เหลือไว้เพียงตำนาน “Volkswagen Beetle” รถยนต์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
สิ่งใดในโลกล้วนหนีไม่พ้นเกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมทั้งโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยเช่นเดียวกัน ตั้งแต่โลกเริ่มรู้จักรถยนต์คันแรกมาถึงปัจจุบันมีรถยนต์กำเนิดขึ้นนับร้อยนับพ้นรุ่น และในวันหนึ่งต้องยุติการผลิตลงแล้วมีรถรุ่นใหม่เข้ามาเป็นวัฎจักร แต่นั่นไม่ได้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและจิตใจได้เท่ากับ Volkswagen Beetle (โฟล์คสวาเก้น บีเทิล) ฉายา “รถเต่า” ที่ครองใจคนรักรถมาถึง 85 ปี
ย้อนตำนาน VW Beetle รถที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประชาชน
จุดเริ่มต้นของเจ้าเต่าน้อย เกิดขึ้นเมื่อปี 1934 ด้วยแนวคิดของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ผู้นำพรรคนาซี ที่มองว่ารถยนต์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาแพง แถมยังเป็นรถที่ส่วนใหญ่ผลิตในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสที่ถือว่าเป็นคู่อาฆาตกันมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจากสงครามครั้งนั้นเยอรมนีเป็นผู้แพ้ ทำให้ต้องเผชิญกับความลำบาก เศรษฐกิจตกต่ำ และถูกกดขี่โดยสนธิสัญญาต่างๆ ที่เขียนขึ้นมาเพื่อจำกัดการใช้ชีวิตของชาวเยอรมัน
[expander_maker id=”4″ more=”อ่านเพิ่มเติม” less=”Read less”]Read more hidden text
ฮิตเลอร์จึงมีแนวคิดที่ต้องการให้คนเยอรมันสร้างรถยนต์เพื่อคนเยอรมันเอง แม้ว่าในตอนนั้นจะมีแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์อยู่ก็ตาม แต่ด้วยราคาที่แพงและมีความหรูหราทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของได้ยาก เมื่อคณะกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งชาติเยอรมนี หรือ RDA-Reichsverband Der Deutsche Automobilindustrie (ปี 1933 ฮิตเลอร์ ขยับขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศและปีต่อมาได้ผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ขึ้น) รับงานตรงมาขนาดนี้…งานใหญ่จึงไปตกอยู่ที่คนดังอย่าง “เฟอร์ดินานด์ ปอร์เช่” (Ferdinand Porsche) วิศวกรผู้ที่ออกแบบรถให้กับเมอร์เซเดส-เบนซ์ และยังเป็นผู้ให้กำเนิดแบรนด์ “ปอร์เช่” อีกด้วย เพราะเฟอร์ดินานด์มีแนวคิดตรงกับฮิตเลอร์ต้องการที่จะให้ออกแบบรถที่ผู้ใหญ่สองคนจะต้องนั่งได้ ด้านหลังมีพื้นที่พอให้เด็กๆ ทำความเร็วได้อย่างน้อย 60 กม./ชม. ราคาต้องไม่สูงกว่า 1000 mark หรือแพงกว่ารถมอเตอร์ไซค์ได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น
โดยก่อนหน้านั้นในช่วงปี 1923 เฟอร์ดินานด์ ได้ทำงานในแวดวงรถยนต์ขนาดเล็กอยู่หลายแห่ง จึงนำประสบการณ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้กลายเป็นรถต้นแบบ “Porsche Type 32 NSU Prototype 1934” ใช้เครื่องยนต์สี่สูบนอน ขับเคลื่อนล้อหลัง ผสานกับช่วงล่างแบบทอร์ชั่นบาร์ สุดท้ายแล้วจึงมีการตั้งชื่อเป็นภาษาเยอรมนีว่า “Volkswagen” ที่แปลว่า “รถยนต์เพื่อประชาชน” นั่นเอง และต้องบันทึกไว้ว่าวันที่ 22 มิถุนายน 1934 เป็นวันที่ “เจ้าโฟล์คเต่า” กำเนิดขึ้น
