 นิวตันเมตร ที่ 1,500-2,600 รอบต่อนาที เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ชุดเพลาหน้าแบบรีเวอร์ส เอลเลียต ไอ-บีม, ชุดเพลาหลังแบบแบนโจ เพลาลอย เฟืองไฮปอยด์ ระบบกันสะเทือน แบบแหนบแผ่นรูปโค้งวงรี มีโช้คอัพทรงกระบอกทำงาน 2 จังหวะ ระบบเบรก ไฮดรอลิกพร้อมหม้อลมช่วยแบบสูญญากาศ พร้อม ABS ใช้ระบบปรับอากาศของ Denso พร้อมประตูฉุกเฉินและถังดับเพลิงขนาด 2 กิโลกรัม จำนวน 1 ถัง ติดตั้งด้านหลังเบาะคนขับ ผลิตในประเทศไทย ตัวถังมีขนาดยาว 7 เมตร 20+1 ที่นั่ง จัดวางแบบ 2+2 จดทะเบียนตาม พรบ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 : ม.2 ค, ม 2 จ., 30, 10 ราคา 1,990,000 บาท
จากที่ได้สำรวจและตรวจสอบรถมินิบัสของไทยรุ่งรุ่นนี้แล้วต้องยอมรับว่า ให้ความสะดวก นั่งสบาย มีความปลอดภัย และเหมาะกับการนำมาทำเป็นรถโดยสารสาธารณะเป็นอย่างมาก แม้ว่าราคาจะสูงกว่ารถตู้อยู่ราว 2-4 แสนบาท แต่หากเทียบกับการใช้งาน ความคุ้มค่าและความปลอดภัยของผู้โดยสารแล้วถือว่าน่าสนใจมากทีเดียว และหากผู้ประกอบการให้ความสนใจ นี่จะทำให้คุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชนดีขึ้นกว่าเดิมอีกเยอะ ต้องรอดูกันว่าเจ้ามินิบัสของไทยรุ่งคันนี้จะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับประชาชนที่ต้องโดยสารรถตู้เป็นประจำเชื่อว่าคงถูกใจมากกว่าอย่างแน่นอน และที่สำคัญไปมากกว่านั้น เหล่าผู้ประกอบการที่วางแผนเรื่องนี้เอาไว้ล่วงหน้า มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบรถโดยสารกันมาก่อนแล้ว ต่างจากกลุ่มที่ออกมาประท้วงกันให้เดือดร้อน งานนี้ต้องรอดูกันว่าข้อบังคับของภาครัฐจะยังศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่!
เรื่อง/ภาพ: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th