เส้นจราจรควรรู้..รู้แล้วต้องปฎิบัติตาม ถ้าไม่อยากเสี่ยงตาย!
จากคลิปที่แชร์กันในโซเชียลมีเดีย ที่มีรถเก๋งแซงรถบรรทุกในเส้นห้ามแซง และเป็นทางขึ้นเนิน ทำให้มองไม่เห็นรถคันที่แล่นสวนเลนมา จนเกิดอุบัติเหตุน่าเศร้าเกิดขึ้น เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น หากผู้ขับคำนึงถึงความปลอดภัยและเคารพใจกฎจราจร รวมถึงเข้าใจป้าย เครื่องหมายและเส้นจราจร ครั้งนี้ Grandprix Online จึงขอมาเน้นย้ำเป็นการทบทวนความเข้าใจในเรื่องของเส้นจราจรกันอีกครั้ง
- เส้นแบ่งทิศทางจราจรปกติ(เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 200 เซนติเมตร) ให้ขับรถในด้านซ้าย เลี้ยวขวาหรือแซงหน้ารถคันอื่นได้เมื่อปลอดภัย
2. เส้นแบ่งทิศทางจราจรเตือน(เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 300 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 100 เซนติเมตร) เป็นเครื่องหมาย ให้ทราบว่าจะถึงเขตทางข้าม แยก เขตห้ามแซง เว้นแต่จะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ หรือกลับรถ ขับข้ามเส้นได้แต่ต้องระวังเป็นพิเศษ
3. เส้นแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซง(เส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร) เมื่อเห็นเส้นทึบแบบนี้บนถนนที่เป็นเลนสวนกัน ห้ามแซงหรือขับรถผ่านคร่อมเส้นโดยเด็ดขาด
4. เส้นแบ่งทิศทางจราจร คู่(เส้นประคู่เส้นทึบ) (เป็นเส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ขนานไปกับเส้นประสีขาวขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 200 เซนติเมตร เส้นทั้งสองมีระยะห่างกัน 15 เซนติเมตร) เส้นแบบนี้รถที่อยู่ฝั่งเส้นประสามารถข้ามหรือแซงได้เมื่อปลอดภัย ส่วนฝั่งเส้นทึบห้ามแซงเด็ดขาด
5. เส้นแบ่งทิศทางจราจร คู่(เส้นทึบคู่เส้นประ) (เป็นเส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ขนานไปกับเส้นประสีขาวขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 200 เซนติเมตร เส้นทั้งสองมีระยะห่างกัน 15 เซนติเมตร) ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับภาพในข้อ
6. เส้นแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซงคู่ (เส้นทึบคู่) (เป็นเส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ขนานกันมีระยะห่างระหว่างเส้น 15 เซนติเมตร) ห้ามรถทั้งสองฝั่ง ขับรถคร่อมเส้นและห้ามแซงโดยเด็ดขาด
7. เส้นแบ่งช่องเดินรถปกติ(เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 300 เซนติเมตร ) ให้ขับรถในช่องเดินรถ ห้ามขับคร่อมเส้นหรือทับเส้น เว้นแต่จะเปลี่ยนช่องเดินรถหรือกลับรถสามารถทำได้เมื่อปลอดภัย
8. เครื่องหมาย “เส้นแบ่งช่องเดินรถเตือน” นี่คือ เส้นแบ่งช่องเดินรถประเภทเตือนเป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 300 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 100 เซนติเมตรแสดงให้ทราบว่าใกล้จะถึงเส้นแบ่งช่องเดินรถห้ามแซง ห้ามขับคร่อมเส้นช่องเดินรถ เว้นแต่จะเปลี่ยนช่องเดินรถ
9.เส้นแบ่งช่องเดินรถห้ามแซง(เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร) เห็นเส้นนี้ห้ามแซงโดยเด็ดขาด และห้ามขับรถคร่อมเส้น หรือกลับรถ
10.เส้นขอบทาง(เส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 60 เซนติเมตร) ให้ขับรถในช่องทางจราจรด้านขวาของเส้น
11. เส้นแบ่งเดินรถประจำทาง(เส้นทึบสีเหลืองขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร) รถประจำทางหรือรถบรรทุกคนโดยสารที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนด ให้ใช้ช่องทางเดินรถด้านซ้ายของเส้นนี้ รถประเภทอื่นห้ามขับผ่านเข้าไปในช่องนี้
12. เส้นแบ่งภายในช่องเดินรถประจำทาง ให้รถประจำทางหรือรถที่กำหนดวิ่งในช่องทางได้ทั้ง 2 ช่อง ทั้งซ้ายและขวาของเส้นนี้
13. เส้นแบ่งช่องเดินรถประจำทางสามารถข้ามผ่านได้(เส้นทึบสีเหลืองขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 30 เซนติเมตร) รถประจำทางหรือรถบรรทุกคนโดยสารที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนด ให้ใช่ช่องเดินรถทางด้านซ้าย ของเส้นนี้ รถประเภทอื่นให้ขับผ่านได้กรณีจะเข้าออกจากซอยหรือเลี้ยว
14. เส้นแนวหยุด(เส้นขวางถนน เป็นเส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร) ให้ผู้ขับรถหยุดรถก่อนถึงแนวเส้นขวางทุกครั้งเพื่อดูจังหวะรถว่างหรือรอให้คนข้าม ในทางข้ามข้างหน้าผ่านไปก่อนเมื่อปลอดภัยจึงขับรถผ่านไป
15. เส้นให้ทาง(เส้นขวางถนน เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 30 เซนติเมตร)เป็นเส้นประสีขาวข้ามถนนให้ผู้ขับขี่ขับรถให้ช้าลง แล้วดูให้รถอื่นที่ออกจากทางร่วม หรือคนเดินเท้าในทางข้ามที่ขวางหน้าผ่านไปก่อน เห็นปลอดภัยแล้วจึงขับรถผ่านไป
16. เส้นทแยงสำหรับทางแยก(เป็นเส้นทึบสีเหลืองขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ลากทแยงตัดกันทำมุม 45 องศา ห่างกัน 200 เซนติเมตร ภายในกรองเส้นทึบสีเหลือง ขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร )เป็นเส้นทึบสีเหลืองลากทแยงมุม ห้ามหยุดรถทุกชนิดภายในกรอบเส้นทแยงนี้
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th