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1936 รถโฟล์คเต่ารุ่นต้นแบบคันแรกเกิดขึ้น พร้อมเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ พละกำลัง 22 แรงม้า ช่วงล่างทอร์ชั่นบาร์ ระบบเบรกแบบดรัม และติดตั้งยางรองแท่นเครื่องเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือน ต่อมาในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 1936 รุ่นต้นแบบ V3 Concept ที่ผลิตออกมาเพียง 3 คัน ถูกทดสอบด้วยระยะทาง 50,000 กิโลเมตร ก่อนจะทดสอบต่อเนื่องภายใต้รหัสโครงการ VVW30 และมาลงตัวที่เครื่องยนต์แบบบ็อกเซอร์ 4 สูบนอน พร้อมระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ แต่แล้วกว่าที่จะได้ผลิตเพื่อจำหน่ายจริง ต้องรอไปถึงเดือนธันวาคม 1945 ซึ่งผลิตออกมาเพียง 55 คันเท่านั้น
ตลาดส่งออกสร้างปรากฎการณ์โฟล์คเต่าครองเมือง
จากนั้นในปี 1947 เริ่มมีการผลิตเพื่อส่งออก โดยมี PON BROTHERS เป็นผู้แทนจำหน่ายโฟล์คสวาเกนในเนเธอร์แลนด์ ได้นำเข้ารถโฟล์คเต่า 56 คัน มาขาย และปีถัดมาได้ขยายตลาดไปยังเบลเยี่ยม เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ม สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะพาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อเข้าสู่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 8 มกราคม 1949 มาถึงรุ่นหลังคาเปิดประทุนของโฟล์คเต่า โดยคาร์มานน์เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิต เริ่มขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 1949 เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ที่ชอบความโฉบเฉี่ยว ไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะในตลาดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา
ต่อมาเจ้ารถโฟล์คเต่าได้สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นและขายดียังกับแจกฟรี ทำให้ปี 1950 สามารถผลิตได้ครบ 100,000 คัน และเพิ่มจำนวนเป็น 250,000 คันในปีถัดมาเป็นช่วงเวลาที่รถโฟล์คเต่าสามารถครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งของเยอรมันตะวันตกได้มากถึง 42.5% มีการฉลองผลิตครบ 1 ล้านคันในปี 1955, ฉลองครบ 10 ล้านคันในปี 1967
ต่อมาในปี 1955 มีตัวเลขการผลิตครบ 1 ล้านคัน ในปี 1967 ฉลองการผลิตครบ 10 ล้านคัน กระทั่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1972 ถือเป็นความรุ่งเรืองของโฟล์คเต่าเมื่อมียอดการผลิตรวมถึง 15,007,034 คัน กลายเป็นรถที่มียอดผลิตสูงสุดในโลก
แต่แล้วทุกอย่างล้วนเป็นสัจธรรม เมื่อปี 1970 โฟล์คสวาเกนได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่นาม “Golf” ที่สร้างความน่าสนใจได้มากกว่า ด้วยรูปโฉมและความทันสมัย ทำให้สายการผลิตโฟล์คเต่าที่โรงงานโวล์ฟบวร์กต้องปิดลงในปี 1974 และที่เอมเดนในปี 1978 ได้ผลิตโฟล์คเต่าคันสุดท้ายเข้าไปจอดสงบนิ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เมืองโวล์ฟบวร์ก ด้านรุ่นเปิดประทุนคันสุดท้ายออกจากโรงงานคาร์มานน์ ในออสนาบรัก เมื่อ 10 มกราคม 1979 แต่โรงงานในเม็กซิโกยังคงผลิตมาตั้งแต่ปี 1965 มาถึง 15 พฤษภาคม 1981 ซึ่งมีการฉลองการผลิตครบ 20 ล้านคันที่โรงงานแห่งนี้ และวันที่ 31 กรกฎาคม 2003 เป็นวันสุดท้ายที่มีการผลิตโฟล์คเต่าในเม็กซิโก แต่ก่อนจากกันได้ผลิตรุ่นพิเศษออกมาให้นักสะสมได้เก็บไว้ในคอลเลคชั่นกับเวอร์ชั่น Ultima Edicion ตัวถังสีเบสและฟ้า จำกัด 3,000 คัน เท่านั้น จากนั้นปี 1997 ได้เผยโฉม New Beetle และมีโฉมล่าสุดในปี 2011 แต่ไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีตอีกต่อไป
