เรียนรู้และอยู่ให้เป็นกับ “ฝุ่นละออง PM2.5”
ตอนนี้ที่กรุงเทพมหานคร…เวลาขับรถในช่วงเช้ามืดจะเห็นบรรยากาศที่แสนโรแมนติก แสงไฟริมทางสีเหลืองนวล หมอกจางๆ ที่ลอยนิ่ง เห็นแล้วเหมือนอยู่ในความฝัน ไม่ก็อยู่บนถนนในเส้นทางสู่ยอดเขาสูง…แต่ที่ไหนได้ หมอกจางๆ และควันที่เห็น เปรียบเสมือนยมฑูตที่จ้องจะคร่าวิญญาณ!! นี่คือกรุงเทพในวันนี้
ฝุ่นละอองที่ลอยฟุ้งอยู่ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ดูสวย..แต่นี่คือมลพิษ!
ช่วงนี้ผู้คนจะตื่นตัวกันมากขึ้นกับข่าวรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 กันอยู่ทุกวันในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพราะด้วยค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานนี้ มีผลกระทบต่อสุขภาพของเราๆ ท่านๆ แบบคาดไม่ถึง ถ้าจะพูดว่าโรคภัยกำลังมายืนรออยู่ที่หน้าประตูบ้านก็ไม่ผิดอะไร แต่ก่อนที่จะตื่นตระหนกตกใจไปมากกว่านี้ มองในอีกด้านหนึ่ง มันเป็นสถานการณ์ที่จะช่วยสอนให้มนุษย์เห็นความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในมุมของสังคม ยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และแก้ไขกับปัญหาอย่างถูกต้อง
ในเวลานี้เพลงที่น่าจะเปิดฟังตอนขับรถมีอยู่ 2 เพลง “หมอกจางๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้ ก็อยากจะถามดู..ว่าเธอเป็นดั่งหมอกรึควัน” (หน้าของพี่เบิร์ดในวัย 60 แต่หน้าตายังกะวัยรุ่น 25 ลอยขึ้นมาทันที) หรือไม่ก็ฟังเสียงทรงพลังของ กมลา สุโกศล กับเพลงนี้ “อยู่เพื่อเรียนรู้ อยู่เพื่อยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด” อยากให้ฟังแล้วคิด ตรึกตรองให้ดีว่า “ปัญหาเกิดขึ้นเพราะสาเหตุอะไร” แล้วเราจะอยู่กับมันได้ รวมทั้งแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ด้วยสติปัญญา
ปัญหาของ ฝุ่นละออง PM2.5 ดูเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองหลวงหลายแห่ง แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่คนเมืองหลวงอย่างกรุงเทพจะได้พบกับมันแบบใกล้ชิด! ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ ฝุ่นละออง PM2.5 กันก่อน
ฝุ่นละออง PM2.5 จะเรียกว่าฝุ่นละอองดูจะใหญ่ไป ต้องบอกว่ามันเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยที่น้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือ ไมครอน เป็นหน่วยวัดความยาวที่มีค่าเท่ากับ 1 ใน 1,000,000 เมตร เขียนแบบนี้คงจะงง..เอาเป็นว่าหากเทียบกับขนาดเส้นผมของสาวสวยผมยาว ขาวหมวย สวยอึ๋มคนหนึ่ง เส้นผมจะมีขนาดความกว้างประมาณ 100 ไมครอน และเม็ดเลือดแดงมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 ไมโครอน ถามว่าสายตามนุษย์สามารถมองเห็นเม็ดเลือดแดงได้หรือไม่ (แต่เห็นแน่ถ้ามองผ่านกล้องจุลทรรศน์) ทีนี้เจ้าอนุภาคขนาด 2.5 ไมครอน มันจะเล็กขนาดไหนเอาเป็นว่า มันเล็กกว่าปลายเหล็กในของผึ้ง มองด้วยตาไม่เห็น สามารถลาลาลอยอยู่ในอากาศและพริ้วปลิวผ่านขนจมูกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ สู่ปอดไปยังกระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย เหมือนม้าโทรจันบุกเข้าเมืองทรอยได้แบบเนียนๆ เลยทีเดียว ฟังดูแล้วน่ากลัวจริงๆ ซึ่งจะทำให้เราเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ กลายเป็นโรคเรื้อรัง หรืออาจจะกลายเป็นมะเร็งได้อีกด้วย (ถ้าไม่อยากให้ฟังดูน่ากลัว เรียกเจ้า PM2.5 ว่าเจ้าตัวเล็กก็ได้จะได้ฟังดูน่ารักดี)
