เริ่มต้นเรื่องอากาศพลศาสตร์กับมอเตอร์ไซค์กันสักเล็กน้อย
อากาศพลศาสตร์ เข้าใจง่ายก็คือเรื่องของการดึงเอาแรงจากการไหลของอากาศ ในยามที่รถหรือมอเตอร์ไซค์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วมาใช้ช่วย เพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ สร้างเสถียรภาพความมั่นคงในการยึดเกาะถนน ให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มกำลังเครื่องยนต์
อันนี้คือคำอธิบายที่คิดว่า หลายคนคงจะเข้าใจได้ในเบื้องต้น ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะแต่เราเข้าใจหลักการมันไว้ประมาณนี้ก่อน ซึ่งในส่วนของมอเตอร์ไซค์บางคนว่ามันไกลตัว ถ้าเป็นประเภทรถที่ใช้งานทั่วไป มันก็ค่อนข้างจะใช่ว่าไกลตัว เพราะการที่จะเห็นผลและได้รับประโยชน์จากเรื่องการไหลของอากาศ ต้องมีองค์ประกอบหลายส่วน ถ้ารถขี่ไปมาทั่วไปองค์ประกอบอาจจะไม่ทำให้เห็นประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ซะทีเดียว อย่างรถแต่งแรงจากพื้นฐานรถครอบครัว เมื่อขับขี่ด้วยความเร็วสูง ผู้ขับขี่จะต้องหมอบตัวลงเพื่อไม่ให้ต้านลม และทำให้รถไปได้เร็วขึ้น นั่นเป็นพื้นฐานหนึ่งของ อากาศพลศาสตร์
แต่ในยุคปัจจุบันรถที่มีความเร็วสูง มีกำลังมากอย่างบิ๊กไบค์ ซุปเปอร์ไบค์ เป็นที่แพร่หลาย แม้แตรถระดับกลางหรือสปอร์ตครอบครัวต้องมีเรื่องนี้อยู่บนตัวรถทั้งสิ้น การติดตั้งไว้ของชุดแฟริ่ง หน้ากากหน้า การ์ดกันลมต่างๆ มีส่วนในเรื่องของการควบคุมการไหลของอากาศ แต่ในขณะที่การใช้งานทั่วไปน้ำหนักของอุปกรณ์เหล่านี้คือสิ่งที่เพิ่มภาระให้กับมอเตอร์ไซค์คันนั้น
การที่เราจะเห็นการถอดหรือดัดแปลงพวกชิ้นส่วนของมอเตอร์ไซค์รถตลาดทั่วไป ถือว่ามีผลน้อยต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นรถที่ใช้หรือทำความเร็วได้สูง พวกสปอร์ตทั้งหลายจะมีลักษณะของฟูลแฟริ่งแทบทั้งสิ้น บางคนสงสัยแล้วอย่างพวกสปอร์ตเนกเกตรุ่นใหม่ก็ทำความเร็วได้ไม่น้อยหน้าพวกสปอร์ตทั้งหลาย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิด
แต่รถในสไตล์เนกเกตเมื่อเข้าสู่โหมดความเร็วสูง การควบคุมนั้นผู้ขับขี่จะรู้ได้เลยถึงการที่ต้องใช้ทักษะสูงขึ้น มีโอกาสที่รถจะเสียอาการได้หากเจอกระแสลมที่ผันผวน เพราะไม่มีชุดแฟริ่งช่วยแหวกอากาศ อีกทั้งหากชุดแฟริ่งนั้นออกแบบมาได้อย่างสมบูรณ์ทำงานได้ในย่านความเร็วที่สูงมากพอ การไหลของอากาศจะช่วยให้รถเคลื่อนที่ผ่านอากาศได้รวดเร็วขึ้น ความเร็วเพิ่มขึ้น ในขณะที่เครื่องยนต์อาจจะทำงานเท่าเดิมหรือน้อยลง อีกทั้งแรงกดที่ถูกจุดหากออกแบบให้เกิดขึ้น จะช่วยกดตัวรถให้นิ่ง ยึดเกาะถนนได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นด้วย
ระดับความเร็วกับปัจจัยของการออกแบบชิ้นส่วน จะต้องสัมพันธ์กัน ถ้าขับขี่ในย่านความเร็วไม่สูง ชุดแฟริ่งและอากาศพลศาสตร์ก็จะยังไม่แสดงประสิทธิภาพ บางครั้งมันอาจจะเป็นภาระเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวรถเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อความเร็วมันได้ เรียกว่าเกินกว่า 100 กม./ชม. ขึ้นไป ทุกอย่างมันจะเกิดโดยอัตโนมัติ
ประโยชน์ของกาศพลศาสตร์มีมากมาย แม้แต่ทีมแข่งระดับโลกยังให้ความสำคัญ แต่กับรถใช้งานก็เพียงเข้าใจว่าบางครั้งการใช้งานต้องเข้าใจข้อจำกัดหรือข้อได้เปรียบของรถแต่ละประเภทก็จะเลือกใช้งานได้เหมาะสมขึ้นนั่นเอง
เรื่อง โดย: ศิปิวรรธ ปานกลาง
เครดิต: ภาพ: MCN / mdx2.plm.automation.siemens.com / autoevolution.com /MotorcycleValley.com /mdx2.plm.automation.siemens.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th