เมื่อเครื่องยนต์ดีเซลถึงทางตัน? โตโยต้าเทขายหุ้นอีซูซุ-ปิดฉากความร่วมมือ 12 ปี
การกำหนดค่าไอเสียของรถยนต์ที่เข้มงวดในหลายประเทศ ทำให้ทั่วโลกเกิดกระแสทอดทิ้ง เครื่องยนต์ดีเซล กลายเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ Toyota ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจยุติพันธมิตร 12 ปีกับ Isuzu บริษัทร่วมชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อปรับกลยุทธ์ใหม่ให้สอดคล้องกับอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว 2บริษัทรถยนต์ชั้นนำแดนซามูไรออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อประกาศยุติความร่วมมือที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2006 พร้อมกับที่ Toyota มีแผนจะขายหุ้นทั้งหมดของ Isuzu ที่พวกเขาครอบครองอยู่ 50 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 5.89 เปอร์เซ็นต์ในอนาคตอันใกล้
อ่านข่าว: โตโยต้า ประกาศส่งรถยนต์ไฟฟ้า 10 รุ่นใหม่ออกขายปี 2020
“การร่วมมือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ อีกต่อไป” Koichi Seto กรรมการบริหารอาวุโสของ Isuzu ให้ความเห็นสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา “ในระยะหลังไม่มีผลงานที่โดดเด่นเกิดขึ้นระหว่าง 2 บริษัท”
จุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่าง Toyota-Isuzu เมื่อ 12 ปีก่อน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล 1.6 ลิตร สำหรับใช้งานในรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ขายในทวีปยุโรป โดย Toyota คาดหวังว่าจุดแข็งด้านเทคโนโลยีดีเซลของ Isuzu จะช่วยให้พวกเขาเติบโตมากขึ้นในตลาดนี้ แต่เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมรถยนต์โลกทำให้ Toyota เลือกจะก้าวสู่ทศวรรษหน้าด้วยการมุ่งมั่นกับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า-ไฮบริด ทำให้พันธมิตรครั้งนี้ต้องปิดฉากลงในที่สุด
“เราจะทำการประเมินกลยุทธ์ในการครอบครองหุ้นทั้งหมดอีกครั้ง” ผู้บริหารระดับสูงจาก Toyota ที่ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับ Asia.nikkei.com โดยคาดว่าหลังจากนี้จะมีการทบทวนการดำเนินงาน และงบประมาณที่รวมถึงการลงทุนในบริษัทอื่นเช่นกัน
ถึงจะไม่มีการยืนยันแต่เชื่อว่ากฎการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดในตลาดสำคัญทั้งสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และจีน ที่เป็นเหมือนการกีดกันเครื่องยนต์ดีเซลทางอ้อมคือเหตุผลสำคัญในการตัดสินของ Toyota แม้ว่าผู้บริหาร Isuzu จะปฏิเสธ แต่ต้องไม่ลืมว่าหลังจากปีนี้ไปแล้ว Toyota จะไม่มีเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ในรถยนต์นั่งที่ขายในทวีปยุโรปอีกต่อไป
ในขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ทั้งรถบรรทุก และรถบัสโดยสาร Hino บริษัทในเครือ Toyota มีการพัฒนาระบบขับเคลื่อนไฮบริด รวมทั้งตกลงร่วมมือกับแผนกรถเพื่อการพาณิชย์ของ Volkswagen ยักษ์ใหญ่ของฝั่งเยอรมันพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล และระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
Toyota คาดหวังว่าตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะช่วยกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีของยุคต่อไป จากการเดินทางที่มีการกำหนดจุดหมายล่วงหน้าชัดเจน ทำให้ง่ายต่อการทดสอบระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และระบบขับขี่อัตโนมัติ ทำให้การเป็นพันมิตรระหว่าง Hino-Volkswagen จะกลายเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตในอนาคตของทั้ง 2 บริษัท
อ่านข่าว: โตโยต้า-ซูซูกิ จับมือผลิตรถไฟฟ้าขายอินเดีย ปี 2020
ทางด้าน Isuzu คาดว่าจะมองหาพันธมิตรใหม่เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนาคต หลังจากพวกเขาเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่หนึ่งเดียวของญี่ปุ่นที่ไม่มีการสนับสนุนจากยุโรปตรงกันข้ามกับ Mitsubishi Fuso ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Daimler หรือ UD Trucks ที่อยู่ภายใต้เครือ Volvo
แต่เชื่อว่ามีหลายบริษัทต้องการจับมือกับ Isuzu โดยแหล่งข่าววงในอุตสาหกรรมรถยนต์เชื่อว่าด้วยความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีรถบรรทุกขนาดเล็ก และยอดขายที่แข็งแกร่งของแบรนด์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปิดฉากพันธมิตรกับ Toyota อาจกลายเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นจะยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจให้ Isuzu พิจารณา
อุปสรรคสำคัญของ Isuzu คืองบประมาณที่จำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย แม้ว่าตอนนี้พวกเขาจะเข้าร่วมโครงการพัฒนารถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติที่มีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ต้องรีบมองหาพันธมิตรใหม่เข้ามาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวทันคู่แข่ง “เราเปิดกว้างที่จะมองหาพันธมิตรนอกอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งรวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ” Masanori Katayama ประธาน Isuzu ให้สัมภาษณ์แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความมุ่งมั่นพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเครื่องยนต์ไฟฟ้า
ความเห็นของ Katayama ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้พอใจแค่ความสำเร็จตรงหน้า ในตอนนี้ Isuzu ยังมีผลการดำเนินธุรกิจที่น่าพอใจ โดยผลประกอบการระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2018 มีตัวเลขกำไรสุทธิสูงถึง 38.1 พันล้านเยน (ราว 10.9 หมื่นล้านบาท) แต่เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดในทศวรรษนี้ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ระดับกลางอย่าง Isuzu ต้องรีบหาพันธมิตรใหม่เข้ามาสนับสนุนเหมือนที่พวกเขาเคยมีสายสัมพันธ์ที่ยาวนาน 35 ปีกับ General Motors ผู้ผลิตรถยนต์ระดับหัวแถวของสหรัฐฯ และ Toyota ที่เพิ่งยุติลง หากไม่อยากเดินตามรอยแบรนด์รถยนต์ชื่อดังมากมายที่ต้องกลายเป็นอดีตจากการที่ไม่ยอมปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: Asia.nikkei.com/ newsroom.toyota.co.jp
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th