โดยเจ้าตัวเล็กนี่ล่ะ เวลาที่ลาลาลอย ล่องลอยอยู่ในอากาศ จะไปแขวนลอยอยู่กับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ แล้วยังใจดีนำพาสารต่างๆ ไปด้วยกัน หากรวมตัวกันได้ในปริมาณที่มาก ก็จะมองดูเหมือนหมอกและควันจางๆ นั่นเอง แต่เป็นหมอกพิษที่จ้องทำลายสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO พยายามรณรงค์ให้ความรู้และเตือนภัยมาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้เจ้าตัวเล็กมันมาถึงกรุงเทพและปริมณฑลแล้วซะด้วย..อธิบายมายาว น่าจะพอเข้าใจกันแล้วนะครับ
หมอกขาวๆ อย่างนี้ เป็นหมอกธรรมชาติไม่มีอันตราย มีแต่อากาศบริสุทธิ์
ทีนี้มันส่งผลกระทบอะไรกับสุขภาพของเราบ้าง ในฐานะที่ Grandprix Online เป็นสื่อที่ทำงานด้านยานยนต์และมีความรู้จักกับค่าไอเสียจากการเผาไหม้ผ่านเครื่องยนต์มาเป็นอย่างดี พูดเลยว่าแค่เราสูดดมไอเสียเพียงแค่เสี้ยววินาทียังมีอาการคลื่นเหียนอาเจียนมึนงงกันไปพักใหญ่ นั่นเป็นเพราะว่า เมื่อเจ้าตัวเล็กถูกสูดผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะวิ่งถลาลึกไปถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด! ทำให้หลอดลมฝอยและถุงลมถูกเจ้าตัวเล็กทะลุทะลวงไปถึงเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายแบบซึมซับไปทั่วร่างกาย เกิดเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคภูมิแพ้ (กรุงเทพ), โรคหืด, โรคถุงลมโป่งพอง (แบบที่ไม่ต้องสูบบุหรี่) ส่วนใครที่เป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้วจะยิ่งอันตราย เพราะอาจถูกกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบได้ แล้วยิ่งปล่อยให้เจ้าตัวเล็กวิ่งเล่นอยู่ในใจเรานานเกินไป จะทำให้ปอดทำงานผิดปกติกลายเป็นมะเร็งปอดได้อีกต่างหาก…พิษภัยร้ายแรงแบบดื้อเงียบแบบนี้น่าตีจริงๆ
ส่วนแบบนี้ดูหม่นๆ หมองๆ อันตรายใกล้ตัวจริงๆ
แล้วเจ้าตัวเล็ก PM2.5 มาจากไหน..มาจากฝุ่นในการก่อสร้างหรือเปล่า คำตอบคือ เกิดจากแหล่งกำเนิดทางตรง เช่น การเผาไหม้ในพื้นที่โล่ง อย่างการเผาป่า เผาหญ้า เผาไม้ เผาไล่ที และอีกสารพัดเผา และเกิดจากยานพาหนะ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ที่เป็นแหล่งกำเนิดของซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนที่มีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวล รวมทั้งที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการผลิตไฟฟ้า ผ่านพวกสารเคมีต่างๆ แต่ที่มีปริมาณเยอะที่สุดจะอยู่ในกลุ่มเผาในที่โล่งและมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนี่ล่ะ และจะสังเกตว่าเมื่อสภาพอากาศหนาวเย็น มีความชื้นในบรรยากาศมากกว่าปกติ เจ้าตัวเล็กจะรวมทีม Baby PM2.5 Avenger กลายเป็นฝุ่นละอองสะสมที่แพร่กระจายไปในอากาศมากขึ้นนั่นเอง ส่วนฝุ่นจากการก่อสร้างจะอยู่ที่ PM10
แล้วเราจะป้องกันตัวเองและจะใช้ชีวิตยังไง?
เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ มีอธรรมย่อมมีธรรมะ…มีฝุ่นในอากาศก็ต้องใส่หน้ากากกันฝุ่น ในเมื่อเจ้าตัวเล็ก PM2.5 มีขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หน้ากากอนามัยทั่วไปกรองเจ้าตัวเล็กไมได้ เพราะป้องกันฝุ่นละอองขนาด 3 ไมครอน ได้ถึง 99% แต่ป้องกัน PM2.5 ไม่ได้เลย ฉะนั้น จึงต้องใช้หน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95 (และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับดาวอุลตร้าแมน M78) เพราะสามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 0.3 ไมครอนได้ 95% เท่ากับว่าป้องกันเจ้าตัวเล็ก PM2.5 มาวิ่งปั่นป่วนในหัวใจได้
หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 ได้
แต่แบบนี้ใช้ได้ทั้งการป้องกันสารเคมี กลิ่นแก็ส สี และฝุ่นควัน เหมาะกับงานอุตสาหกรรมหรือใครจะใส่แบบนี้ก็ตามสะดวก
ภายในกรองอากาศนอกจากจะมีแผ่นกรองแล้วยังบรรจุแท่งคาร์บอนเอาไว้อีกชั้น
ตอนนี้ถ้าจะหาซื้อหน้ากากมาใส่ป้องกันต้องเป็นแบบ N95 เท่านั้น และใส่เมื่อจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านหรือที่ทำงาน ไปยังสถานที่โล่งแจ้ง อาจจะดูแปลกตา แปลกประหลาดไปบ้าง แต่เพื่อสุขภาพของเรา ทำเถอะครับอย่าไปอาย ต่อไปอาจจะเป็นเทรนด์แฟชั่นแนวใหม่ก็ได้ กลายเป็น N95 Street Fashion อะไรอย่างนี้
ในวันที่ประเทศไทย กรุงเทพและปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ทั่วไทยเริ่มตื่นตัวกับค่าฝุ่นละออง PM2.5 องค์การอนามัยโลกขยับไปเฝ้าระวังเรื่องเล็กที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นคือฝุ่นระดับนาโนกันแล้ว (ENP:Environmental Nano-Pollutants) เพื่อหาวิธีรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจากมลพิษที่เกิดขึ้นทั่วโลก กำลังรวมตัวกันเกาะกลุ่มบนชั้นโอโซน และแน่นอนว่ามันกำลังมองหาวิธีเล่นงานมนุษย์อยู่นั่นเอง
หมอกควันจากฝุ่นละอองมีพิษเหล่านี้ คงไม่เหมาะแน่หากจะวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะหรือตามที่โล่งแจ้ง
ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องนึกถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง ถ้ายังอาศัยภาครัฐไม่ทันใจ สิ่งที่ทำได้คือ พยายามทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด (คงไม่ต้องอธิบายต่อว่าไม่ควรทำอะไรบ้าง) แต่สำหรับในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ได้นิ่งเฉย มีความพยายามในการพัฒนาเครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงให้กลายเป็นค่าไอเสียที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งพัฒนาทางเลือกใหม่ๆ อย่างรถพลังงานไฟฟ้า หรือ EV, รถ Plug-In Hybrid หรือแม้กระทั่งพลังงานจากไฮโดรเจน ซึ่งทั้งหมดเป็นความพยายามเพื่อสร้างพละกำลังในยานพาหนะเพื่อประโยชน์และความคุ้มค่าของพลังงานสูงสุด
สิ่งที่ประชาชนอย่างเราๆ ทำได้คือ ป้องกันตัวเองด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่นหน้ากากอนามัย แต่สำหรับในภาพรวมของสังคม ถึงเวลาแล้วผู้มีอำนาจบ้างเมืองจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะด้วยการหาวิธีลดปริมาณรถยนต์, การลดการแออัดของเมือง ด้วยการขยายธุรกิจต่างๆ ออกไปยังพื้นที่อื่นๆ, การกำหนดอายุการใช้งานของยานพาหนะ, การกำหนดเวลาของรถบรรทุกในการขนส่งเข้าสู่ตัวเมือง, ควบคุมการก่อสร้างรวมถึงยานพาหนะที่ใช้ และที่อยากให้เกิดขึ้นคือ ปลูกต้นไม้ในกรุงเทพและปริมณฑลให้มากขึ้น อยากให้ดูสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง แม้ว่าพื้นที่จะเล็กกว่ากรุงเทพมหานคร แต่เป็นประเทศเล็กๆ ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่ ขนาดอยู่กลางพื้นที่การค้าอย่างถนนออร์ชาร์ด ยังมีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบพื้นที่ อย่างน้อยธรรมชาติและต้นไม้ใบหญ้ายังช่วยลดมลพิษได้ระดับหนึ่ง
เรื่องนี้อาจจะเขียนยาวหน่อย แต่อร่อยถ้ารู้จักลิ้มลอง..เรียนรู้และอยู่ให้เป็นกับ PM2.5 แม้จะน่ากลัว แต่ไม่ต้องกลัวเช่นกัน
เรื่อง/ภาพ: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th