เมื่อเจอรถฉุกเฉินต้องทำอย่างไร?
กลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้สภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงเมษาหน้าร้อนจริงๆ เมื่อมีข่าวและคลิปภาพของรถที่ขับขวางรถฉุกเฉิน ถึงขนาดส่งผลให้ผู้ป่วยวิกฤตที่อยู่ในรถต้องเสียชีวิตเพราะนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน! เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นและเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนขับรถทุกคนต้องรู้! วันนี้ขอมาเน้นย้ำกันอีกครั้งว่า เมื่อเจอรถฉุกเฉิน..เราในฐานะของผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
- ต้องหลีกทางให้รถฉุกเฉิน แม้ว่าจะอยู่ในสภาพการจราจรที่แออัดเพียงใด หากเห็นสัญญาณไฟฉุกเฉินอยู่ด้านหลัง เพียงแค่ขยับรถออกไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะมีพื้นที่เหลือพอให้รถฉุกเฉินขับผ่านไปแล้ว ยกตัวอย่าง ขับรถอยู่เลนขวาสุด สามารถขยับชิดขวาด้วยการหันหน้ารถไปทางขวาเป็นแนวทะแยง ส่วนรถที่อยู่เลนกลางก็สามารถขยับเป็นแนวทะแยงไปทางซ้ายได้ เนื่องจากจะมีพื้นที่เหลือบริเวณหน้ารถเสมอจึงทำให้สามารถขยับได้อีก (ยกเว้นจะขับชิดกันแบบกันชนชิดกันชนเท่านั้น)
- หากรถกำลังเคลื่อนที่อยู่ ให้ผู้ขับเปิดให้สัญญาณไฟเลี้ยวว่าจะหลบไปในทิศทางไหน เพื่อให้ผู้ขับรถฉุกเฉินทราบว่ารถคันหน้าจะหลบให้ทางในฝั่งไหน
- เมื่อรถฉุกเฉินแซงหน้าไปแล้ว ห้าม!! ขับรถตามรถฉุกเฉินเด็ดขาด และควรเว้นระยะห่างไว้ประมาณ 50 เมตร หรือ 3 ช่วงคันรถ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
- พึงนึกถึงเสมอว่าในรถฉุกเฉินมีผู้ป่วยวิกฤติ แม้ว่าจะเป็นรถฉุกเฉินที่เป็นของภาครัฐ อาสาสมัครกู้ภัย ฯลฯ เป็นหน้าที่ของผู้ใช้รถต้องหลีกทางให้เสมอ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อแม้ใดๆ การขัดขวางรถฉุกเฉินนอกจากมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยเช่นกัน
- ชะลอความเร็วเพื่อให้รถฉุกเฉินขับผ่าน แม้ว่ารถจะทำความเร็วอยู่ เมื่อเห็นรถฉุกเฉินขับตามมาให้ชะลอความเร็วและหลีกทางให้ วิธีนี้จะช่วยให้รถฉุกเฉินขับผ่านไปได้เร็วขึ้นและปลอดภัยที่สุด
ภาพจากเฟสบุ๊ค สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669
นี่เป็นวิธีที่ง่ายมากเมื่อเจอกับรถฉุกเฉิน แนะนำให้ปฏิบัติตาม และไม่ควรมีข้อแม้ใดๆ ที่จะขับขวางรถฉุกเฉิน เพราะทุกชีวิตมีความสำคัญ อย่าทำตัวเป็นอุปสรรค..ถ้ายังมีจิตสำนึก จะได้ไม่ต้องมานั่งขอโทษขอโพยกันในภายหลัง หากแจ็คพ๊อตขึ้นมาเหมือนกับคลิปที่แชร์กัน สังคมจะตัดสินคุณโดยไม่มีข้อแม้ด้วยเช่นกัน!
ทิ้งท้ายเอาไว้อีกสักนิด…อาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมรถฉุกเฉินถึงไม่แซงรถที่ขวางทางไปเอง คำตอบคือ ด้วยน้ำหนักของอุปกรณ์ภายในรถ รวมกับความปลอดภัยของผู้ป่วยที่บางครั้งอาจมีการช่วยชีวิตภายในรถ เช่น ในระหว่างรถกำลังเคลื่อนที่แพทย์ทำการช่วยปั้มหัวใจ หรือกำลังสอดอุปกรณ์ช่วยหายใจ การเร่งแซงของรถฉุกเฉินทำให้เกิดแรงเหวี่ยงเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ อย่างถ้ากำลังพยายามสอดท่อช่วยหายใจ ท่ออาจจะไปแทงหลอดลมได้ เพราะต้องใช้ความแม่นยำในการสอดท่อ (คิดดูว่าแค่ยืนบนรถเมล์แล้วรถแซงซ้ายแซงขวา ยืนโหนยังยืนได้ยากเลย) รถฉุกเฉินจึงต้องพยายามขับแบบเส้นตรงและให้มีการกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุด..เอาเป็นว่าในฐานะของผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ไม่ต้องเป็นมนุษย์สงสัย! มีหน้าที่เดียวที่ต้องทำคือ หลบหรือหลีกทางให้รถฉุกเฉินเท่านั้น! เพราะไม่รู้ว่าวันหนึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในรถฉุกเฉินอาจจะเป็นคนในครอบครัวก็ได้..ใครจะรู้
เรื่อง: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th