ถึงอย่างนั้น สหรัฐอเมริกาคงเป็นตลาดที่สำคัญของรถโฟล์คเต่าตั้งแต่อดีตในรุ่น Type 1 ที่ขายในสหรัฐอเมริกาได้ถึง 5 ล้านคันจากยอดขายทั่วโลก 21.5 ล้านคัน และเมื่อ New Beetle เผยโฉมออกมาในปี 1997 การออกแบบสไตล์เรโทรที่ผสานความทันสมัยยังสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 1.2 ล้านคัน ในช่วงปี 1998 ถึงปี 2010 ส่วนเจนเนอเรชั่นที่ 3 ในปี 2011 เจนเนอเรชั่นสุดท้ายก่อนยุติการผลิต Beetle ยังถูกขายไปมากกว่า 500,000 คันในสหรัฐอเมริกา แต่นั่นไม่ได้ทำให้เจ้าโฟล์คเต่าได้ไปต่อ
บทสุดท้ายการจากลา 85 ปี แห่งตำนานรถเพื่อประชาชน
และมาถึงข่าวเศร้าแบบปิดตำนานรถโฟล์คเต่า เมื่อปลายปี 2018 โฟล์คสวาเกนในสหรัฐอเมริกาได้ผลิต Beetle Final Edition รุ่นพิเศษ พร้อมทั้งประกาศว่าจะยุติการผลิตเจ้ารถทรงโฟล์คเต่าสุดน่ารักแบบนี้ในช่วงกลางปี 2019 เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่ของยานยนต์อเมริกาที่จะเน้นไปที่รถแบบครอบครัวและรถที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีการยุติการผลิต Beetle อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ Beetle เจเนอเรชั่นที่ 3 คันสุดท้ายรุ่นคูเป้สีฟ้า Denim Blue ออกมาจากสายการผลิตที่โรงงาน Puepla ในเม็กซิโก
ส่วนใครที่อยากเป็นเจ้าของต้องบอกว่าหมดสิทธิ์ เพราะรถได้ถูกส่งไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ของ Volkswagen ใน Puebla เม็กซิโก และนอกจากนี้ โฟล์คสวาเกนยังผลิต Beetle สี Kings Red ออกมาอีก 2 คัน ซึ่งเป็นรถ 2 คันสุดท้ายจากสายการผลิตสำหรับสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการปรับแต่งเป็นพิเศษทั้งในส่วนของแผงแดชบอร์ด เบาะผ้า และส่วนอื่นๆ ที่สำคัญของรถเพื่อนำไปเก็บในคอลเลกชั่นรถประวัติศาสตร์ของ Volkswagen of America อีกด้วย
จากจุดเริ่มต้น..รถโฟล์คเต่าได้ก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดทั้งในด้านการยอมรับและยอดขายยอดผลิต แต่แล้ววันนี้กลับต้องปิดตำนานของตัวเองลง คำถามคือเพราะอะไร? เหตุผลที่แท้จริงยังไม่อาจรู้ได้ แต่หลังจากที่โฟล์คสวาเกน Beetle เปลี่ยนไปจากเดิม ราคาค่าตัวที่สูงลิบลิ่วแบบจับต้องได้ยากขึ้น มีราคาที่ใกล้เคียงกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่น C-Class เอกลักษณ์การออกแบบเฉพาะตัวที่ถูกเปลี่ยนไปเกือบทั้งหมด เหลือเพียงรูปลักษณ์ภายนอกบางส่วนเท่านั้นที่ให้ความรู้สึกเป็นเจ้าเต่ารุ่นเดิม เครื่องยนต์สูบนอนที่ถูกเปลี่ยนไป การวางเครื่องยนต์จากวางหลังมาไว้ด้านหน้าทำให้อารมณ์การขับนั้นเปลี่ยนไปจนสูญสิ้นตัวตน แถมยังได้รับข่าวด้านลบเกี่ยวกับตัวเลขค่าไอเสียที่เป็นข่าวดังในช่วงปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงในทันที และที่สำคัญ มันไม่ได้เป็นรถที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อประชาชนอีกต่อไป
ทำให้วันนี้ชื่อของ Volkswagen Beetle กลายเป็นตำนานที่น่าจดจำ และเรียนรู้ว่าไม่มีอะไรที่ยั่งยืนในโลกแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ก้าวสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับรถยนต์อีกหลายรุ่นที่เคยโด่งดังในอดีตที่วันนี้อาจมองหาและจับต้องได้ยาก แต่ชื่อเสียงยังคงเป็นอมตะตลอดกาล ลาก่อนเจ้าโฟล์คเต่า “Volkswagen Beetle รถยนต์เพื่อประชาชน” อย่างแท้จริง.
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
ภาพ : netcarshow
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th[/expander_maker]